องคมนตรี ร่วมประชุมแก้ปัญหาภัยแล้ง สั่งระดมสรรพกำลังแก้ด่วน วอน ปชช.ประหยัดน้ำ

องคมนตรี ร่วมประชุมแก้ปัญหาภัยแล้ง สั่งระดมสรรพกำลังแก้ด่วน วอน ปชช.ประหยัดน้ำ

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 28 มกราคม ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) คณะองคมนตรี ประกอบด้วย นายพลากร สุวรรณรัฐ  พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา นายจรัลธาดา กรรณสูต พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์ นายอำพน กิตติอำพน และ พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง รวมถึงพล.อ.ท. ภักดี  แสงชูโต เลขานุการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และพล.อ.ต.โชคดี สมจิตต์ ผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายอำนวยการจิตอาสาพระราชทาน ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน ร่วมติดตามสถานการณ์น้ำและแนวทางการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง ในการประชุมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง

โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เป็นประธานการประชุมฯ และมีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.กษตรและสหกรณ์ นายวราวุธ ศิลปอาชารมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายนิพนธ์ บุญญามณี และนายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งที่ส่งผลกระทบในหลายพื้นที่ กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้บูรณาการทุกหน่วยงานดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างเต็มกำลัง ภายใต้กฎหมายและแผนว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยผ่านกลไกการปฏิบัติของหน่วยงานทุกภาคส่วน โดยเน้นการทำงานในมิติเชิงพื้นที่ แบ่งพื้นที่รับผิดชอบและมอบหมายภารกิจอย่างชัดเจน รวมถึงจัดหน่วยสนับสนุนการแก้ไขปัญหาครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยง

โดยมีกลุ่มการทำงานแยกเป็น 3 ด้าน ครอบคลุมทั้งกลุ่มพยากรณ์ คาดการณ์สภาพอากาศ ปริมาณฝน และสถานการณ์น้ำ กลุ่มบริหารจัดการน้ำ ดูแลภาพรวมการบริหารจัดการน้ำของประเทศ เพื่อวางแผนการใช้น้ำทุกประเภท และกลุ่มปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ซึ่งบูรณาการฝ่ายพลเรือน หน่วยทหาร และภาคเอกชนปฏิบัติการแก้ไขปัญหา ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งเชิงพื้นที่ใน 2 ลักษณะ ได้แก่ 1.พื้นที่ที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง)

Advertisement

2.พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำตามข้อมูลของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และพื้นที่เสี่ยงอื่นๆ โดยให้ความสำคัญกับการดูแลเรื่องน้ำอุปโภคบริโภคเป็นลำดับแรก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำแผนรองรับ ทั้งการเติมน้ำดิบเข้าสู่ระบบผลิตน้ำประปา การเจาะบ่อบาดาล การเติมน้ำใส่ภาชนะรองรับน้ำกลางของหมู่บ้าน ในส่วนของน้ำเพื่อการเกษตร ได้มีการบริหารจัดการตามแผนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้มีการเน้นย้ำไม่ให้เกิดกรณีพื้นที่ขาดแคลนน้ำและพืชยืนต้นตายอย่างเด็ดขาด

“การแก้ไขปัญหาภัยแล้งและช่วยเหลือผู้ประสบภัยระยะเร่งด่วน ได้เน้นย้ำให้จัดหาน้ำจากทุกแหล่งรองรับการใช้น้ำ ระดมเครื่องจักรกลสาธารณภัยจากทุกหน่วยงานผันน้ำดิบเข้าสู่ระบบการผลิตน้ำประปา ขุดลอกแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ขุดเจาะและเป่าล้างบ่อบาดาล ควบคู่กับการจัดสรรน้ำสนับสนุนทุกพื้นที่เสี่ยงภัย มุ่งดูแลด้านน้ำอุปโภคบริโภคเป็นหลัก โดยจัดรถบรรทุกน้ำนำน้ำไปเติมยังถังน้ำกลางประจำหมู่บ้าน และจุดแจกจ่ายน้ำตามวงรอบอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงฤดูแล้ง เพื่อลดผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ ทั้งนี้ ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมกันใช้น้ำที่มีปริมาณจำกัดอย่างประหยัด คุ้มค่า และมีประสิทธิภาพมากที่สุด เชื่อมั่นว่าความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จะทำให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอในทุกพื้นที่” พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image