ป.ป.ช.แจงกรอบทำคดีเรื่องใหญ่แค่ 30 วัน ถูกถามปม ส.ส.เสียบบัตรแทน-รมช.รุกป่าเขาใหญ่

เลขาฯป.ป.ช. แจงกรอบทำคดีทั่วไป 2-3 ปี ถ้าเรื่องใหญ่-สังคมสนใจอาจแค่ 30 วัน หลังถูกถามปม ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน-รมช.รุกป่าเขาใหญ่

วันที่ 29 มกราคม นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีขั้นตอนการดำเนินการเมื่อมีผู้มายื่นเรื่องให้ป.ป.ช.ตรวจสอบ ว่า เมื่อมีผู้มายื่น ทางสำนักบริหารกลางจะเป็นหน่วยงานแรกที่รับเรื่อง เมื่อออกเลขหนังสือรับแล้วก็จะตรวจสอบว่าเป็นเรื่องกล่าวหาผู้ใด เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่ อยู่สังกัดใด จากนั้นจึงส่งไปยังสำนักที่รับผิดชอบ หรือจังหวัดที่เกี่ยวข้อง ตามโครงสร้างของป.ป.ช. เรื่องการรับผิดชอบงาน จากนั้นเมื่อเข้าระบบแล้วทางผู้อำนวยการสำนักจะได้ส่งต่อไปยังเจ้าหน้าที่เพื่อให้พิจารณาดำเนินการตรวจรับคำกล่าวหา ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นการสแกนดูว่าคำกล่าวหานั้นอยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ ของคณะกรรมการป.ป.ช.หรือไม่ ชี้ช่องเบาะแสพยานหลักฐานหรือไม่

นายวรวิทย์ กล่าวว่า ซึ่งถ้าอยู่ในอำนาจหน้าที่ของป.ป.ช. และมีพยานหลักฐานพอสมควรก็ ให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่ามีมูลที่จะรับไต่สวนหรือไม่ ซึ่งในขั้นตอนนี้อาจจะมีการเชิญผู้ร้องสอบพยานได้

นายวรวิทย์ กล่าวว่า ทั้งนี้ถ้าไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หรือไม่ใช่เรื่อง ที่มีความสำคัญมีผลกระทบเป็นวงกว้าง ก็มอบให้องค์คณะพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการไต่สวน

Advertisement

นายวรวิทย์ กล่าวว่า แต่ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับนักการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หรือเรื่องสำคัญมีผลกระทบเป็นวงกว้างก็ตั้งกรรมการไต่สวน ซึ่งตามกฏหมายใหม่ที่ใช้ฉบับปัจจุบัน จะต้องมีกรรมการ 2 ท่านเป็นผู้รับผิดชอบสำนวน จากเดิมเมื่อก่อนมีกรรมการ 1 ท่านรับผิดชอบและเรียกว่าคณะอนุกรรมการ

ผู้สื่อข่าวถามว่า สำหรับกรณีล่าสุดซึ่งเป็นที่สนใจของสังคม คือการที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นให้ป.ป.ช.ไต่สวน เรื่องส.ส.เสียบบัตรแทนกัน กับ เรื่องรมช.ศึกษารุกที่ป่าเขาใหญ่นั้น นายวรวิทย์ กล่าวว่า ขั้นตอนก็จะเหมือนกันกับที่ได้กล่าวไปข้างต้น คือดูคำกล่าวหาก่อนว่า เป็นคำกล่าวหาที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของป.ป.ช.หรือไม่ ซึ่งคำกล่าวหาที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของป.ป.ช.คือเรื่องการทุจริต กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ รวมทั้งเรื่องของจริยธรรมด้วย ส่วนถ้าเป็นเรื่องรุกป่า ก็ต้องไปดูด้วยว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่หรือไม่ ต้องให้เจ้าหน้าที่เขาดูเบื้องต้นแล้วนำเสนอมา

เมื่อถามว่าการตรวจสอบเบื้องต้นนั้นมี กรอบระยะเวลาหรือไม่ นายวรวิทย์ กล่าวว่า ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นกรอบอยู่ที่ 180 วัน ส่วนเมื่อรับไต่สวนแล้วจะอยู่ที่ 2 ปี ขอขยายได้อีก 1ปี ดังนั้นไม่เกิน 3 ปี หลักเกณฑ์มีอยู่เท่านี้

ผู้สื่อข่าวถามว่าทั้งสองเรื่องเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจก็อยู่ในกรอบเวลาเดียวกันนี้ใช่หรือไม่ เลขาฯป.ป.ช. กล่าวว่า อยู่ในกรอบนี้เหมือนกัน ซึ่งเป็นกรอบทั่วๆไปในการทำงาน เพียงแต่เวลาที่เจ้าหน้าที่ทำงานจริง ถ้าประชาชนสนใจก็อาจจะมีการระดมกำลังมาช่วยกันทำให้แล้วเสร็จ อาจจะภายใน 2อาทิตย์ ภายใน 30 วัน หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็ต้องว่ากันไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image