เสียงจาก ‘ไร่อ้อย’ อีกจำเลย ฝุ่น PM 2.5

เสียงจาก ‘ไร่อ้อย’ อีกจำเลย ฝุ่น PM 2.5

ย้อนไปเมื่อ 20 มกราคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ล่องใต้ไปประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2563

ระหว่างพบปะนักเรียนที่โรงเรียนนราธิวาส ต.โคกเคียน อ.เมืองนราธิวาส พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งเรื่องของฝุ่น PM 2.5 ที่กำลังเป็นปัญหาในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะการเผาพืชอ้อยว่า

“อย่างเรื่องอ้อยก็ชอบไปซื้ออ้อยที่ถูกเผามาเพราะสะดวกที่จะเข้าโรงงานได้เร็ว อนาคตข้างหน้าคงทำไม่ได้ จะต้องมีการออกกฎหมาย ก็อยู่ที่ว่าจะปฏิบัติตามกฎหมายกันหรือไม่”

คำพูดนี้ที่ตอกย้ำให้แต่ละจังหวัด ที่มีพื้นที่ปลูกอ้อยต้องเข้มงวด เพื่อลดมลภาวะเรื่องอากาศที่ปกคลุมด้วยฝุ่นพิษ ที่ฟุ้งกระจายจากการเผาพืชไร่ นาข้าว และเผาป่าเพื่อหาของป่า มีโทษทั้งจำคุกและปรับ นับแสนบาท ความผิด คือโทษจำคุก 2-15 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-150,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ

Advertisement

ทางด้านผู้ประกอบการ อย่าง สิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (ทีเอสเอ็มซี) กล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า แนวทางแก้ปัญหาไร่อ้อยอย่างยั่งยืนต้องบูรณาการทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง ทั้งภาครัฐ โรงงานน้ำตาลและชาวไร่ ต้องวางแผนบริหารจัดการด้าน ซัพพลายเชนทั้งอุตสาหกรรม ตั้งแต่กระบวนการบริหารจัดการแปลงเพาะปลูกอ้อย จูงใจชาวไร่รวมแปลงเล็กเป็นแปลงใหญ่เพาะปลูก ช่วยลดต้นทุนและนำรถตัดอ้อยเข้าไปจัดเก็บผลผลิตได้

“โรงงานได้รณรงค์และสนับสนุนการตัดอ้อยสดอย่างต่อเนื่อง เสนอให้ภาครัฐสนับสนุนสินเชื่อซื้อรถตัดอ้อยในอัตราดอกเบี้ยพิเศษแก่โรงงานและชาวไร่ เนื่องจากรถตัดอ้อยปัจจุบันมีราคาค่อนข้างสูงและไม่เพียงพอ การแก้ไขปัญหาเผาอ้อยเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน เชื่อว่าชาวไร่ก็ไม่อยากเผา แต่ด้วยแรงงานตัดอ้อยขาดแคลน ต้นทุนสูง ขณะที่โรงงานได้ส่งรถตัดอ้อยเข้าช่วยชาวไร่ที่เป็นคู่สัญญาจัดเก็บผลผลิตอย่างเต็มที่ เพื่อให้ได้อ้อยสดเข้าหีบ ให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยสูงกว่าอ้อยไฟไหม้ นอกจากนี้โรงงานบางแห่งยังรับซื้อใบอ้อยใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า แม้ต้นทุนผลิตไฟฟ้าจะสูงขึ้นก็ตาม” สิริวุทธิ์กล่าว

ขณะที่ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์ว่าได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เร่งรัดโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยวงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต ฤดูการผลิตปี 2562/2563 วงเงิน 6,500 ล้านบาท และส่งเสริมให้ชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดวงเงิน 3,500 ล้านบาท เพื่อนำเสนอ ครม.เห็นชอบต่อไป

หาก ครม.อนุมัติเงินช่วยเหลือ 10,000 ล้านบาท จะทำให้ชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดส่งเข้าโรงงานได้รับราคาอ้อยมากกว่า 1,000 บาทต่อตันอ้อย เป็นค่าอ้อยมากกว่าอ้อยไฟไหม้ประมาณ 130 บาทต่อตันอ้อย เพื่อจูงใจให้ชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดแทนการเผ้าอ้อยไฟไหม้ เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหามลพิษ ปัญหา PM 2.5 โดยปี 2563 มีเป้าหมายอ้อยสดเข้าหีบโรงงานน้ำตาล 50% ของผลผลิตรวมปีนี้
แต่เมื่อมองไปที่มุมคนงานไร่อ้อยบ้าง การตัดอ้อยสดจะยุ่งยาก เนื่องจากต้องตัดสางใบอ่อนออกก่อนถึงจะตัดลำตัวอ้อยได้ จึงต้องจุดไฟเผาอ้อยก่อนแล้วทำการตัดเพื่อความง่าย

