บสย.ผนึก 18 แบงก์อัดเงินทุน 1.8 แสนล.ช่วยเอสเอ็มอี 1.42 แสนราย

 

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมมือมาตรการ”ต่อเติม เสริมทุนSMEs สร้างไทย” บรรษัทค้ำประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม(บสย.)และ 18 สถาบันการเงินว่า  รัฐบาลออกมาตรการมาช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ เพื่อให้มีสภาพคล่อง และช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน ผ่านการค้ำประกัน 6 หมื่นล้านบาทฟรีค่าธรรมเนียม 2 ปี คาดว่าทะให้มีเงินทุนไหลเข้าระบบเศรษฐกิจรวม 1.8 แสนล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการได้ 1.42 แสนราย

ทั้งนี้ในการช่วยเหลือมีมาตรการประกอบด้วย 1.วงเงินหมื่นล้านบาท ให้กับเอสเอ็มอีที่มีประวัติการค้างชำระ โดยฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน ปีแรก และค้ำยาวสูงสุด 10 ปี 2.ขยายเวลาค้ำประกัน ในโครงการ PGS 5-7 ออกไปอีก ปี โดยมีวงเงินค้ำประกัน หมื่นล้านบาท 3.โครงการเติมเงินทุนหมุนเวียน และขยายธุรกิจ วงเงินหมื่นล้านบาท ฟรีค่าธรรมเนียม ปีแรก ค้ำนานสูงสุด 10 ปี 4.โครงการ PGS 8 วงเงินค้ำประกัน หมื่นล้านบาท ฟรีค่าธรรมเนียม ปีแรก และค้ำนานสูงสุด 10 ปี ทั้งนี้ บสย.ได้ขยายการรับความเสียหายจากการค้ำประกัน เพิ่มขึ้นเป็น 40 % จากเดิม 30% 

นายอุตตม กล่าวต่อว่า มาตรการต่อเติม เสริมทุนเอสเอ็มอีสร้างไทย เป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล  โดยมีเป้าหมายช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกำลังประสบปัญหาการดำเนินธุรกิจให้เดินต่อไปได้ ภายใต้มาตรการนี้ยังได้ผ่านการวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนปัญหาและอุปสรรครอบด้าน  ระหว่างรัฐบาล กระทรวงการคลัง  ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และ บสย. สู่การปลดล็อคครั้งใหญ่  ปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของ บสย.ได้แก่ การรับความเสียหายเพิ่มจาก 30% เป็น 40%  เพื่อให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบอย่างสบายใจ และเสริมสภาพคล่องให้กับต่อลมหายใจให้ธุรกิจได้ โดยความช่วยเหลือนี้ รัฐบาลจะใช้กลไกของการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. ช่วยเติมทุนให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าสู่ระบบสินเชื่อ ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าปกติ จากสถาบันการเงินที่ร่วมลงนามทั้ง 18 ธนาคาร

Advertisement

ด้านนายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไปบสย.กล่าวว่า ขณะนี้มีคำร้องจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขอเข้าร่วมมาตรการดังกล่าวแล้วร่วม 1 หมื่นราย เป็นเม็ดเงินรวมกว่า 7 พันล้านบาท ในจำนวนนี้กว่า 70% เป็นการขอค้ำประกันสินเชื่อ ส่วนที่เหลือเป็นการขอยืดระยะเวลาชำระหนี้ ทั้งนี้ วงเงินค้ำประกันสินเชื่อใหม่ 6 หมื่นล้านบาท ขณะนี้ 4 แบงก์ใหญ่ได้รับเป้าหมายปล่อยสินเชื่อแล้วแห่งละประมาณ 9 พันล้านบาท ส่วนที่เหลือจะเป็นแบงก์ขนาดกลางแห่งละ 7 พันล้านบาท และ แบงก์ขนาดเล็กแห่งละ 5 พันล้านบาท

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image