ภาพเก่าเล่าตำนาน : ทหารซามูไร… ไปทำอะไรที่แม่ฮ่องสอน : โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ไม่น่าเชื่อ แต่เป็นความจริงครับ…ในช่วง พ.ศ.2484-2488 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวแม่ฮ่องสอนเคยสร้างมิตรภาพ เคยหยิบยื่นไมตรี ปกป้อง ช่วยชีวิตทหารญี่ปุ่นที่บาดเจ็บ ให้ข้าว ให้น้ำ ให้ที่พักพิง เป็นที่ฝังศพทหารญี่ปุ่น ในช่วงที่กองทัพญี่ปุ่นจะบุกเข้าพม่า และหลังจากแตกพ่าย (อาจจะถึง 1 หมื่นนาย) ถอยออกจากการรบในเมียนมา (พม่า)

พื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน กลายเป็นที่ฝังศพทหารเลือดซามูไรในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 จำนวนมหาศาล…

“เรายังไม่รู้อะไรอีกเยอะ”… บ้านเมืองของเรามีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในตำบลและเวลาที่แตกต่างกัน บางเหตุการณ์ถูกบันทึกแล้วเก็บในตู้แบบสงบเสงี่ยมกลืนหายไปกับกาลเวลา บางเหตุการณ์ที่ไกลโพ้นสุดชายขอบกรุงเทพฯ เราจะได้ยินแต่เพียงเสียงกระซิบ

ภาพเก่า…เล่าตำนาน ตอนนี้ ขอนำพาท่านผู้อ่านไปสำรวจตรวจสอบ ย้อนอดีตประวัติศาสตร์ในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน ที่กองทัพญี่ปุ่นใช้เป็น “พื้นที่รวมพล-พักแรม-ฝังศพ-พิมพ์ธนบัตร”

Advertisement

8 ธันวาคม 2484 ตอนเช้ามืด กองทัพลูกพระอาทิตย์อันเกรียงไกรจำนวนมหาศาล มายกพลขึ้นบก 7 แห่งบริเวณพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทย เกิดการสู้รบที่อ่าวมะนาว ที่เมืองปัตตานี มีเจ็บ มีตาย จุดที่ขึ้นบกใกล้กรุงเทพฯ มากที่สุด คือ บางปู สมุทรปราการ

รบกันค่อนวัน…ญี่ปุ่นแจ้งรัฐบาลสยามว่า…เฮ้! ญี่ปุ่นไม่ได้มารบกับสยาม แต่จะขอใช้สยามเป็นทางผ่านเดินทัพทะลุเข้าไปในพม่าต่อเข้าไปในอินเดีย และทหารอีกส่วนหนึ่งจะมุ่งหน้าลงใต้ ไปตีอังกฤษในมลายู… ช่วงบ่ายวันนั้น ก็หยุดรบ หาทางพูดคุยกัน…

21 ธันวาคม พ.ศ.2484 รัฐบาลสยามและญี่ปุ่นได้ลงนามในกติกาสัญญาพันธไมตรี ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และนายเตอิจิ ทสุโบกามิ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่น โดยยินยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทย

Advertisement

ในเวลานั้น กองทัพญี่ปุ่น ทั้งบก เรือ อากาศ มีแสนยานุภาพเกรียงไกรสุดขอบฟ้า…ญี่ปุ่นต้องการเป็น “มหาอำนาจเดี่ยวของทวีปเอเชีย” เพื่อต้องการครอบครองทรัพยากรที่เกาะญี่ปุ่นขาดแคลน

กองทัพญี่ปุ่นบุกเข้าไปยึดดินแดนในจีนปกครองแบบโหดหิน ไปรบชนะรัสเซีย สะท้าน สะเทือน กระหึ่มโลก

ประเทศใหญ่ น้อย ในเอเชีย ต่างหวาดผวา เกรงขามต่อ “ยักษ์กล้ามใหญ่ ใจอำมหิต จอมโหด” จากแดนอาทิตย์อุทัย

