สสว.มั่นใจสถานการณ์นอก-ในประเทศ ไม่กระทบนโยบายผลักดันเอสเอ็มอี

‘สสว.’คาดจีดีพีเอสเอ็มอี ปี’63 โตแตะ 3.5% ชี้สถานการณ์นอก-ในประเทศ ไม่กระทบนโยบายผลักดันเอสเอ็มอี

นางสาววิมลกานต์ โกสุมาศ รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า จากการประเมินสถานการณ์ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ปี 2562 พบว่า จากจำนวนตัวเลขผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ประมาณ 3.08 ล้านราย ก่อให้เกิดการจ้างงาน ประมาณ 13 ล้านคน คิดเป็น 85.5% ของการจ้างงานรวมทั้งประเทศ ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของเอสเอ็มอี ปี 2562 เมื่อเปรียบเทียบช่วงเดียวกันของปี 2561 พบว่า การส่งออกของเอสเอ็มอี มีมูลค่า 1.99 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาคิดเป็น 2.1% สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อัญมณี เครื่องประดับ พลาสติก เครื่องจักร คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ โดยประเทศคู่ค้าหลักของไทย ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) โดยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมเอสเอ็มอี (จีดีพี เอสเอ็มอี) มี 2562 มีมูลค่าประมาณ 7.41 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา หรือคิดเป็น 3.5-4%

ทั้งนี้ สำหรับแนวโน้มปี 2563 คาดว่าจีดีพีของประเทศ จะมีการขยายตัวอยู่ที่ 2.7-3.2% ขณะที่การขยายตัวของ จีดีพี เอสเอ็มอี ในปีนี้ จะขยายตัวอยู่ที่ 3.0-3.5% ปัจจัยสำคัญมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โครงการลงทุนสาธารณูปโภคขนาดใหญ่จากภาครัฐ ภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงเติบโต และขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการเข้ามาของนักท่องเที่ยวกลุ่มประเทศอื่นๆ ที่ทดแทนนักท่องเที่ยวจากจีน อาทิ อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี และการเติบโตของกลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ต้องมีการปรับตัวในปีนี้ ได้แก่ ธุรกิจไม้แปรรูป ร้านขายของชำ (แบบดั้งเดิม) และธุรกิจร้านถ่ายรูป

“จากการประเมินสถานการณ์ของ สสว. แม้ว่าในปี 2563 ยังมีปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก สงครามการค้าหากยังมีความยืดเยื้อ การแข็งค่าของเงินบาท สัดส่วนหนี้สินภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง การขอสินเชื่อของเอสเอ็มอี จากสถาบันการเงินยังคงทำได้ยาก รวมถึงกระแสของเศรษฐกิจดิจิทัลที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงหรือแย่งส่วนแบ่งของธุรกิจในรูปแบบดั้งเดิม ส่วนเรื่องความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯ เป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวัง คาดว่าน่าจะส่งผลต่อผู้ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับบ้างเล็กน้อย แต่ยังยืนยันที่จะบุกตลาดตะวันออกกลาง เพื่อเป็นการเปิดตลาดใหม่ๆ ให้กับผู้ประกอบการฯ รวมถึงจะเดินหน้าผลักดันผู้ประกอบการกลุ่มนี้ตามนโยบายของภาครัฐได้ไม่มีสะดุด” นางสาววิมลกานต์กล่าว

Advertisement

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบวก อาทิ การปรับตัวของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงการทำงานแบบบูรณาการกับภาครัฐ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ปรับตัวผ่านแนวทางสำคัญที่จะเป็นการสร้างโอกาสให้เอสเอ็มอีไทยเติบโตและอยู่รอดได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image