‘ศิษย์เก่าคณะเกษตรฯ มน.’ พัฒนาพันธุ์ข้าวสีชมพูสำเร็จ หนึ่งเดียวที่พิษณุโลก เล็งพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว

‘ศิษย์เก่าคณะเกษตรฯ มน.’ พัฒนาพันธุ์ข้าวสีชมพูสำเร็จ หนึ่งเดียวที่พิษณุโลก เล็งพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว

หนุ่มศิษย์เก่าคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ลาออกจากงาน หันมาทำแปลงเกษตรข้าวไรท์เบอรี่ ใช้เวลา 3 ปี คัดแยกพันธุ์ข้าว จนสามารถปลูกนาข้าวสีชมพูสำเร็จ (พริ้งเลดี้) นับเป็นหนึ่งเดียวที่ จ.พิษณุโลก อนาคตอาจพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว

เมื่อวันที่ 7 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าโซเชียลแห่แชร์ภาพนาข้าวสีชมพูเต็มทุ่ง จึงได้ตรวจสอบพบว่านาข้าวสีชมพู อยู่ที่แปลงนา บ้านในไร่ เลขที่ 106/8 ม.11 ต.ท่าโพธิ์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก ของ นายจตุรงค์ ชมภูษา อายุ 31 ปี ศิษย์เก่าคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) ที่ได้ผันตัวเองจากพนักงานบริษัท มาเป็นเกษตรกรนาไร่แบบเต็มตัวเนื่องจากต้องการที่จะอยู่อาศัยใกล้ชิดกับครอบครัวมาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว

นายจตุรงค์ กล่าวว่า เริ่มเเรก เมื่อปี 2556 ตนเองได้นำเอาเมล็ดพันธุ์ข้าวมาจากสุพรรณบุรี เป็นพันธุ์ข้าวไรท์เบอรี่ เพื่อนำมาปลูกเป็นอาชีพ ซึ่งในช่วงของการปลูกนั้น ตนได้เห็นว่านาข้าวไรท์เบอรี่ของตน มีใบข้าวที่มีสีชมพู ตนจึงได้นำต้นข้าวสีชมพูคัดแยกออกมา จากนั้นก็ทดลองปลูกเรื่อยมา ถึง 4 ครั้ง จนสามารถได้เมล็ดและนำมาปลูกในพื้นที่ได้ถึง 4 ตารางเมตร และมีการตั้งชื่อสายพันธุ์ของข้าวชนิดนี้ว่า ข้าว Pink Lady

Advertisement

นายจตุรงค์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ในการปลูกที่ผ่านมาเกิดแมลงกัดกินข้าวอย่างหนัก ทำให้เมล็ดพันธุ์ที่ได้มีน้อย จึงไม่สามารถเพาะสายพันธุ์ได้มากเท่าที่ควร อีกทั้งข้าวที่ปลูกนี้ไม่ได้มีการใช้ยาฆ่าแมลงแต่อย่างใด เพราะตนต้องการที่จะปลูกข้าวที่เป็นข้าวปลอดสารพิษ แปลงเกษตรอินทรีย์ แต่จะใช้วิธีการดูแลรักษาแบบใช้น้ำหมักชีวภาพ ในการควบคุมคุณภาพของนาข้าวและประสิทธิภาพของผลผลิตที่จะได้คุณภาพที่มากยิ่งขึ้น ส่วนในเรื่องของคุณภาพข้าวที่ผ่านมา ยังไม่ได้ทดสอบเพราะเมื่อปลูกเสร็จก็จะเก็บเกี่ยวพันธุ์เมล็ดข้าวเพื่อมาคัดแยกและทดลองปลูกจนเวลานี้สามารถปลูกได้ขนาด 4 ตารางเมตร อย่างที่เห็น แต่การที่จะได้ข้าวสีชมพูต้องอยู่กับช่วงเวลาที่ปลูกด้วย ข้าวพันธุ์นี้จะต้องปลูกในช่วงหน้าหนาวเท่านั้น โดยใช้เวลาปลูก 120 วัน จึงจะเก็บเกี่ยวข้าวได้

“นอกจากนี้ยังได้ปลูกข้าวไรท์เบอรี่สีดำควบคู่จำหน่าย สำหรับผลผลิตที่ได้เมล็ดข้าวนั้น จะเป็นเมล็ดที่มีขนาดสั้น อ้วนและป้อม คล้ายกับข้าวญี่ปุ่น แต่มีขนาดที่ป้อมกว่าข้าวญี่ปุ่น ซึ่งข้าว 1 กิโลกรัม ราคาจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 80 บาท และจะสามารถหุงได้ถึง 4 หม้อทีเดียว”นายจตุรงค์กล่าวว่า

นายจตุรงค์ กล่าวอีกว่า ทางเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยข้าว ได้มาตรวจคุณภาพของเมล็ดข้าวของตน และพบว่าเมล็ดข้าวมีการกลายพันธุ์เป็นสีชมพู จึงได้ถ่ายรูปแล้วนำไปลงทางโซเซียลปรากฎได้รับความสนใจจากชาวบ้านและประชาชนเดินทางมาดูนาข้าวตลอดทั้งวัน ในอนาคตอาจส่งเสริมให้เป็นจุดท่องเที่ยวของ จ.พิษณุโลก โดยผู้ใดที่สนใจสามารถเข้ามาชมได้ที่บ้านในไร่ 106/8 ม. 11 ต. ท่าโพธิ์ อ. เมือง จ. พิษณุโลก หรือสามารถติดต่อได้ที่ 096-667-254-5

Advertisement

หนุ่มเกษตร ม.นเรศวร หนึ่งเดียวที่พิษณุโลก พัฒนาพันธุ์สีชมพูสำเร็จ

นาข้าวสีชมพูอยู่ที่บ้านในไร่ เลขที่ 106/8 ม.11 ต.ท่าโพธิ์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก ของนายจตุรงค์ ชมภูษา อายุ 31 ปี ศิษย์เก่า ม.นเรศวร ที่ผันตัวเองจากพนักงานบริษัทมาเป็นเกษตรกรนาไร่แบบเต็มตัว หันมาทำแปลงเกษตรข้าวไรท์เบอรี่ ใช้เวลา 3 ปี คัดแยกพันธุ์ข้าว จนสามารถปลูกนาข้าวสีชมพูสำเร็จ (พิงค์เลดี้) นับเป็นหนึ่งเดียวที่ จ.พิษณุโลก อนาคตอาจพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว

โพสต์โดย Matichon Online – มติชนออนไลน์ เมื่อ วันอังคารที่ 7 มกราคม 2020

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image