หลังลงนามร่วมมือกับสยาม กองทัพญี่ปุ่นก็มิได้เบี้ยวบูดตามที่ลงนามในสัญญา ทหารญี่ปุ่นจับเชลยศึกฝรั่งออสเตรเลียหลายพันคนจากมลายู สิงคโปร์ มาสร้างทางรถไฟสายมรณะ บังคับใช้เชลยศึกเยี่ยงทาส สร้างสะพานข้ามแม่น้ำแควที่เมืองกาญจนบุรีไปถึงเมืองตันบูซายัตในพม่า

เมื่อทางรถไฟเสร็จ ญี่ปุ่นก็ส่งทหาร ส่งเสบียง อาวุธ กระสุนบุกเข้าไปทำสงครามในพม่าที่กองทัพอังกฤษปกครองอยู่ ถือเป็น “เส้นหลักการรุกที่ 1” ที่บุกเข้าพม่า…โดยมิได้รุกราน หรือทำร้ายสยาม

ทหารลูกพระอาทิตย์ที่ห้าวหาญอีกจำนวนมหาศาล เดินทางขึ้นไปทางเหนือของสยามเพื่อจะหาทางข้ามชายแดน บุกเข้าไปในพม่าทางตอนเหนือ

“เส้นหลักการรุกที่ 2” คือ จากแม่ฮ่องสอน เพื่อผ่านเข้าไปพม่าซึ่งมี 2 เส้นทางคือเส้นทางแม่มาลัย-ปาย-แม่ฮ่องสอน-ขุนยวม และเส้นทางแม่แจ่ม ขุนยวม-ต่อแพ-ห้วยต้นนุ่น

พ.ศ.2485 ญี่ปุ่นก่อสร้างถนน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-ญี่ปุ่น เพื่อที่จะใช้เป็นเส้นทางเคลื่อนกำลังพลเข้าไปทางตอนเหนือของพม่า และไปเข้าตีทหารอังกฤษบริเวณเทือกเขาอิมฟาล-โกฮิมา (Imphal-Kohima) ในประเทศอินเดีย

นี่คือ คำตอบ ทำไมกองทัพญี่ปุ่นนับหมื่นนาย จึงไปปรากฏตัวเพ่นพ่านใน จ.แม่ฮ่องสอน ราว 4 ปี ครับ

ผู้เขียนขออ้างอิงข้อมูลของ สถาบันไทใหญ่ศึกษา วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน บันทึกประวัติศาสตร์ในช่วงสงครามโลกครั้ง 2 ที่บันทึกเรื่องราวตรงนี้ไว้น่าสนใจ ขอนำบางส่วนมาถ่ายทอดครับ…

“…สงครามโลกครั้ง 2 เกิดขึ้นในราวปี พ.ศ.2484-2488 ทหารญี่ปุ่นได้เดินทัพผ่านแม่ฮ่องสอนเพื่อเคลื่อนทัพไปยังประเทศพม่า โดยใช้ช่องทางบ้านห้วยต้นนุ่น อำเภอขุนยวม …ประเทศไทยได้เข้าร่วมสงคราม มีการประกาศจัดระดมกองกำลังประชาชนชายตั้งแต่อายุ 18-45 ปี ใน พ.ศ.2484 มีการฝึกกองกำลังที่วัดหัวเวียง

3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2484 มีเครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรมาทิ้งระเบิดที่วัดพระธาตุกองมูแต่พลาดเป้าหมาย ตกลงบริเวณที่สุสาน

4 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2484 มีเครื่องบินจำนวน 13 ลำ มาทิ้งระเบิดอีก ทำให้ นายอรุณ สิริบุญมา และนายตำรวจอีก 1 นายเสียชีวิต…

