สกู๊ป น.1 : ดิ้นหนี‘ภัยแล้ง’ เกษตรกรหาน้ำ บ.ขุดบาดาล‘คึก’

จากข้อมูลจาก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ระบุว่ามีจังหวัดที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินภัยแล้งแล้ว 16 จังหวัด ขณะที่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กำลังแก้ไขปัญหาน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคต้องเร่งดำเนินการเป็นการด่วน ครอบคลุมพื้นที่ 43 จังหวัด ในพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำรุนแรงก่อนเป็นอันดับแรกต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะ 1-2 เดือนนี้ เพื่อเพิ่มแหล่งน้ำสำรองให้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยง

ล่าสุด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ตั้งวอร์รูมน้ำแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยการขุดบ่อน้ำบาดาลไว้สำหรับช่วยเหลือชาวบ้านทั่วทั้งประเทศโดยจัดสรรงบประมาณกว่า 3,079 ล้านบาท

ขณะที่เกษตรกรชาวนา-ชาวสวน แม้ว่ากรมชลประทานจะออกประกาศแจ้งเตือนว่าจะปีนี้จะงดส่งน้ำเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร เนื่องจากน้ำในเขื่อนไม่เพียงพอ แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ก็ต้องดิ้นรนเลือกที่จะทำเกษตรดีกว่าปล่อยให้ข้าวหรือพืชสวนแห้งตาย ปล่อยที่ดินรกร้างว่างเปล่า จำเป็นต้องควักเงินส่วนตัว หรือบางหมู่บ้านระดมรวบรวมเงินเพื่อจ้างขุดบ่อน้ำบาดาลเพื่อดึงน้ำขึ้นมาหล่อเลี้ยงหวังให้พืชผลงอกงาม เพราะหากอยู่รอดจะสามารถสร้างรายได้จากผลผลิตเกษตรมาจุนเจือครอบครัวในยามที่เศรษฐกิจประเทศทรุดหนัก

Advertisement

จากการลงพื้นที่สำรวจพบว่าโดยรวมของ อ.บางระกำ ในหลายๆ ตำบล อาทิ ต.ท่านางงาม ต.บางระกำ ต.ชุมแสงสงคราม สภาพพื้นที่เต็มไปด้วยนาข้าวอายุ 1-2 เดือนที่ยังแลดูเขียวขจี กรมชลประทานประกาศงดส่งน้ำเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร แต่เกษตรกรหันมาเจาะบ่อบาดาลเพื่อสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้

นายดำรง ทองรอด อายุ 70 ปี ชาวนา หมู่ 5 บ้านห้วยชัน ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า ทำนา 20 ไร่ เดิมใช้น้ำจากคลองบางแก้ว หรือแม่น้ำยมสายเก่าเป็นหลัก โดยสูบน้ำขึ้นมาหลายทอดกว่าจะถึงที่นาของตนเอง แต่ปัจจุบันน้ำในคลองบางแก้ว แทบไม่มีเหลือแล้ว เพราะต่างระดมสูบน้ำกัน ต้องหันมาใช้น้ำจากบ่อบาดาล ที่ลงทุนเจาะบ่อไว้แล้ว ในงบประมาณ 20,000 บาท ซึ่งปกติในหลายปีที่ผ่านมา ชลประทานจะส่งน้ำจากแม่น้ำน่านมาช่วยในพื้นที่ อ.บางระกำ แต่ปีนี้ทางการประกาศงดส่งน้ำ เพราะน้ำในเขื่อนเหลือน้อย ตนยึดอาชีพทำนามานาน และยังมีหนี้สินกับ ธ.ก.ส.อยู่ ถ้าไม่ทำนารอบนี้ ก็จะไม่มีเงินส่งดอกเบี้ยส่งต้นให้กับธนาคาร จะให้ไปทำอาชีพอื่น ก็ทำไม่ไหวและไม่ชำนาญ

