ไต่สวนครั้งแรก ‘ทางเลียบเจ้าพระยา’ กลุ่มค้านหอบข้อมูลแจงยิบ กทม.ยันทำถูกทุกขั้นตอน (คลิป)

เมื่อวันที่ 23 มกราคม ที่ศาลปกครองกลาง แจ้งวัฒนะ ห้องพิจารณาคดี 14 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการนัดหมายให้ถ้อยคำต่อศาล กรณีเครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม ยื่นฟ้องคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานภาครัฐ เพื่อเรียกร้องให้ยุติโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา หลังการให้ถ้อยคำต่อศาล ซึ่งมีขึ้นตั้งแต่เวลา 10.30-16.25 น.

นาง ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความจากทีมกฎหมายมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ว่า วันนี้ศาลได้ตรวจสอบคำร้องขอมาตรการชั่วคราว ซึ่งจะต้องชี้แจงว่าคดีมีมูลหรือไม่ โดยฝ่ายตนซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีมีตัวแทนเข้าร่วมให้ถ้อยคำรวม 6 ราย ประกอบด้วย ผู้ฟ้องคดี 2 ราย คือ นางภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการด้านผังเมือง และนายสาธิต ดำรงผล ตัวแทนชุมชนบางอ้อ โดยนางภารนีได้ชี้แจงภาพรวมปัญหาของโครงการว่ามีความไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะประเด็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และการมีส่วนร่วม ข้อมูลที่ให้ประชาชนมีไม่มากพอ ไม่ครอบคลุม การรับฟังความคิดเห็นเกิดขึ้นหลังมีความเห็นว่าจะทำโครงการนี้แล้ว ส่วนนายสาธิตชี้แจงถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อชุมชน รวมถึง ผลกระทบต่ออาคารขณะก่อสร้าง เช่น มัสยิดบางอ้อซึ่งเก่าแก่ถึง 100 ปี เช่นเดียวกับบ้านเรือนไม้หลายหลังในชุมชนบางอ้อ

นาง ส.รัตนมณี กล่าวต่อว่า ในส่วนของพยาน ประกอบด้วย นายยศพล บุญสม จากกลุ่ม เอฟ โอ อาร์ หรือ เพื่อนแม่น้ำ และ น.ส.อังคณา พุ่มพวง สถาปนิก และผู้มีบ้านพักอาศัยริมแม่น้ำ เป็นต้น โดยระบุถึงผลงานวิจัยที่ชี้ว่าโครงการดังกล่าวไม่สอดคล้องกับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ทั้งที่โครงการอ้างว่าเป็นไปเพื่อส่งเสริมในด้านดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมีผู้คัดค้านโครงการจำนวนมากแต่ภาครัฐ กลับบอกว่าไม่มีผู้คัดค้าน ตัวโครงสร้างโครงการมีปัญหา ปัจจุบันแม่น้ำเจ้าพระยามีเขื่อนป้องกันน้ำท่วมอยู่แล้ว ถ้ามีโครงสร้างเป็นสะพานหรือทางเลียบอีก จะเกิดอุปสรรคในการสัญจร

“วันนี้ดิฉันได้สรุปในประเด็นข้อกฎหมาย คือการรับฟังความคิดเห็นที่ไม่ถูกต้อง รวมถึง การออกใบอนุญาตของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมเจ้าท่าที่บอกว่ามีการอนุญาตแล้วก่อนที่เราจะยื่นฟ้องเพียง 1 เดือน ซึ่งไม่เคยรู้มาก่อน การอนุญาตของกรมเจ้าท่าไม่มีกระบวนการรับฟังความเห็น ทำไปโดยมิชอบ สำหรับการขออนุญาตการใช้พื้นที่อื่น เรามองว่าการทำทางเลียบแม่น้ำ คือการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่อีกประเภทหนึ่ง ฉะนั้น จำเป็นต้องขออนุญาต และขอออกเป็นพระราชบัญญัติเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพ แต่ไม่มีการดำเนินการ นอกจากนี้ กรมเจ้าท่ากำหนดว่าต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าของพื้นที่แล้ว แต่เราไม่พบว่ามีการดำเนินการขออนุญาตจากเจ้าของที่ดินริมแม่น้ำในจุดที่จะก่อสร้าง” นาง ส.รัตนมณี กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผู้ถูกฟ้องคดี คือหน่วยงานภาครัฐมีผู้เข้าให้ถ้อยคำ คือ น.ส.หรรษา อมาตยกุล จากสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร รวมถึง เจ้าหน้าที่รัฐในฐานะพยาน โดยกล่าวต่อศาลถึงจุดมุ่งหมายของโครงการที่จะพัฒนาให้พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม สำหรับการดำเนินการโครงการมีการยืนยันว่ากระทำอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ข้อกังวลต่างๆ มีผู้เชี่ยวชาญด้านอุทกศาสตร์ทำการจำลองสถานการณ์ พบว่า ไม่มีผลกระทบ นอกจากนี้ ยังเข้าพูดคุยกับผู้ประกอบกิจการโรงแรมถึงประเด็นต่างๆ อย่างราบรื่น เช่น การจอดเรือ สำหรับชาวบ้านในชุมชนต่างๆ ให้ความร่วมมือ เว้นแต่ชาวบ้านบางส่วนเท่านั้น ส่วนประเด็นโบราณสถานริมน้ำ มีการพูดคุยกับกรมศิลปากรซึ่งขอให้ตั้งกรรมการขึ้น อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ไม่ได้ดำเนินการที่กระทบต่อโบราณสถานแต่อย่างใด ทั้งนี้ ผู้ถูกฟ้องคดียังระบุว่าหากโครงการดำเนินต่อไปไม่ได้ จะกระทบต่อการดำเนินการป้องกันน้ำท่วม เพราะจะกระทำไปพร้อมกันกับทางเดิน-ทางจักรยานริมแม่น้ำเจ้าพระยา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image