สมัยนั้นไม่มีปืนต่อสู้อากาศยานในจังหวัด ชาวบ้านจึงใช้กลอุบายโดยนำเกวียนที่ปลดวัวออก แล้วหันหัวเกวียนเฉียงชี้ขึ้นไปบนฟ้าลักษณะเหมือนปืนกล เพื่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตรเข้าใจว่ามีปืนกลอยู่ ณ บริเวณนี้

ต่อมาเมื่อประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน พ.ศ.2485 จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้รับคำสั่งจากรัฐบาลไทยให้อำนวยความสะดวกแก่กองทัพญี่ปุ่นที่จะเดินทางผ่านไปยังพม่า ในการนี้ข้าราชการไทยจึงได้รับหน้าที่ให้เป็นผู้ประสานงานในการจัดหาเสบียงอาหารและกำลังคนเพื่อก่อสร้างทางสาย ปาย-แม่ฮ่องสอน-ขุนยวม-ต่อแพ-ห้วยต้นนุ่น ซึ่งเป็นจุดต่อแดนไปยังกับน้ำมาง ในเขตประเทศพม่า

ต่อมาระหว่าง พ.ศ.2485-2486 เมื่อกองทัพญี่ปุ่นเริ่มพ่ายต่อกองทัพสัมพันธมิตรในแนวรบประเทศพม่า… ทหารญี่ปุ่นจึงถอยทัพกลับมาตั้งมั่นในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน

ช่วงปี พ.ศ.2487 ทหารญี่ปุ่นถอยทัพกลับเข้ามาอยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ใช้การเดินทางผ่านน้ำมาง (ในเขตประเทศพม่า) “ดอยน้ำพอง” ต่อเขต “ห้วยต้นนุ่น” “ห้วยปลามุง” ต่อแพเข้าสู่อำเภอขุนยวม ซึ่งเป็นเส้นทางที่ทหารช่างญี่ปุ่นและแรงงานชาวไทยร่วมกันจัดสร้างขึ้น ทางเส้นนี้กว้างประมาณ 4 เมตร คดเคี้ยวตามลำห้วยเล็กๆ มีความยาวประมาณ 20 กิโลเมตร และมาตั้งค่ายทหารอยู่ในเขตอำเภอขุนยวมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะบริเวณตามใต้ถุน วัด ศาลาวัด เช่นที่วัดหัวเวียงหรือวัดม่วยต่อ (ปัจจุบันรวมเป็นวัดเดียวกัน) กับวัดคำในเป็นที่ตั้งหน่วยพยาบาล

ใช้ศาลาวัดขุ่ม เป็นที่ตั้งหน่วยสื่อสารกลาง หน้าวัดโพธาราม ใกล้ฝั่งน้ำยวมเป็นที่ตั้งหน่วยเสบียงอาหาร และที่ศาลากลางบ้านเยื้องกับสถานีตำรวจภูธร อำเภอขุนยวม เป็นที่ตั้งปืนกล 2 กระบอก โดยหันปากกระบอกปืนไปทางสถานีตำรวจ และใช้เป็นที่รับรายงานตัวของทหารที่เข้ามาภายหลัง”

(ทหารที่เข้ามารายงานตัวภายหลัง หมายถึง ทหารญี่ปุ่นที่ทยอยร่นถอยมาจากแนวรบ : ผู้เขียน)

เราแทบไม่ค่อยได้ยินประวัติศาสตร์สงครามช่วงนี้มาก่อนเลยนะครับว่า จ.แม่ฮ่องสอน เป็นพื้นที่สำคัญที่เข้าไปติดพันในสงครามในลักษณะ “พื้นที่รองรับ” กองทัพญี่ปุ่น

เอกสารนี้ยังบันทึกด้วยว่า… จากการเคลื่อนทัพของกองทัพญี่ปุ่นผ่าน จ.แม่ฮ่องสอน เข้าไปยังพม่าและถอยทัพกลับมาพักยัง จ.แม่ฮ่องสอน ในช่วงสงครามโลกครั้ง 2 สามารถมีหลักฐานสำคัญตามอำเภอต่างๆ ดังนี้