นายสมศักดิ์ บ่องเขาย้อย กำนันตำบลท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า นาปรังรอบนี้ ชาวบ้านในเขตตำบลท่านางงามปลูกข้าวเต็มพื้นที่ 25,000 ไร่ของตำบลท่านางงาม แม้ว่าจะมีการประกาศแจ้งเตือนว่าปีนี้มีน้ำไม่เพียงพอ แต่ช่วงแรกๆ หลังจากหมดหน้าฝนใหม่ๆ น้ำในคลองบางแก้วค่อนข้างมาก เป็นเพราะมีการเตรียมการกักเก็บน้ำไว้ใช้เกษตรกรเมื่อเห็นน้ำในคลองมาก ก็คิดว่าจะเพียงพอ จึงทำนากันมาก กระทั่งปัจจุบันน้ำในคลองบางแก้วแทบไม่มีเหลือแล้ว แต่ชาวนาส่วนใหญ่ก็จะมีบ่อบาดาลในพื้นที่ของตัวเอง บางคนที่ทำนาไปแล้วก็ต้องลงทุนเจาะบ่อบาดาลเพิ่ม เพื่อให้ข้าวรุ่นนี้รอดไปได้

ด้าน นางพรรณิภา วิสิฐศรีพาณิชย์ เจ้าของ หจก.พรรณิภาดีพเวลล์ รับเหมาเจาะบ่อบาดาลในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งส่งผลดีทำให้ธุรกิจเจาะบ่อบาดาลคึกคักขึ้น โดยมียอดจองคิวในการเจาะตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันคิวเจาะบ่อบาดาลยังยาวเหยียด ต้องรอคิวขั้นต่ำครึ่งเดือนเป็นอย่างเร็วยอมรับว่างานเจาะบ่อบาดาลมีทั้งในแม่น้ำยม พื้นแปลงนา พื้นที่การเกษตรและพื้นที่ทั่วไป ซึ่งการคิดราคาขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่อยู่แถวไหน ความลึกของบ่อบาดาล ตัวปั๊ม ซึ่งก็มีราคาถูก หลักหมื่นถึงหลักแสน บางบ่อราคาสูงหลัก 2-5 แสนบาทก็มี

ซึ่งเวลานี้มีงานมากในพื้นที่ จังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ มากที่สุด 3-4 เดือน อย่างไรก็ตาม ภัยแล้งส่งผลให้การเจาะบ่อบาดาลมีความลึก บางจุดลึกถึง 60 เมตร ซึ่งการสูบน้ำใต้ดินขึ้นมามากอาจทำให้ระดับดินอาจทรุดตัวลงได้

ด้าน นายจักรกฤษ ประเทสังข์ ผู้รับเหมาเจาะบ่อบาดาล อ.เมืองพิจิตร เปิดเผยว่า หลังจากที่จังหวัดพิจิตรประสบปัญหาภัยแล้ง ซึ่งยอมรับว่าปีนี้แล้งหนักเนื่องจากฝนตกทิ้งช่วง ประกอบกับน้ำในเขื่อนหลัก ไม่ว่าเป็นเขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแควน้อย ปริมาณน้ำเหลือน้อย ในรอบหลายปี ที่ผ่านมา ปรากฏว่าเกษตรกรชาวนาไม่มีน้ำทำนา และ หล่อเลี้ยงต้นข้าว โดยจังหวัดพิจิตรเริ่มประสบปัญหาภัยแล้งตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน

“หลังจากเกิดปัญหาภัยแล้ง เกษตรกรชาวนาจังหวัดพิจิตรขาดน้ำในการทำนา จึงหันมาเจาะบ่อบาดาล เพื่อใช้ในการทำนา กันเป็นจำนวนมาก โดยมีเกษตรกรชาวนาเข้ามาจ้างเจาะบ่อบาดาลตั้งแต่ปลายปีจนถึงปัจจุบัน ประมาณ 40-50 บ่อ ซึ่งตอนนี้คิวการเจาะบ่อบาดาลแทบไม่ว่าง ซึ่งคิวเจาะบ่อยาวจนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งยังมีชาวนาเข้ามาติดต่ออย่างต่อเนื่อง”

สำหรับราคาค่าจ้างเจาะบ่อบาดาล จะเจาะบ่อละ 15,000 บาทจนถึง 1 แสนบาท ซึ่งทางเราจะเจาะ หากไม่ลึกมากจะเจาะต่อวันได้วันละ 1-2 บ่อ ซึ่งมีเกษตรกรชาวนาบางรายจ้างเจาะถึง 2 บ่อก็มี ซึ่งยอมรับว่า เกษตรกรชาวนา พิจิตร เดือดร้อนมาก ไม่มีน้ำทำนา ข้าวบางส่วน ตายเสียหายแล้วก็มี” นายจักรกฤษกล่าว

“ถือเป็นการดิ้นรนเฮือกสุดท้ายของเกษตรกร สวนทางกับบริษัทขุดบ่อบาดาลที่กำลังเป็น “ขาขึ้น”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image