ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนธ.ค. 62 ดิ่งสุดรอบ 68 เดือน หลังเจอสารพัดปัจจัยรุม

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนธันวาคม 2562 ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 อยู่ที่ระดับ68.3 ลดจากระดับ 69.1 ในเดือนพฤศจิกายน 2562 โดยพบว่าดัชนีลดต่ำสุดในรอบ 68 เดือน นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับสถานการณ์ในอนาคตปรับตัวลดลงต่อเนื่องเช่นกัน โดยมีสาเหตุมาจากขณะนี้ ยังไม่เห็นบรรยากาศที่สดในในอนาคต เนื่องจากยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า เงินของภาครัฐยังไม่เคลื่อนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ค่าเงินบาทแข็งค่า และเป็นจุดที่ทำให้การส่งออกลำบาก เมื่อแลกกลับมาเป็นเงินบาทแล้วมีรายได้ต่ำลง รวมถึงแม้นักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย แต่รายได้จากภาคการท่องเที่ยวลดลง เพราะค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง ทั้งยังมีความกังวลหลักในเรื่องของงบประมาณประจำปี 2563 ที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะสามารถออกมาได้หรือไม่ รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ และการเกิดแฟลชม็อป ปัจจัยทั้งหมดจึงทำให้ยังไม่มีบรรยากาศที่ดีในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563

สิ่งที่สำคัญมากๆ คือ ภาวะเศรษฐกิจและการจ้างงาน อยู่ในเกณฑ์สุ่มเสี่ยงและแย่ที่สุดในรอบ 20 ปี ในแง่ของความรู้สึก แต่ในแง่ของข้อเท็จจริง การเติบโตของปี 2562 อยู่ที่ 2.5-2.6% ถือว่าไม่ได้แย่สุดในรอบ 20 ปี แต่เป็นจุดต่ำสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา เพราะหากนับในปี 2558-2561 เศรษฐกิจไทยเติบโตเกิน 3% ในส่วนของอัตราการจ้างงานก็ยังคงมีเพราะอัตราการว่างงานปิดสิ้นปีอยู่ที่ 1.1% ทำให้ความกังวลว่าปี 2563 จะเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจ เป็นบรรยากาศที่กระทบมาจากการมองภาพรวมในอนาคตไม่สดใส แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เปิดเดือนมกราคม 2563 มาด้วยค่าเงินบาทแข็งค่าหลุดระดับ 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แม้จะมีภาพออกมาว่าเงินบาทไม่ใช่แหล่งลงทุนที่มีความปลอดภัยสูงอีกต่อไปยังไม่มีสัญญาณของการแข็งค่าขึ้น และมีแนวโน้มอ่อนค่าลง ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ได้ส่งสัญญาณในลักษณะนี้ ภายในกรอบข้อพิพาทระหว่างสหรัฐและอิหร่าน ที่ดูยังนิ่งอยู่ในขณะนี้ และตลาดเริ่มคลายตัวมากขึ้น เพราะเชื่อว่าจะไม่มีสงครามใหญ่เกิดขึ้น แต่ความเสี่ยงยังคงอยู่ต่อไปสักระยะ โดยต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะล่าสุดเครื่องบินของสหรัฐตก มีกระแสข่าวว่ามาจากขีปนาวุธของอิหร่าน ทำให้หากสหรัฐมีมาตรการตอบโต้อีก จะเป็นประเด็นเชิงลบใหม่ และสร้างผลกระทบต่อบรรยากาศในภาพรวมนายธนวรรธน์กล่าว

นายธนวรรธน์กล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากข้อพิพาทสหรัฐและอิหร่าน จะทำให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ จากเดิมเฉลี่ยอยู่ที่ 65 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 75-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยยังมีการวิเคราะห์กันว่า หากสถานการณ์รุนแรงขึ้นมากๆ จะทำให้ราคาน้ำมันปรับขึ้นแตะ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งการที่น้ำมันปรับขึ้นทุก 1 บาท ทั้งเบนซินและดีเซล ที่มีปริมาณการใช้จำนวนวันละ 70 ล้านลิตร  จะทำให้ประชาชนต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น2,100 ล้านบาทต่อเดือน จึงเห็นภาพการตรึงราคาน้ำมันและพลังงานของกระทรวงพลังงาน และจำกัดวงเงินของเพดานน้ำมันไม่ให้ทะลุและบานปลาย เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจ อีกทั้งการใช้จ่ายภาครัฐ คาดว่าในเดือนมิถุนายน 2563 จะเริ่มมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษกิจ ส่วนการประมูลโครงข่าย 5จี ที่เกิดการใช้จ่ายในการลงทุนจะเป็นอีกปัจจัยบวกในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 จึงคาดว่าเม็ดเงินส่วนใหญ่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และเห็นผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในช่วงครึ่งหลังปีนี้