อย่างที่บ้านหนองบัวโคก ต.เทพาลัย อ.คง จ.นครราชสีมา แรงงานตัดอ้อยเผยว่า ค่าแรงตัดอ้อยสด นายจ้างจะจ่ายให้กองละ 20 บาท ถ้าเป็นอ้อยไฟไหม้จะตัดง่ายและเร็วกว่าจะได้ราคาน้อยกว่า 1 เท่า หรือแค่กองละ 10 บาท ก็ตาม แต่เมื่อคิดเฉลี่ยรายได้ในแต่ละวันแล้ว จะได้ค่าจะอยู่ระหว่าง 200-300 บาท ใกล้เคียงกัน

ความตื่นตัว ต่อมาตรการป้องกันควบคุมฝุ่นพิษนั้น วิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าฯนครราชสีมา ได้เดินหน้าควบคุมป้องกันมิให้เกษตรกรไร่อ้อยจุดไฟเผาครอบคลุมทั้ง 32 อำเภอ สั่งการให้ฝ่ายปกครองประสานงานเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามเมื่อเกิดเหตุเผาไร่อ้อย ให้สันนิษฐานว่าเจ้าของไร่อ้อยเป็นผู้ต้องสงสัยคนแรก

ส่วน ชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าฯ สิงห์บุรี กล่าวว่า จังหวัดได้ขอความร่วมมือ กำชับกำนันผู้ใหญ่บ้านให้ช่วยประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนไปแล้ว แต่ก็ยังมีการเผากันอยู่ จึงขอความร่วมมือหากพบเผาซังข้าว เผาไร่อ้อยที่ไหน ให้ถ่ายรูปส่งพิกัดมาให้ที่ผู้ว่าฯ เพื่อจะได้ดำเนินการต่อไป หากเอาผิดไม่ได้ก็จะประจานให้รู้ว่าใครที่ทำที่สร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่น

ทางด้าน มนตรี คำพล นายกสมาคมชาวไร่อ้อย จังหวัดสระแก้ว แสดงความเห็นว่า ขณะนี้ชาวไร่นอกจากจะเผชิญภัยแล้ง ผลผลิตอ้อยลดลงแล้ว ในพื้นที่สระแก้วยังมีการเผาอ้อยก่อนตัดเพราะขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากประเทศกัมพูชาเศรษฐกิจดีขึ้น แรงงานเหล่านี้จึงเดินทางเข้ามาน้อย

แต่ในภาพรวมปริมาณอ้อยสดในสระแก้วได้เพิ่มมากขึ้นจากปีที่แล้วพอสมควร ปริมาณอ้อยไฟไหม้มี 50 % เท่านั้น และตามมติคณะรัฐมนตรี ที่กระทรวงนำเสนอให้ใช้เครื่องจักรตัดอ้อยนั้น ก็ต้องใช้เวลาถึง 3 ปี เพราะชาวไร่อ้อยต้องปรับปรุงพื้นที่ให้เหมาะที่จะใช้เครื่องจักรได้

ปัญหาอีกอย่าง คือโรงงานไม่กล้าค้ำประกันในการซื้อเครื่องจักรให้ เพราะว่าหนี้สินชาวไร่และราคาอ้อยตกต่ำมา 3 ปีแล้ว มีหนี้สินผูกพันกับโรงงานน้ำตาลอยู่ โรงงานก็ไม่ค้ำประกันให้ก็เป็นสิ่งที่ยากลำบากกับชาวไร่อ้อย
บำเพ็ญ นะภา เกษตรกรชาวไร่อ้อยในพื้นที่ จ.สระแก้ว สะท้อนปัญหาด้วยว่า สาเหตุที่เผาอ้อยก่อนตัด ส่วนใหญ่มาจากการขาดแรงงาน แรงงานส่วนนี้มาจากกัมพูชา ตอนนี้รัฐบาลมีนโยบายห้ามเผา แต่แรงงานไม่ยอมตัด

เนื่องจากอ้อย ตอ 2 ตอ 3 หรือตอ 4 ต้นอ้อยจะไม่ตรง เหมือนอ้อยปีแรก ทำให้การสางใบลำบากและเสียเวลานาน เมื่อแรงงานไม่ยอมตัดก็จำเป็นต้องเผา ถ้าไปบังคับให้แรงงานตัดอ้อยสดก็จะหนีกลับหมด
จึงพยายามให้คนงานตัดสะดวกขึ้นโดยซื้อเครื่องสางใบแล้วให้แรงงานเข้าไปตัด ก็ตัดได้เยอะขึ้น แต่มีปัญหาว่า อ้อยที่อายุ 2-3 ปีแล้ว จะใช้เครื่องจักรตัดไม่ได้ เนื่องจากต้นล้มไปแล้ว ต้นอ้อยจะต้องตั้งยืนจึงจะใช้เครื่องจักรเข้าไปสางใบได้ แต่การสางใบก็เพิ่มต้นทุน