1.อ.ขุนยวม ใช้พื้นที่ภายในสถานที่ราชการ วัดต่างๆ และบ้านเรือนราษฎรเป็นที่พัก ซึ่งประกอบด้วยดังนี้คือ

1.1 วัดต่อแพ หมู่ 1 ต.แม่เงา เป็นที่ตั้งของกองกำลังทหารญี่ปุ่นที่เคลื่อนพลมาจากประเทศพม่า โดยพื้นที่ใต้ถุนศาลาวัดถูกใช้เป็นสถานพยาบาล บริเวณวิหารเล็กที่ตั้งอยู่ด้านหน้าเจดีย์ ใช้เป็นสถานที่พิมพ์ธนบัตร ด้านตะวันออกและด้านใต้ของวัดรวมทั้งบริเวณที่ราบ เชิงดอยด้านทิศใต้ของวัดต่อแพถูกใช้เป็นที่ฝังศพทหารผู้เสียชีวิต

1.2 วัดม่วยต่อ ต.ขุนยวม อ.ขุนยวม ครั้งสงครามมหาเอเชียบูรพา อาณาเขตด้านทิศเหนือของวัดม่วยต่อ คือ วัดหัวเวียงโดยแบ่งแยกกันด้วยช่องประตูทางเข้า ขนาดเล็ก แต่ในปัจจุบันวัดทั้งสองได้ผูกพัทธสีมาเข้าเป็นวัดเดียวกันโดยใช้ชื่อว่า วัดม่วยต่อ ในครั้งนั้นพื้นที่ภายในวัดหัวเวียง ถูกใช้เป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลใหญ่ของค่ายขุนยวม ส่วนผู้เสียชีวิต จะถูกนำไปฝังบริเวณที่ว่างด้านตะวันตกของวัด แต่หลุมฝังศพส่วนใหญ่นั้นได้ถูกขุดไปแล้วในราว พ.ศ.2510

1.3 ค่ายหนองป่าก่อ ต.ขุนยวม อยู่ห่างจาก อ.ขุนยวม ไปทางทิศเหนือ 2 กิโลเมตร เป็นค่ายขนาดใหญ่ เป็นที่จอดรถบรรทุกทหารญี่ปุ่นจำนวนมากเรียงรายกันและมีการกางเต็นท์นอนในรถบางส่วน ใช้เป็นที่ตั้งของสถานพยาบาลและโรงเรือนพัก ซึ่งเรียงรายอยู่ 2 ฝั่งลำน้ำ โดยมีค่ายพักของสตรีและเด็กรวมอยู่ด้วย พื้นที่ด้านหลังค่าย (ส่วนที่ติดกับเนินเขา) ถูกใช้เป็นสถานที่ฝังศพทหารผู้เสียชีวิต โดยมีทั้งฝังรวมกันเป็นหลุมใหญ่และฝังเป็นหลุมขนาดเล็กหลุมละ 2-3 คน โดยฝังแบบต่อเนื่อง

1.4 บ้านแม่สุรินทร์ อยู่ห่างจาก อ.ขุนยวม ไปทางด้านเหนือประมาณ 17 กิโลเมตร ทหารญี่ปุ่นส่วนหนึ่งได้เข้ามาตั้งค่ายพักอยู่โดยได้ กระจายกำลังเข้าอาศัยตามบ้านเรือนราษฎร โรงเรียนและวัด โดยนำศพผู้เสียชีวิตฝังไว้บริเวณที่ราบ 2 ฝั่งน้ำห้วยยาว

2. อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน

2.1 บ้านห้วยโป่ง ต.ห้วยโป่ง อยู่ห่างจากตัว อ.ขุนยวม ประมาณ 30 กิโลเมตร ช่วงราวเดือนพฤษภาคม ทหารญี่ปุ่นทยอยเดินทางจากขุนยวม มายังบ้านห้วยโป่ง โดยเข้ามาพักอยู่ที่บ้านเรือนราษฎรโรงเรียนและวัด โดยที่โรงเรียนนั้นเป็นที่ตั้งของหน่วยกองเสบียง ส่วนบริเวณใต้ถุนศาลาวัดเป็นที่ตั้งของสถานพยาบาลผู้ป่วย โดยมีนายทหารพักอยู่ด้านบน ทหารที่เจ็บป่วยและล้มตายจำนวนมากจะถูกนำไปฝังไว้ร่วมกันที่ บริเวณลาดเชิงเขาห่างจากวัดห้วยโป่งไปทางทิศใต้ตามถนนญี่ปุ่น (ใกล้เคียงกับตำแหน่งทางหลวงจังหวัดในปัจจุบัน) แต่อาจมีบางศพในกรณีที่เป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่จะถูกนำไปฝังแยกไว้ต่างหาก

2.2 บ้านผาบ่อง ต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน กลุ่มทหารญี่ปุ่นที่เข้ามาในเขตบ้านผาบ่องกลุ่มแรกคือ ทหารกองเสบียงและฝ่ายการเงิน หลังจากนั้นทหารญี่ปุ่นจึงค่อยๆ ทยอยเข้ามามีทั้งคนปกติและเจ็บป่วยแขนขาขาด โดยได้เข้ามาอาศัยอยู่ตามบ้านต่างๆ วัดและโรงเรียน โดยที่โรงเรียนนั้นถูกใช้เป็นโรงพยาบาลสนามและมีแพทย์ญี่ปุ่นมาทำการรักษาให้ผู้ป่วย ทหารญี่ปุ่นที่ตายจะถูกนำไปฝังรวมกับศพของชาวบ้านที่สุสานประจำหมู่บ้าน ซึ่งอยู่ทางด้านทิศเหนือของโรงเรียนบ้านผาบ่องในปัจจุบัน

2.3 ต.จองคำ อ.เมือง ทหารญี่ปุ่นที่เข้ามาจะพักอยู่ตามศาลากลาง วัดจองคำ วัดจองกลาง วัดกลางทุ่ง วัดพระนอน วัดม่วยต่อ และบ้านเรือนราษฎร โดยตั้งกองบัญชาการที่ “หอเจ้าฟ้าพญาพิศาลฮ่องสอนบุรี” และตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรที่บ้านหลวงอนุมัติราชกิจ ถนนสิงหนาทบำรุง สำหรับราษฎรนั้นจะมีการสร้างหลุมหลบภัยไว้ในบ้านหรือในสวน ทหารญี่ปุ่นที่เข้ามาในช่วงเวลานั้นมีทั้งอยู่ในสภาพเจ็บป่วย พิการ และในสภาพปกติ และเมื่อมีผู้เสียชีวิตจะนำศพไปฝังไว้ที่ป่าช้าเทศบาล โดยขุดเป็นหลุมใหญ่ฝังประมาณ 30-50 คน

2.4 ต.ปางหมู อ.เมือง ญี่ปุ่นแพ้สงครามถอยเข้ามาในแม่ฮ่องสอน ได้ทยอยมาตั้งค่ายบ้านปางหมูบริเวณค่าย ตชด.336 และวัดปางหมู วัดผาอ่าง เป็นที่พักเรียงเป็นแถวเหยียดยาว อยู่กันกลุ่มละ 1-2 คืน แล้วทยอยเดินทางออก กลุ่มใหม่ก็เข้ามาเรื่อยๆ มีการฝังศพทหารที่ตายเป็นหลุมใหญ่รวมกันที่ค่าย ตชด.ที่ 336 นอกจากนั้น ยังมีหลุมเล็กๆ ที่บริเวณวัดบ่อน้ำมูเซอที่นาหนอง และมีศพนายทหารฝังไว้ที่บริเวณที่ตั้งของริเวอร์ปายรีสอร์ท ในปัจจุบัน