นายธนวรรธน์กล่าวว่า สำหรับภัยแล้งที่รุนแรงมากที่สุดในรอบ 50 ปี ประเมินว่าจะมีผลกระทบในช่วงที่ยังไม่มีฝนตกโดยจะต้องประเมินว่ารัฐบาลจะมีการขุดบ่อ หรือทำฝนเทียมได้มากน้อยเท่าใด ซึ่งหากไม่มีความสามารถในการดำเนินการได้อย่างเต็มที่ จะส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกข้าวนาปัง ที่ใช้น้ำในปริมาณมาก โดยต้องยอมรับว่า การปลูกข้าวนาปังทั้งหมดในประเทศ มีประมาณ 30 ล้านตันข้าวสาร ส่งออกข้าวสารประมาณ 20 ข้าวตันต่อปี ส่วนคนไทยบริโภคเพียง 10 ล้านตันต่อปี ทำให้ภัยเเล้งไม่มีผลกับการบริโภคในประเทศ แต่จะมีผลกับการส่งออกที่หายไป และผลกระทบกับรายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่หายไป แต่มองว่ารัฐบาลคงมีมาตรการชดเชยที่เหมาะสมออกมา แต่จุดสำคัญคือ ในเดือนพฤษภาคม 2563 มึพื้นที่ 3 ล้านไร่ที่อาจปลูกข้าวไม่ได้ ซึ่งเบื้องต้นจะได้ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 500 กิโลกรัม ทำให้มีข้าวนาปรังหายไป 1.5 ล้านตัน หากราคาตันละ 7,000 บาท รายได้เกษตรจะหายไปถึง 7,000 – 10,000 ล้านบาท โดยภาคเกษตรคิดเป็นสัดส่วน 8.0% ในภาพรวมของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ทำให้ภัยแล้งที่กระทบกับการปลูกข้าวนาปัง ไม่น่าจะส่งผลรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจไทย และเชื่อว่าปริมาณน้ำยังมีเพียงพอในการบริโภค การดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรม รวมถึงภาคการบริการต่างๆ จึงมองว่าหากในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 มีฝนตกตามฤดูกาลคาดว่าสถานการณ์จะคลายตัวลง และไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวม โดยมองว่าเศรษฐกิจจะสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เบื้องต้นประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้น ประมาณ 10,000 ล้านบาท กระทบต่อจีดีพีรวมเพียง0.03%

Advertisement

นายธนวรรธน์กล่าวว่า นอกจากนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2563 หอการค้าฯเตรียมที่จะปรับลดการเติบโตลงจากเดิมที่คาดว่า จะโตได้ 3.1 ทั้ง โดยจะแถลงในวันจันทร์ที่ 13 มกราคมนี้ ส่วนภาคส่งออกก็จะปรับลดลงเช่นกัน จากเดิมที่ประเมินว่า การส่งออกในปีนี้จะโต 1.8% โดยมองว่าสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการในช่วงต่อจากนี้คือ เร่งการใช้จ่ายเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้ออกมาในช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปีนี้ รวมถึงดูแลและแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่กำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ รักษาการเมืองให้มีเสถียรภาพมากที่สุด ประกอบกับต้องหาแนวทางรักษาระดับค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าหลุด 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐให้ได้ โดยหากค่าเงินบาทหลุดระดับ 29 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ต้องดูว่าหลุดเพราะปัจจัยอะไร ซึ่งหากสาเหตุมาจากการเข้าเกร็งกำไรค่าเงิน และหลุดระดับเร็วในช่วง 3 เดือนจากนี้ จะสร้างความน่ากังวลให้กับเศรษฐกิจไทย แตแต่หากค่าเงินบาทเคลื่อนไหวระหว่าง 29.5-30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เชื่อว่าภาคเอกชนจะประคองและรับมือกับสถานการณ์ได้ โดยเอกชนมองว่าค่าเงินบาทอยู่ที่ 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เป็นระดับที่เหมาะสม แต่หากอยู่ที่ 32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ส่งออกมากขึ้น แต่ภายใต้ราคาน้ำมันสูงขึ้น ค่าเงินจะอ่อนค่ามากไม่ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image