คลังลุ้นมาตรการกระตุ้นลงทุนดึงเม็ดเงินกว่า 1.1 แสนล. ช่วยเศรษฐกิจไทยโต 0.25%

 

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563 เห็นชอบมาตรการการเงินการคลังเพื่อสนับสนุน การลงทุนในประเทศ ปี 2563 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งมาตรการดังกล่าวกระทรวงการคลังหวังว่าจะกระตุ้นให้เอกชนมาลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 แสนล้านบาท ครั้งนี้ถือว่าให้มากที่สุดจากที่ผ่านมาเคยให้สูงสุดไม่เกิน 2 ท่า หลังจากนี้ทางบีโอไอจะมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติมมาเสริมกับกระทรวงการคลัง โดยทางบีโอไอเสนอเข้าบอร์ดบีโอไอวันที่ 6 กุมภาพันธ์ หลังจากนั้นเสนอครม.ให้พิจารณาต่อไป คาดว่ามาตรการทั้งจากของคลังและบีโอไอจะกระตุ้นให้เอกชนมาลงทุนในปีนี้เพิ่มขึ้น

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง  กล่าวว่า มาตรการการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนการลงทุนในประเทศ ปี 2563 มีสาระสำคัญ ประกอบด้วย มาตรการการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนการลงทุนในประเทศ ปี 2563 เป็นมาตรการพิเศษที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เป็นยาแรงเพื่อกระตุ้นการลงทุนภายในประเทศ โดยให้มากถึง 3 ต่อ  ซึ่งประกอบด้วย ต่อที่ 1 มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ ต่อที่ 2 มาตรการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และต่อที่ 3 มาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

 

Advertisement

ทั้งนี้มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายเพื่อการลงทุนในเครื่องจักรได้ร้อยละ 250 หรือ 2.5 เท่า ของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่รวมถึงกรณีที่เป็นธุรกิจให้เช่าแบบลีสซิ่งและลงทุนในเครื่องจักรเพื่อให้เช่าเครื่องจักรนั้นแบบลีสซิ่ง โดยให้หักรายจ่ายร้อยละ 100 แรก หรือ 1 เท่าแรกของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง เป็นค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามเกณฑ์ที่ประมวลรัษฎากรกำหนด และทยอยหักรายจ่ายส่วนเพิ่มเป็นเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชี สำหรับรายจ่ายที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563

 

สำหรับมาตรการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ปัจจุบันเครื่องจักรส่วนใหญ่ได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าอยู่แล้ว มาตรการยกเว้นอากรขาเข้าในครั้งนี้จะยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรส่วนที่เหลืออีก 146 รายการ โดยของที่ได้รับยกเว้นอากรต้องเป็น
ของที่ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน และจะต้องนำไปใช้ในการประกอบกิจการของผู้นำของเข้าเท่านั้น
ไม่ใช่เพื่อการจัดจำหน่ายหรือใช้ในบ้านเรือนระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ประกาศกระทรวงการคลังมีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563

 

นอกจากนี้ยังมีมาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการปรับปรุงเครื่องจักรใหม่ หรือซื้อเครื่องจักรใหม่เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ คงที่ปีที่ 1 – 2 ร้อยละ 2 และปีที่ 3 – 5 ร้อยละ 4 วงเงินกู้สูงสุดต่อราย 100 ล้านบาท ภายใต้วงเงิน 5,000 ล้านบาท ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ธันวาคม 2563 พร้อมสิทธิประโยชน์อื่น ๆ จาก ธสน. เช่น ฟรีค่าธรรมเนียม Front-end-Free ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน บสย. 4 ปี เป็นต้น ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การขอสินเชื่อและการพิจารณาสินเชื่อเป็นไปตามที่ ธสน. กำหนด รวมถึงธนาคารเฉพาะกิจของรัฐยังมีสินเชื่ออัตราพิเศษอีกมากกว่า 100,000 ล้านบาทเพื่อรองรับการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ( EEC) กลุ่มธุรกิจ New S-Curve หรือธุรกิจที่เป็น Supply Chain ธุรกิจเกษตรแปรรูป และธุรกิจ Robotics

 

นายลวรณ กล่าววว่า กระทรวงการคลังคาดว่า มาตรการการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนการลงทุนในประเทศ ปี 2563 จะส่งผลก่อให้เกิดการลงทุนกว่า 110,000 ล้านบาท สนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 0.25 ส่วนมาตรการสินเชื่อจะเป็นการช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการพัฒนาและปรับปรุงการผลิตสินค้า ให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยี เครื่องจักรอุปกรณ์ที่ทันสมัย เพื่อปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพ ในกระบวนการ รวมทั้งจะเป็นการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้กลับมาแข็งแกร่ง ยกระดับกระบวนการผลิตและเพิ่มศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่ Industry 4.0 และมีการเติบโตอย่างยั่งยืน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image