‘ถาวร’ เร่งเพิ่มรายได้ให้สนามบินภูมิภาค ผ่านธุรกิจเชิงพาณิชย์

นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการมอบนโยบายกรมท่าอากาศยาน(ทย.) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบท่าอากาศยานภูมิภาค 29 แห่งว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้ทย.ศึกษาแนวทางการเพิ่มรายได้ให้ท่าอากาศยานในสังกัดทั้ง 29 แห่ง โดยมุ่งเน้นการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร และพื้นที่ว่างเปล่าภายในท่าอากาศยาน เพื่อเพิ่มรายได้เชิงพาณิชย์ของทย. จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี จากเดิมทย.มีรายได้จากสัดส่วนเชิงพาณิชย์เพียง 15%  และมีรายได้จากธุรกิจการบิน 85% เท่านั้น ซึ่งการให้นโยบายดังกล่าวเพื่อให้สนามบินแต่ละแห่งมีรายได้สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ซึ่งรูปแบบการลงทุนไก้ให้ทย.ไปพิจารณาในรายละเอียดเองว่า จะเป็นการลงทุนแบบใดจึงจะมีความเหมาะสม เพราะปัจจุบันมีสนามบินในสังกัด กว่า 10 แห่ง จาก 29 สนามบินที่มีรายได้ติดลบ โดยได้ให้ทย.ไปศึกษาความเหมาะสมในการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ รูปแบบการลงทุน และธุรกิจที่เหมาะสมกับสนามบินแต่ละแห่ง ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 6 เดือน และเบื้องต้นคาดว่าท่าอากาศยานที่มีความเป็นได้สูงในการพัฒนา ได้แก่ ท่าอากาศยานกระบี่ ท่าอากาศยานอุบลราชธานี และท่าอากาศยานอุดรธานี ส่วนธุรกิจที่เป็นไปได้และต่อเนื่องกับธุรกิจการบินคือ โรงแรม โคเวิร์คกิ้ง สเปซ และการจัดประชุมต่างๆ

มอบหมายให้ทย.ไปยกระดับการบริหารจัดการสนามบินที่รับผิดชอบทั้ง 29 แห่ง เป็นสนามบินสมาร์ทแอร์พอร์ต ที่นำระบบไอทีเข้ามาบริหารจัดการทั้งระบบเช็คอิน ระบบการออกตั๋ว ระบบตรวจหนังสือเดินทางแบบอัตโนมัติ โดยการดำเนินการต่างๆ จะต้องอยู่ภายใต้ระบบนโยบายเชื่อมไทยเชื่อมโลก ขณะเดียวกันได้ให้ทย.เร่งสร้างรั้วกั้นสนามบินภูมิภาคทุกแห่งให้เป็นไปตามมาตรฐานของ องค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ไอเคโอ  และ ไออาร์ต้า รวมถึงได้สั่งให้ทย.ไปประสานกับการท่องเที่ยว หน่วยงานท้องถิ่น สายการบิน และหน่วยงานที่เกี่ยวต้อง เพื่อสร้างกิจกรรมและดึงดูดให้ผู้โดยสารมาใช้งานสนามบินมากขึ้น ช่วยเพิ่มรายได้ให้ท่าอากาศยาน 10 กว่าแห่ง ที่มีผลประกอบการติดลบ รวมถึงต้องลดต้นทุนและส่งเสริมให้สนามบินเป็นศูนย์กระจายสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรตามฤดูกาลนายถาวรกล่าว

นายถาวรกล่าวว่า ได้มีการวางแผนที่จะการพัฒนาท่าอากาศยานใหม่เพิ่มเติม โดยได้มอบนโยบายให้ทย. เร่งหาข้อสรุปในโครงการพัฒนาท่าอากาศยานนครปฐมและท่าอากาศยานพัทลุง ว่า ต้องการจะเดินหน้าผลักดันโครงการต่อหรือไม่ ซึ่งหากตัดสินใจได้แล้ว ก็ต้องตอบคำถามสังคมต่อไป ด้านท่าอากาศยานเบตงที่กำลังจะเปิดให้บริการ ก็ยืนยันว่าจะเปิดให้บริการได้ในเดือนมิถุนายนนี้อย่างแน่นอน แต่ล่าสุดยังไม่ได้สรุปสายการบินใดที่จะเปิดให้บริการบ้าง เพราะสายการบินนกแอร์และสายการบินบางกอกแอร์เวย์สที่แสดงความสนใจนั้น อยู่ระหว่างจัดทำแผนธุรกิจและจะให้คำตอบได้ในเร็วๆ นี้ สำหรับกรณีที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. สนใจจะเข้ามาบริหารท่าอากาศยานในสังกัดทย. จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานตาก ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานอุดรธานีนั้น ขณะนี้ยังไม่มีการหารือและมอบนโยบายเรื่องดังกล่าว แต่หากทอท.สนใจจะเข้ามาบริหารจริง ก็ต้องทำตามขั้นตอนการประมูลแบบรัฐเอกชนร่วมลงทุน (พีพีพี) เหมือนเอกชนรายอื่นๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image