กรมชลประทานเปิดตัวเลขน้ำในอ่าง พบอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างน้อย ใช้อุปโภค-บริโภคเป็นหลัก

เมื่อวันที่ 13 มกราคม ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ครั้งที่ 2/2563 ซึ่งมีผู้แทนจากกรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เข้าร่วมประชุมฯ พร้อมทั้งถ่ายทอดสดผ่านระบบ VDO Conference ไปยังสำนักงานชลประทาน และเครือข่าย SWOC ทั่วประเทศ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำจากพื้นที่ต่างๆ พร้อมดำเนินการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/63 ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ อาคาร 99 ปีหม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน สามเสน

สภาพอากาศของประเทศไทย ในช่วงวันที่ 12 – 18 ม.ค. 63 ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส ภาคกลางและภาคตะวันออกมีอากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย โดยมีฝนบางแห่งทางตอนล่างของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในตอนกลางวันมีแสงแดดจัด ภาคใต้ยังคงมีฝนน้อย

สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน(13 ม.ค. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 46,070 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 61 ของความจุเก็บกักรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 22,253 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 43 ของปริมาณน้ำใช้การได้ เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ปัจจุบัน มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,806 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 43 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 4,110 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งยังคงการระบายน้ำรวมกันวันละ 18 ล้าน ลบ.ม. สถานการณ์น้ำในอ่างฯ อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างน้อย จึงต้องบริหารจัดการน้ำตามความเหมาะสม ซึ่งจะใช้น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศน์เป็นหลัก

ส่วนสถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในการดูแลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต มีปริมาณน้ำเก็บกักรวมทั้งประเทศประมาณ 38,000 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ มีน้ำใช้การได้ 3,527 ล้าน ลบ.ม. หลังจากที่ได้ระบายน้ำเกินแผนเพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนและผลักดันค่าความเค็ม ปัจจุบันได้ปรับแผนการระบายน้ำให้เป็นไปตามแผนแล้ว เขื่อนภูมิพล ระบายน้ำแล้วทั้งสิ้น 653 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำวันละ 7 ล้าน ลบ.ม.(แผนการระบายน้ำสิ้นสุด 30 เม.ย. 63 จำนวน 1,300 ล้าน ลบ.ม.) เขื่อนสิริกิติ์ ระบายน้ำแล้วทั้งสิ้น 765 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำวันละ 9 ล้าน ลบ.ม.(แผนการระบายน้ำสิ้นสุด 30 เม.ย. 63 จำนวน 1,700 ล้าน ลบ.ม.) รวมทั้ง 2 แห่ง ระบายน้ำแล้วทั้งสิ้น 1,418 ล้าน ลบ.ม.(เกินแผน 268 ล้าน ลบ.ม.)

Advertisement

ด้านแผนจัดสรรน้ำและเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง 2563 ทั้งประเทศ ซึ่งมีความต้องการใช้น้ำรวม 17,699 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบัน (13 ม.ค. 63) ได้จัดสรรน้ำตามความต้องการไปแล้ว 6,464 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 36 เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีความต้องการใช้น้ำตลอดฤดูแล้ง รวม 4,000 ล้าน ลบ.ม. ได้จัดสรรน้ำตามความต้องการไปแล้ว 1,995 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 50

กรมชลประทาน ยังคงดำเนินการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง อาทิ การดำเนินการบริหารจัดการน้ำเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ โดยสูบน้ำย้อนกลับมาเติมหน้าเขื่อนวังยาง อ.เมือง จ.มหาสารคาม โครงการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำปะเทีย เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ขาดแคลนน้ำผลิตประปาสำหรับการอุปโภค-บริโภค ในเขตเทศบาลตำบบลประโคนชัย อ.ประโคนชัน จ.บุรีรัมย์ ซึ่งมีความต้องการน้ำ 0.7 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันปริมาณน้ำถึงปลายทางแล้ว 0.4 ล้าน ลบ.ม.ส่วนที่เหลือยังคงอยู่ในลำห้วย และทยอยไปยังโรงผลิตน้ำประปาต่อไป นอกจากนี้ ยังมีการให้ความช่วยเหลือในจังหวัดสุรินทร์ นครราชสีมา และจังหวัดอื่นๆ อีกด้วย ซึ่งกรมชลประทานได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังประจำจุดเสี่ยงภัย พร้อมจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้มีน้ำใช้อุปโภค-บริโภคตลอดฤดูแล้งนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image