2.5 ต.ห้วยผา อ.เมือง ทหารญี่ปุ่นพักอยู่ที่วัดห้วยผาและโรงเรียนบ้านห้วยผา และตามบ้านเรือนราษฎรโดยนอนอยู่กลุ่มละ 1-2 คืน แล้วเดินทางไปยัง อ.ปาย เมื่อมีทหารเสียชีวิตจะถูกนำไปฝังบริเวณที่ตั้งสถานีอนามัยบ้านห้วยผา มีทหารญี่ปุ่นมาเสียชีวิตบริเวณนี้เป็นจำนวนมาก ส่วนหลุมฝังศพเหล่านี้ได้มีชาวญี่ปุ่นมาขุดหลายครั้งแล้ว

2.6 บ้านแม่สุยะ อ.เมือง ทหารญี่ปุ่นได้เดินทางผ่านเข้ามาพักที่บ้านแม่สุยะเป็นกลุ่มๆ โดยเข้ามาขอพักในบ้านเรือนราษฎรเพียงกลุ่มละ 1-2 คืนแล้วเดินทางต่อ แต่ไม่มีทหารญี่ปุ่นเสียชีวิตที่แม่สุยะ

3.อ.ปางมะผ้า พบมีกองทหารญี่ปุ่นมาตั้งค่ายในบริเวณ ต.สบป่อง ที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ มส.15 (น้ำของ) ที่ตั้งโครงการของ กอ.รมน.ภาค 3 (ถ้ำผามอน) และ บริเวณที่พักหมอนไม้ กม.134-135

4.อ.ปาย ทหารญี่ปุ่นเข้ามาในช่วง พ.ศ.2484-2485 โดยกลุ่มแรกที่เข้ามาถึงคือ กองเสบียง มาจัดตั้งหน่วยจัดซื้อเสบียงที่วัดหลวง ทำยุ้งฉางจัดเก็บเสบียงที่ อ.ปาย และยังทำแปลงผักสวนครัวและซื้อสัตว์และจ้างราษฎรชาวไทยเลี้ยง

กองเสบียงของทหารญี่ปุ่น ประกอบด้วย กองทหารช่างที่เดินทางมาพร้อมกับแรงงานรับจ้างคนไทย โดยมีการตั้งแคมป์ที่พักเรียงรายกันเป็นระยะ ทุกระยะประมาณ 3-5 กิโลเมตร เรียงตามลำดับจากปายไปคือ แม่นาเติง-นาป่าคา-ปางตอง-น้ำริน (บ้านลีซอ)-ปางหลวง (ถ้ำแม่อุมลอง)-บ้านท่าไคร้ และยังมีการสร้างสะพานเหล็กข้ามแม่น้ำปายด้วย

ช่วง พ.ศ.2486 กองทัพญี่ปุ่นได้เดินทางจากแม่ฮ่องสอน ทยอยเข้า อ.ปาย เป็นกลุ่มๆ มีทหารทั้งที่เจ็บป่วยและทหารปกติ แล้วเข้ามาพักในวัด สถานที่ราชการและบ้านเรือนราษฎรโดยใช้วัดกลางเป็นที่ตั้งของสถานพยาบาล เมื่อมีทหารล้มตายได้นำไปฝังบริเวณพื้นที่ว่างระหว่างวัดกลางและวัดป่าขาม

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง 2 ปี จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เดินทางมายัง อ.ปาย และมีการสร้างสนามบินปายขึ้นพร้อมกับบ้านพักจำนวน 3 หลัง ในเขต ต.เวียงเหนือ

