‘โฆษกมาร์ช’ห่วงสภาโดนก่อการร้าย จี้พัฒนาระบบ ‘วิเคราะห์หน้า – รปภ. -บุคลากร’

เมื่อวันที่ 30 มกราคม ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวาระการหารือของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) โดยพ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า อยากจะพูดในฐานะที่มีประสบการณ์มีความรู้ด้านต่อต้านก่อการร้ายสากล และในฐานะที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยทางเทคโนโลยี มีความรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยในรัฐสภาต้องการชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในการรักษาความปลอดภัยของอาคารรัฐสภา สามารถรับรู้ถึงความไม่ปลอดภัยได้ และห่วงว่าอาจเกิดเหตุการณ์เลวร้ายได้ในอนาคตหากยังไม่มีการพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยเพื่อระวัง ป้องกัน และรองรับเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งรัฐสภาของเรานี้ถือเป็นศูนย์รวมอำนาจของประเทศแห่งหนึ่ง มีบุคคลเข้ามาใช้งานมากมายตั้งแต่ผู้นำประเทศคือนายกรัฐมนตรีลงไปถึงชาวบ้านทั่วไป แต่จะเห็นได้ว่าการรักษาความปลอดภัยไม่ต่างอะไรกับออฟฟิศทั่วไป จากประสบการณ์คิดว่าบางอาคารในย่านสาธรยังมีระบบรักษาความปลอดภัยดีกว่ารัฐสภาของเราเลย ยิ่งอยู่ในช่วงการก่อสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ ยิ่งต้องเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยให้เข้มข้น เพราะมีคนเข้าออกตลอดเวลา

พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า ต้องมีการพัฒนานำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยดำเนินการให้มีความทันสมัย โดยระบบจะต้องเข้มข้น และมีความยืดหยุ่นให้เหมาะสมต่อสถานการณ์ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยในทุกมิติ โดยขณะนี้ได้มีเทคโนโลยีเรียกว่าระบบต่อต้านการโจมตีจากโดรน (Anti drone) ถือว่ามีความจำเป็นเพื่อรองรับสถานการณ์ ซึ่งรัฐสภาเรายังไม่มี ส่วนระบบการตรวจจับวัตถุระเบิด จะต้องมีการอัพเกรดขึ้น พัฒนานำระบบที่มีตรวจจับขั้นสูงมาใช้ ส่วนระบบของบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ต่างๆ ต้องมีความสามารถในการเก็บข้อมูลมากขึ้น บัตรจะต้องกำหนดการเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ และต้องสามารถติดตามได้ว่าคนๆนั้น เมื่อเข้ามาแล้วไปอยู่ตรงจุดไหน ไปอยู่ในจุดเสี่ยงหรือพื้นที่ควบคุมพิเศษหรือไม่ ที่สำคัญคือจะต้องบูรณาการระบบไอที ระบบเทคโนโลยีการสื่อสาร ระบบกล้อง CCTV ทั้งหมด ให้เกิดเป็นฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงกัน และต้องเชื่อมกับฐานข้อมูลอาชญากรด้วย เพราะจะต้องมีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ใบหน้า(Face detection) วิเคราะห์ด้านกายภาพ(Physical detection) ว่าเป็นบุคคลต้องห้ามหรือไม่ และยังช่วยวิเคราะห์การเคลื่อนไหว(Movement detection) ว่าพฤติกรรมของคนที่เข้ามาว่ามีความผิดปกติหรือมีแนวโน้มในการก่อเหตุร้ายหรือไม่ อย่างไรก็ดี เมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแล้ว จะต้องมีการพัฒนาบุคลากรในการรักษาความปลอดภัยไปพร้อมๆกันด้วย เพื่อให้การทำงานรักษาความปลอดภัยเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ยกระดับระบบรักษาความปลอดภัยของรัฐสภาให้มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากลโดยเร็ว ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของทุกคน

ข่าวด่วนเกาะติดทุกสถานการณ์ ไม่พลาดข่าวสำคัญ จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image