เช็กความเสี่ยง ‘มะเร็ง’ กรรมพันธุ์ มรดกที่ไม่มีใครอยากได้

ภาพประกอบ

เช็กความเสี่ยง ‘มะเร็ง’ กรรมพันธุ์ มรดกที่ไม่มีใครอยากได้

แม้จะอยู่ในยุคที่คนใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ในยุคที่เทคโนโลยีทางการแพทย์ล้ำสมัยขึ้น แต่สถิติผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งก็จะเป็นอันดับที่ 1 ของสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย

เมื่อดูปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค มีหลายทางด้วยกัน ร้อยละ 95 เป็นโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นเอง หรือถูกกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมภายนอก หรืออธิบายง่ายๆ คือ เกิดจากพฤติกรรม ส่วนอีกร้อยละ 5 เป็นโรคที่เกิดจากกรรมพันธุ์ ซึ่งหลายคนเชื่อว่าเป็นกรรมติดมาตั้งแต่กำเนิด ไม่สามารถแก้ไขได้ แต่ในทางการแพทย์จริงๆ สามารถแก้ไขได้

ผศ.ดร.นพ.โอบจุฬ ตราชู แพทย์อายุรศาสตร์และพันธุศาสตร์การแพทย์ โรงพยาบาลพญาไท 2 กล่าวว่า โรคมะเร็งทางพันธุกรรม เกิดจากการถ่ายทอดยีนที่มีการกลายพันธุ์ จากรุ่นพ่อแม่ไปยังรุ่นลูก ซึ่งความผิดปกติของยีนนี้ สามารถส่งต่อไปยังทายาทรุ่นต่อไปได้อย่างไม่สิ้นสุด ผู้ที่ได้รับยีนผิดปกติที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมเหล่านี้ มีแนวโน้มจะเกิดโรคมะเร็งเช่นเดียวกับคนในครอบครัวได้ ตั้งแต่ร้อยละ 14-99 ซึ่งทางการแพทย์ถือว่าอยู่ในเกณฑ์สูง นอกจากนี้ ยังส่งผลให้สามารถเกิดโรคมะเร็งได้ตั้งแต่อายุน้อย โดยปกติความเสี่ยงโรคมะเร็งจะเริ่มเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป แต่มะเร็งทางพันธุกรรมมีความเสี่ยงเกิดโรค ในช่วงอายุ 40 ปี หรือน้อยกว่า

“หากมีญาติในสายใกล้ชิด เช่น ยาย แม่ พี่น้องของแม่ หรือพี่น้องของเราเอง มีประวัติป่วยเป็นโรคมะเร็ง ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป หรือมีญาติเป็นมะเร็งตั้งแต่อายุไม่ถึง 50 ปี แม้เพียงคนเดียว ให้สงสัยว่าเราอาจมียีนมะเร็งทางพันธุกรรม ควรมาปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาความเสี่ยง”

Advertisement

ในการตรวจ แพทย์จะซักประวัติเพื่อคำนวณหาความเสี่ยง หากประวัติครอบครัวเคยมีคนเป็นโรคมะเร็ง แพทย์จะทำการตรวจเลือดหายีนมะเร็งทางพันธุกรรม แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ BRCA1 และ BRCA2 หากมีความผิดปกติของยีนกลุ่ม BRCA1 อาจเพิ่มโอกาสของการเกิดมะเร็งปากมดลูก มะเร็งมดลูก มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งลำไส้ใหญ่ ขณะที่ความผิดปกติของยีนกลุ่ม BRCA2 อาจเพิ่มโอกาสของการเกิดมะเร็งตับอ่อน มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งถุงน้ำดี มะเร็งท่อน้ำดี และมะเร็งผิวหนังเมลาโนม่า เป็นต้น

“การมียีนมะเร็งทางพันธุกรรม เป็นการบอกว่าคนคนนี้มีความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นมะเร็งแน่นอน 100 เปอร์เซ็นต์ ที่สำคัญคือ หากรู้แล้ว จะได้ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ หมั่นตรวจคัดกรองค้นหามะเร็งชนิดนั้นๆ อย่างสม่ำเสมอ ส่วนคนที่ไม่เคยมีประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็ง ก็มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งได้ อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมียารักษามะเร็งเฉพาะจุดที่ได้ผลดี คนไข้มีทางเลือกในการรักษาเพิ่มขึ้น” ผศ.ดร.นพ.โอบจุฬกล่าว

มะเร็งรู้เร็ว รักษาหายได้

Advertisement
ผศ.ดร.นพ.โอบจุฬ ตราชู
ผศ.ดร.นพ.โอบจุฬ ตราชู
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image