5.อ.แม่ลาน้อย ทหารญี่ปุ่นส่วนใหญ่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยตามแนวเส้นทางห้วยต้นนุ่น-ขุนยวม แต่มีทหารญี่ปุ่นบางส่วนล่องลงตามลำน้ำยวม ไปขึ้นที่บ้านแม่ลาหลวงและตั้งพักอยู่ที่ศาลากลางบ้าน โดยแบ่งกันเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 7-10 คน มาพักอยู่เพียง 2-3 คืน แล้วเดินทางต่อไปยัง อ.แม่สะเรียง

ทหารญี่ปุ่นที่มายังบ้านแม่ลาหลวง มีประมาณ 50 คน ส่วนมากอยู่ในสภาพปกติแต่มีบางส่วนที่มีอาการบาดเจ็บและเจ็บป่วย มีทหารญี่ปุ่นตายที่แม่ลาหลวงประมาณ 2-3 คน และถูกนำไปฝังไว้ใกล้ลำห้วยด้านเหนือของหมู่บ้าน (ห้วยญี่ปุ่น) ซึ่งทหารญี่ปุ่นทำการฝังกันด้วยตนเอง จึงไม่มีชาวบ้านผู้ใดทราบตำแหน่งที่ฝังศพ

6.อ.แม่สะเรียง ในช่วงญี่ปุ่นแพ้สงครามทหารญี่ปุ่นส่วนหนึ่งได้ทะลักเข้ามายังอำเภอแม่สะเรียงโดยล่องตามน้ำมางในเขตพม่า ผ่านแม่แจ๊ะ เข้าเขตไทยทางบ้านเสาหิน ลายไทย บ้านพังซอ หัวพระ และเข้าสู่ อ.แม่สะเรียง โดยทยอยกันเข้ามาครั้งละ 5-6 คน ถึงประมาณกลุ่มละ 50 คน รวมประมาณ 200 คน

บางคนเดินเท้าเปล่า เพราะเอาสิ่งของแลกของกินจากชาวบ้านจนหมด ทหารพวกแรกที่เข้ามาคือพวกหมอ และได้พักอยู่ตามวัดและบ้านเรือนราษฎร ต่อมามีทหารชาวอังกฤษและอินเดียประมาณ 7 คน เดินเท้าเข้ามาตามเส้นทางบ้านเสาหินเพื่อมาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นที่ อ.แม่สะเรียง และนำทหารญี่ปุ่นเดินไปทาง อ.ฮอดเข้าสู่ จ.เชียงใหม่

ทหารญี่ปุ่นที่เข้ามาใน อ.แม่สะเรียง ในครั้งนั้น เมื่อมีผู้เสียชีวิตมักถูกฝังไว้บริเวณสนามบิน วัดอมราวาส และบริเวณบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่าเก่า

ข้อความข้างต้น เป็นเพียงข้อมูลเพียงบางส่วนนะครับ…

ผู้เขียนขอชื่นชม สถาบันไทใหญ่ศึกษา วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน ที่บันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบ และมีคุณค่ามหาศาลต่อชนรุ่นหลัง…

สิ่งที่น่าปลื้มใจ คือ อนุสรณ์สถานมิตรภาพไทย-ญี่ปุ่น อ.ขุนยวม ข้างวัดม่วยต่อ ในตัวเมืองขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน ที่เป็นแหล่งศึกษาทางประวัติศาสตร์เตือนใจให้รำลึกถึงเหตุการณ์ เพราะทหารญี่ปุ่นนับหมื่นนายเคยมาพำนัก พักพิงและฝังร่างลงตรงนี้

ยังมีข้อมูลที่ให้แสงสว่างทางปัญญาอีกมากโขนะครับ ไม่เว้นแม้กระทั่ง “ความรักของทหารญี่ปุ่นกับสาวสวยแม่ฮ่องสอน” …แนว
โกโบริและอังศุมาลิน

เหตุด้วยหน้ากระดาษมีจำกัด…จะขอเล่าต่อในตอนหน้าครับ…

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image