ส.อ.ท.กระทุ้งศูนย์ต้านเฟคนิวส์ปราบข่าวปลอม’โคโรนา’ หวั่นปชช.หยุดจับจ่าย

ส.อ.ท.จี้ศูนย์ต้านเฟคนิวส์ปราบข่าวปลอมไวรัสโคโรนา หวั่นกระหน่ำศก.ไทย-ปชช.ตื่นหยุดจับจ่าย ชี้วิกฤตรอบนี้หนักกว่าอิหร่านปะทะสหรัฐฯ เล็งถกกกร.ทบทวนจีดีพี63

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาต่อเศรษฐกิจไทย ว่า รู้สึกเป็นกังวลอย่างมากว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยให้ชะลอตัวลง เพราะติดตามปัญหานี้อย่างใกล้ชิด แต่กลับพบว่า ปัจจุบันภาครัฐเน้นดูแลภาพลักษณ์ ความปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน และนักท่องเที่ยว อาทิ การตรวจระบบป้องกันโรคภายในสนามบิน แต่กลับลืมให้ความสำคัญกับการจัดการข่าวปลอม หรือเฟคนิวส์ ทั้งที่มีศูนย์ต้านเฟคนิวส์อยู่แล้ว เพราะปัจจุบันเกิดข่าวปลอมเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรค จนทำให้ประชาชนตั้งคำถามกับสถานการณ์ปัจจุบันว่ารัฐบาลควบคุมได้จริงหรือไม่ หากมีข่าวปลอมเกิดขึ้นต่อเนื่องและประชาชนตื่นกลัว อาจทำให้ประชาชนไม่กล้าออกไปเที่ยว ใช้จ่าย ตามสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะสถานที่ที่นักท่องเที่ยวเข้าใช้บริการ

“อยากเรียกร้องให้ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) เข้ามาจัดการกับปัญหานี้อย่างจริงจัง เพราะบทบาทของภาครัฐในปัจจุบันเน้นแต่การดูแลปลายทาง สร้างความเชื่อมั่นประชาชน แต่ไม่เข้าจัดการต้นตอของปัญหา อาทิ ข่าวปลอมอย่างจริงจัง ยกตัวอย่างไต้หวัน จัดการกับสถานการณ์ไวนัสโคโรนาเด็ดขาดมาก หากพบผู้เผยแพร่ข่าวปลอม จัดปรับทันทีไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท ล่าสุดพบรายการข่าวของไทยพูดหยอกล้อเกี่ยวกับนักท่องเที่ยวจีนว่าเข้าไทยมาแล้ว 5 ล้านคน ทำให้รู้สึกหนักใจมากว่าประชาชนคนไทยจะยิ่งตื่นกลัวหรือไม่”นายสุพันธุ์กล่าว

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยนั้น ล่าสุดประเมินว่าจะกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย(จีดีพี)แน่นอน ซึ่งสถานการณ์ครั้งนี้หนักกว่าปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างอิหร่านและจีน เพราะผลกระทบต่อกับประเทศไทยโดยตรง เนื่องจากเป็นประเทศเป้าหมายของนักท่องเที่ยวจีน โดยเดือนมกราคมที่ผ่านมา คณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ประเมินตัวเลขจีดีพีปีนี้ไว้ที่ 2.7-3.0% แต่จากผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนา อาจทำให้ตัวเลขจีดีพีเปลี่ยนแปลง ดังนั้นวันที่ 5 กมุภาพันธ์นี้ จะมีการประชุมกกร.ประจำเดือนกุมภาพันธ์ จะเสนอให้ต่อที่ประชุมกกร.ให้พิจารณาตัวเลขจีดีพีอีกครั้งว่าจะต้องปรับลดหรือเพิ่มอย่างไรบ้าง และจะประกาศตัวเลขใหม่หรือไม่ ต้องหารือจากที่ประชุมกกร.ก่อน เพราะปกติการพิจารณาจีดีพีจะดำเนินการทุก 3 เดือน คือ หลังจากพิจารณาเดือนมกราคมแล้ว ก็จะพิจารณาเดือนเมษายนอีกครั้ง

Advertisement

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่

เพิ่มเพื่อน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image