สรรพสามิตลุ้นรถอีวีเกิดในไทย เร่งตั้งกองทุนแบตเตอรี่เก็บเงินลูกละ 1 หมื่นบาท ป้องกันขยะพิษ

 

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า มั่นใจว่าจะมีค่ายรถยนต์ใหญ่อย่างน้อย 1-2 ค่าย เริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้า(อีวี)  เพื่อให้ได้รับสิทธิ์ประโยชน์ภาษีสรรพสามิตลดภาษีให้ 0% จากปกติรถยนต์อีวีเสียภาษีสรรพสามิต 2% สำหรับรถอีวีที่ผลิตออกมาขายในไทยตั้งแต่ปี 2563 ถึงปี 2565 ดังนั้นหากค่ายรถยนต์ใดอยากได้ภาษี 0% ต้องผลิตรถยนต์คันแรกออกมาให้ได้ในปี 2563

“ช่วงนี้ยังเป็นความลับทางธุรกิจว่าค่ายไหนจะเปิดตัว แต่ยืนยันว่ามีแน่นอน เพราะสายพานการผลิตต้องเริ่มลงทุนตั้งแต่ปี 2561  ในส่วนของสิทธิประโยชน์ของกรมสรรพสามิตปล่อยไปหมดแล้ว  และให้อย่างเต็มที่แล้ว ดังนั้นคงต้องขึ้นอยู่กับค่ายรถยนต์ว่าจะตอบรับมากน้อยแค่ไหน โดยการกำหนดถึงปี 2565 เพื่อเป็นไปตามกรอบการส่งเสริมลงทุนของบีโอไอ ที่กำหนดรอบระยะเวลาส่งเสริมถึงปี 2565”นายพชร กล่าวและว่า กรณีมองว่ามีค่ายรถยนต์มาผลิตอีวีน้อยหรือไม่ คงต้องมาดูในเชิงระบบด้วยเพราะขณะนี้จุดเติมพลังงานมีน้อยมาก แม้รัฐพยายามให้เกิดแต่มีไม่เท่าไหร่ ดังนั้นเป็นหน้าที่กระทรวงอื่นต้องช่วยกันเร่งรัดให้

นายพชรกล่าวว่า ส่วนโรงงานแบตเตอรี่ ขณะนี้ยังไม่มีการผลิตในไทย แต่นำเข้ามาเป็นลูกเพื่อใช้ในกระบวนการผลิต รัฐเองพยายามให้เกิดโรงงานแบตเตอรี่ในไทย เพื่อลดต้นทุนลง เนื่องจากแบตเตอรี่คิดเป็นต้นทุนถึง 70-80% ของมูลค่ารถ ซึ่งเข้าใจว่าแบตเตอรี่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต ดังนั้นไม่แน่ใจว่าจะทำให้เกิดการสร้างโรงงานในไทยหรือไม่

Advertisement

นายพชร กล่าวว่า ทั้งนี้ให้สอดคล้องกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในปี 2563 กรมเร่งผลักดันให้จัดตั้งกองทุนแบตเตอรี่รถอีวี เพื่อสนับสนุนให้มีการกำจัดแบตเตอรี่อย่างถูกวิธี โดยไม่อยากให้การสนับสนุนอีวี ทำให้เกิดซากขยะอิเล็กทรอนิกส์ในไทย เพราะพบว่ามีการนำเข้ารถอีวีจากในประเทศ อาเซียนและจีน เข้ามาในไทยมากขึ้น ดังนั้นเพื่อให้มั่นใจว่ารถยนต์ดังกล่าวจะมีการกำจัดซากแบตเตอรี่ตามหลักสากล กรมจึงจำเป็นต้องออกกฎหมายมาดูแล โดยหากเป็นรถยนต์ที่นำเข้า ซึ่งไม่อยู่ภายในกรอบของบีโอไอ อาจต้องเสียเงินเข้ากองทุนกำจัดซากแบตเตอรี่ลูกละ 1 หมื่นบาท แต่หากอยู่นอกกรอบบีโอไอที่มีเงื่อนไขในการบริหารจัดการแบตเตอรี่จะเสียเงินลูกละ 1 พันบาท หากมีการกำจัดซากที่ถูกต้องมีหลักฐานชัดเจนสามารถขอคืนเงินดังกล่าวได้

“กรมเตรียมเสนอเรื่องกองทุนกำจัดซากแบตเตอรี่ไปยังฝ่ายนโยบาย ซึ่งการเก็บเงินจากแบตเตอรี่อีวีนั้นไม่ใช่ไม่ต้องการส่งเสริม แต่เพื่อสร้างความมั่นใจในการกำจัดซาก จะได้ไม่เป็นขยะพิษในไทย เพราะเท่าที่ทราบการกำจัดซากแบตเตอรี่รถอีวีนั้นไม่ง่าย ต้องส่งไปกำจัดที่ประเทศเบลเยียม  และโรงงานกำจัดซากในโลกมีแค่ประเทศเดียวคือเบลเยียมดังนั้นกองทุนดังกล่าวจะช่วยทำให้เกิดระบบติดตามการกำจัดซากรถอีวี ว่าส่งไปกำจัดอย่างถูกวิธีหรือไม่ ”นายพชร กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image