เอาจริง!!เปิดสำรวจ-ผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่เม.ย.นี้ ครั้งแรกในรอบ 13 ปี

ชธ.เปิดสำรวจ-ผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่เม.ย.นี้ ครั้งแรกในรอบ 13 ปี เน้นเฉพาะแปลงอ่าวไทย ชี้บนบกติดปัญหาส.ป.ก. เด้งรับ”สนธิรัตน์”เจรจาพื้นที่ไทย-กัมพูชาก.พ.นี้ ใช้โมเดลเจดีเอต้นแบบ

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน(ชธ.) เปิดเผยว่า กรมฯเตรียมเปิดให้เอกชนยื่นสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่(รอบที่23) ซึ่งจะเป็นการเปิดครั้งแรกในรอบ 13 ปีนับจากปี 2550 คาดว่าจะสามารถออกประกาศเชิญชวน(ทีโออาร์)ให้เอกชนเข้ามายื่นสำรวจฯได้ภายในเดือนเมษายนนี้ และจะใช้เวลาในการพิจารณาเห็นชอบและอนุมัติสเร็จภายในสิ้นปีนี้และลงนามกับเอกชนได้ภายในมกราคม 2564 โดยการเปิดให้ยื่นสำรวจฯครั้งนี้จะเน้นพื้นที่ในทะเลอ่าวไทย ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต(พีเอสซี) คาดว่าจะก่อให้เกิดการลงทุนสำรวจขั้นต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท

“หากไม่นับรวมการประมูลให้สิทธิสำรวจฯเอราวัณ-บงกชที่จะหมดอายุสัมปทาน กระทรวงพลังงานไม่ได้เปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศมาตั้งแต่ปี 2550 การเปิดครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี และปี 2557 พยายามเปิดให้ยื่นฯ 6 แปลง แต่ไม่สำเร็จ ครั้งนี้จึงต้องมาดูใหม่ว่าจะสรุปกี่แปลงภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ หวังว่าจะได้รับความสนใจจากเอกชน ซึ่งแนวทางดำเนินงานก็เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับพลังงานไทยและยังคงรักษาไว้ซึ่งอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพื่อสร้างงานและเศรษฐกิจ”นายสราวุธกล่าว

นายสราวุธกล่าวว่า สำหรับแปลงบนบกที่ครั้งใหม่ไม่สามารถเปิดให้เอกชนยื่นสำรวจได้ เพราะติดปัญหาระเบียบสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) ที่ไม่อนุญาตให้ผู้รับสัมปททานปิโตรเลียมเข้าไปใช้ประโยชน์ปฏิรูปที่ดินสำหรับกิจกรรมกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้ จึงต้องไปเจรจากับหน่วยงานต่างๆก่อน เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการสำรวจฯรอบนี้เทคโนโลยีมีการพัฒนาไปมากมั่นใจจะเอื้อต่อการสำรวจรอบใหม่แน่นอน

Advertisement

นายสราวุธกล่าวว่า ปี 2562 ไทยจัดหาปิโตรเลียมจากแหล่งในประเทศคิดเป็น 40% ของความต้องการใช้ในประเทศ ปริมาณการผลิตรวม 821,060 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน มีสัมปทานปิโตรเลียมอยู่ 38 สัมปทาน 48 แปลงสำรวจ แบ่งเป็นสำรวจในทะเลอ่าวไทย 29 แปลงและแปลงสำรวจบนบก 19 แปลง และสามารถส่งรายได้เข้ารัฐกว่า 1.6 แสนล้านบาท เป็นกรมฯที่ส่งรายได้เข้าแผ่นดินสูงเป็นอันดับ 4 ของประเทศ

นายสราวุธกล่าวว่า กรมฯยังเตรียมหารือกับกระทรวงต่างประเทศ และหน่วยงานความมั่นคงภายในก.พ.เพื่อขับเคลื่อนแนวทางการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ตามนโยบายของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อ 2 ประเทศเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวคาดว่าจะมีศักยภาพ และหากพัฒนาได้จริงจะทำให้เกิดความมั่นคงในระบบพลังงานไทยมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือการพัฒนาจะอยู่บนเงื่อนไขที่ไม่เสียอธิปไตยทั้งสองประเทศ

“ข้อกังวลของท่านสนธิรัตน์คือ ต้องแน่ใจว่าไม่เสียอธิปไตยทั้งเขาและเรา โดยพื้นที่ทับซ้อนมีทั้งหมด 2.6 หมื่นตารางกิโลเมตร แนวทางจะต้องเป็นรูปแบบเดียวกับพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซียหรือ เจดีเอ คือไม่ได้แบ่งเส้นเขตแดนแต่ใช้วิธีกำหนดพื้นที่ร่วมกันพัฒนาปิโตรเลียมให้ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้หากไทยและกัมพูชาหาจุดลงตัวการพัฒนาพื้นที่อาจเหลือไม่กี่พันตารางกิโลเมตรก็ได้”นายสราวุธกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image