‘โครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ’ เปิดรับฟังความคิดเห็นรอบแรก ปชช.เข้าร่วมเพียบ

นายชูชาติ พิพัฒน์ศรัทธา ปลัดอาวุโสอำเภอบางกรวย เปิดเผยในฐานะประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ครั้งที่ 1 โครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม) ระยะที่ 1 เพื่อชี้แจงรายละเอียดของโครงการ และรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนมาจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ว่า พลังงานไฟฟ้านับเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศ ภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิต ภาคการบริการ รวมทั้งการดำเนินชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบันล้วนพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าทั้งสิ้น

นายชูชาติ กล่าวว่า การพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ จำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม กฟผ. ร่วมกับ บริษัทที่ปรึกษา บริษัท ซีคอท จำกัด จึงได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ เพื่อนำเสนอข้อมูลโครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม) ระยะที่ 1 โดยชี้แจงเหตุผลความเป็นมา รายละเอียดของโครงการ รวมถึงเสนอร่างขอบเขต และแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ พร้อมรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และข้อห่วงกังวลของประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อนำไปกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้ครอบคลุมข้อห่วงกังวลของประชาชนในพื้นที่อย่างครบถ้วนต่อไป

นางศรีวรรณ บูรณโชคไพศาล ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงานโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม) ระยะที่ 1 เป็นโครงการที่ถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย 2561-2580 เพื่อเป็นการเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในระยะยาวในเขตนครหลวงและปริมณฑล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องมีกำลังผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ให้เพียงพอต่อความต้องการเพราะหากเกิดเหตุสุดวิสัยอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าได้

Advertisement

ดังนั้น กฟผ. จึงได้พัฒนาโครงการ เพื่อเสริมความมั่นคงและตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น โดยโครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม) ระยะที่ 1 มีกำลังผลิตติดตั้งสูงสุด 830 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ในปี 2571 โดยจะก่อสร้างในบริเวณพื้นที่โรงไฟฟ้าพระนครเหนือปัจจุบัน ที่สำนักงานกลาง กฟผ. อ.บางกรวย จ.นนทบุรี เนื่องจากมีความพร้อมในด้านพื้นที่และระบบส่งไฟฟ้า

นายขรรชัย เกรียงไกรอุดม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีคอท จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้ดำเนินการชี้แจงรายละเอียดโครงการ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งขอบเขตการศึกษาและการประเมินทางเลือกให้ประชาชนได้รับทราบ พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ทั้งส่วนราชการ องค์กรเอกชน สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ รวมทั้งมีการเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นด้วยวาจาในเวทีดังกล่าวด้วย ทั้งนี้บริษัทจะรวบรวมทุกข้อเสนอแนะข้อห่วงกังวลของประชาชนมาจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อไป

สำหรับประชาชนที่เข้าร่วมงานมีความสนใจในประเด็นต่างๆ ดังนี้ เรื่องสุขภาพอยากให้มีการดูแลคุณภาพชีวิตของชุมชนรอบโรงไฟฟ้าให้ดีขึ้น ด้านสิ่งแวดล้อมประชาชนห่วงกังวลเรื่องมลภาวะต่าง ๆ เช่น น้ำที่ปล่อยลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา การดูแลสัตว์น้ำ เสียงในช่วงการก่อสร้าง ฝุ่นละออง มลสารที่ปล่อยจากโรงไฟฟ้า รวมทั้งการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการดำเนินงาน ทั้งในช่วงการก่อสร้างและช่วงดำเนินงาน นอกจากนี้อยากให้มีมาตรการป้องกันเหตุฉุกเฉิน เช่น แผ่นดินไหว เป็นต้น

Advertisement

ทั้งนี้ การประชุมรับฟังความคิดเห็น มีประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ ทั้งส่วนราชการ องค์กรเอกชน สถาบันการศึกษา และสื่อมวลชน เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น จำนวน 772 คน และมีผู้แสดงความคิดเห็นด้วยวาจา จำนวน 18 คน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image