เพราะว่า ตัวเครื่องจักรและตัวรถด้วย ราคาประมาณ 3-4 แสนบาท และใช้เอ็นเป็นตัวปั่น วันหนึ่งก็ใช้หมด 1 กิโลกรัม ตก 500 บาท ยังไม่รวมค่าแรงคนขับยังไม่รวมค่าน้ำมัน ต้นทุนสูงขึ้น

และที่มีข่าวว่า ทางจังหวัดสระแก้ว มีมาตรการห้ามเผาอ้อย มีโทษจำคุก 7 ปี ปรับ 1 แสนบาท ก็มองว่า เราตกเป็นจำเลยสังคม ตกเป็นคดีอาญาต่อแผ่นดิน เราก็คิดอยู่เสมอว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปเกษตรกรอยู่ไม่ได้ ต้องเลิกอาชีพนี้พูดตามตรงเลยว่า ต้องยุติการปลูกอ้อยหันไปปลูกพืชอย่างอื่น เพราะเราไม่มีทางเลือก เดี๋ยวนี้โทษหนักกว่าลักทรัพย์ปล้นทรัพย์เสียอีก

นายมนตรี คำพล นายกสมาคมชาวไร่อ้อย จ.สระแก้ว
นายมนตรี คำพล นายกสมาคมชาวไร่อ้อย จ.สระแก้ว

ขณะที่ จิรวุฒิ สิงห์โตทอง หรืออดีต ส.ส.เป้า นายกสมาคมกลุ่มอาชีพการเกษตรชลบุรี อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี มีมุมมองว่า ชาวไร่อ้อยจะมีช่วงเก็บเกี่ยวในเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์เท่านั้น

ในอดีตราคาดี แต่ปัจจุบันราคาอ้อยตกต่ำเหลือเพียงตันละ 750 บาท หากเป็นอ้อยเผาไฟจะถูกหักอีกตันละ 30 บาท เหลือตันละ 720 บาท ทั้งที่ต้นทุนเพาะปลูกตันละกว่า 1,000 บาท

เกษตรกรพยายามช่วยตัวเอง เมื่อไม่มีแรงงานตัดอ้อยก็ต้องใช้วิธีเผา เพื่อตัดอ้อยเข้าสู่โรงหีบ หาเงินมาเลี้ยงครอบครัว แต่เมื่อรัฐบาลใช้มาตรการดังกล่าว ไม่รู้ว่าชาวไร่อ้อยจะไปทำอะไรกินกัน

“หากราคาอ้อยยังตกต่ำและยังใช้มาตรการห้ามเผาอ้อยเพื่อตัดเข้าสู่โรงหีบ ต่อไปไม่มีใครปลูกอ้อย ชาวบ้านก็ต้องกินน้ำตาลแพงกัน รัฐบาลควรจะแก้ไขปัญหาให้ถูกจุด โดยเฉพาะรถที่วิ่งกันทุกวันนี้ สร้างฝุ่นละอองขึ้นสู่อากาศจำนวนมาก แต่ไม่มีมาตรการชัดเจน รวมทั้งโรงงานที่สร้างฝุ่นละอองขึ้นในอากาศ แก้ไขปัญหาไม่ได้ก็หันมาเอาเรื่องกับชาวไร่อ้อย ทั้งที่มีห้วงเวลาเพียง 3 เดือนเท่านั้นในการตัดอ้อยเข้าโรงหีบ และชาวไร่อ้อยประสบกับปัญหาภัยแล้ง ฝนฟ้าลงโทษไม่ตกต้องตามฤดูกาล หากรัฐบาลไม่อยากให้มีการเผาอ้อยเข้าสู่โรงหีบ ก็ควรสนับสนุนซื้อรถตัดอ้อยคันละประมาณ 12 ล้านบาท แจกจ่ายให้กับสมาคมเกี่ยวกับอ้อยทั่วประเทศเพื่อนำไปตัดอ้อย” จิรวุฒิกล่าว

เป็นอีกด้านของปัญหาฝุ่นละออง ที่การแก้ไขปัญหาไม่ง่าย โดยเฉพาะหากจะแก้ไขอย่างยั่งยืน ต้องมีความรอบด้าน และคำนึงถึงผลกระทบที่ทุกฝ่ายได้รับไปพร้อมกันด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image