‘ดีอีเอส’ หารือ ‘เฟซบุ๊ก’ ปูทางจับมือขับเคลื่อนดิจิทัลในประเทศไทย 4 ด้าน

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยในการนำคณะผู้บริหารกระทรวง และหน่วยงานในสังกัด โรดโชว์หารือบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านดิจิทัลของโลกที่ซิลิกอน วัลเล่ย์ สหรัฐอเมริกา ว่า ได้มีการเข้าหารือความร่วมมือกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัท เฟซบุ๊ก ผู้ให้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์รายใหญ่สุดของโลก เกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ที่ประเทศไทยได้เคยเสนอในเชิงลึก ตลอดจนแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ เพื่อร่วมกันทำงานขับเคลื่อนใน 4 ด้านประกอบด้วย 1.ด้านความเป็นส่วนตัว (ไพรเวซี่) เพื่อความร่วมมือระหว่างเฟซบุ๊ก และกระทรวง ในการสร้างความตระหนักให้ประชาชน มีความรู้ความเข้าใจเรื่องไพรเวซี่ของตนเอง จะทําอย่างไรให้ปลอดภัยในโลกออนไลน์ และให้ความรู้กับธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ในเรื่องมาตรการที่จําเป็น

2.ด้านความมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลในทุกภาคส่วน เน้นการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยผู้พิการทั้งทางสายตา การได้ยิน และทางร่างกาย รวมถึงผู้ที่มีความยากลําบากในการเรียนรู้ ให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ที่ผ่านมีมีหลายโครงการประสบความสําเร็จเป็นอย่างสูง และอยู่ระหว่างการขยายผล อีกทั้งมีแนวคิดในการร่วมกันจัดการแข่งขันในรูปแบบแฮกกาธอน เพื่อประดิษฐ์เทคโนโลยีสำหรับช่วยเหลือคนพิการ

3.ด้านประสบการณ์เชิงพาณิชย์ โดยมีแนวทางในการทํางานร่วมกัน เช่น เรื่องการเก็บภาษีจากเฟซบุ๊ก สําหรับการซื้อขายโฆษณาในประเทศไทย การควบคุมสินค้าปลอมหรือไม่ถูกกฎหมายที่ขายผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก เป็นต้น และ 4. ด้านข่าวปลอม (เฟคนิวส์) โดยได้หารือแนวทางความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาข่าวปลอมกับเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมบนเฟซบุ๊ก รวมถึงการสร้างขั้นตอนในการทํางานร่วมกันอย่างชัดเจน และไทม์ไลน์ของกระบวนการแจ้งลบบัญชีผู้ใช้งานปลอมหรือข้อมูลเท็จได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้สามารถอธิบายให้ประชาชนรับทราบได้

Advertisement

“ระหว่างการแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ครั้งนี้ ผู้บริหารเฟซบุ๊ก ยังให้ข้อมูลกับผมว่าแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ (มาร์เก็ตเพลส) ของเฟซบุ๊กนั้น ได้รับแรงบันดาลจากคนไทย เนื่องจากคนไทยใช้เฟซบุ๊ก ในการขายของเป็นจํานวนมาก และเป็นชาติที่มีวิธีที่น่าสนใจและแปลกใหม่ในการประยุกต์ใช้โซเชียลมีเดีย ในการขายของออนไลน์” นายพุทธิพงษ์ กล่าว

ทั้งนี้ ระหว่างการโรดโชว์ที่ซิลิกอน วัลเล่ย์ นายพุทธิพงษ์ ยังได้พบกับกลุ่มคนไทยที่ทํางานในบริษัท เฟซบุ๊ก และนักศึกษาในมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของซิลิกอน วัลเล่ย์ โดยกล่าวฝากข้อความไว้ว่า หากมีโอกาสขอให้กลับมาช่วยประเทศไทย เนื่องจากเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดน่าสนใจ เป็นอีกหนึ่งความหวังของประเทศ เพราะนอกจากมีความสามารถแล้ว ยังได้มีโอกาสอยู่ในสภาพแวดล้อมของเทคโนโลยี และเครือข่ายระดับโลก

“คนเหล่านี้มีศักยภาพสูงมาก หากได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสมและมีโอกาส จะใช้ความสามารถที่มีอยู่สร้างประโยชน์ ช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศได้เป็นอย่างมาก” นายพุทธิพงษ์ กล่าว

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image