ฮันเดรด เยียร์ส บีทวีน ภาพถ่ายตามรอยเสด็จฯ ร.5 ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน

ฮันเดรด เยียร์ส บีทวีน ภาพถ่ายตามรอยเสด็จฯ ร.5 ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน

เพราะความหลงใหลในประวัติศาสตร์ การเดินทาง และการถ่ายภาพ ทำให้ “ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน” ตัดสินใจออกเดินทางตามรอยรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนราชอาณาจักรนอร์เวย์เมื่อปี พ.ศ.2450 แม้การเดินทางจะห่างกันเกินกว่าศตวรรษหากแต่ภูมิทัศน์ดินแดนไวกิ้งอันแสนงาม ลึกลับและทรงพลัง ยังคงเป็นประจักษ์พยานให้มนุษย์ตระหนักถึงความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติที่ยืนหยัดข้ามกาลเวลา จึงเป็นที่มาของนิทรรศการภาพถ่าย Hundred Years Between ที่จัดแสดงขึ้น ณ ศุลกสถาน (โรงภาษีร้อยชักสาม) ย่านเจริญกรุง ระหว่างวันที่ 1-9 กุมภาพันธ์ ซึ่งถือป็นหนึ่งในไฮไลต์สำคัญของงาน “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563 หรือ Bangkok Design Week 2020”

จากความชอบในการถ่ายภาพและการเดินทางเป็นงานอดิเรก อีกทั้งยังให้ความสนใจในด้านประวัติศาสตร์ของไทย โดยเชื่อว่าการเสด็จพระราชดำเนินเยือนราชอาณาจักรนอร์เวย์ในช่วงปลายพระชนม์ชีพของ “พระพุทธเจ้าหลวง” ในครั้งนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งในทางประวัติศาสตร์ จึงได้ศึกษาค้นคว้าพระราชหัตถเลขาที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงมีถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี พระราชธิดาองค์ที่ 3 ที่ทรงเป็นราชเลขานุการิณีในสมเด็จพระราชบิดา

ในพระราชหัตถเลขาได้เล่าถึงเรื่องราวเมื่อครั้งเสด็จฯ ประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ.2450 โดยเสด็จฯ เยือนประเทศนอร์เวย์เป็นเวลาหนึ่งเดือน ซึ่งเป็นการเล่าทำนองการบันทึกประจำวัน มีทั้งความรู้และเรื่องราวต่างๆ รวมถึงการเสนอแนวพระราชดำริ และพระราชวินิจฉัยส่วนพระองค์ต่อเหตุการณ์มากมาย รวมทั้งสำรวจตรวจสอบภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนออกเดินทางตามเส้นทางธรรมชาติ ชมภูมิทัศน์ที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงร้อยเรียงเรื่องราวผ่านพระอักษร และภาพทรงถ่ายไว้อย่างดีวิเศษยิ่ง

ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน
ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน
ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน
ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน

ท่านผู้หญิงสิริกิติยากล่าวไว้ในจดหมายที่เขียนถึง ในหลวง รัชกาลที่ 5 ความตอนหนึ่งว่า “ข้าพระพุทธเจ้าเติบโตมาในกรอบวัฒนธรรมและห้วงยามประวัติศาสตร์อันต่างจากที่รัชกาลที่ 5 ทรงเจริญวัยขึ้น ดังนั้น แม้ข้าพระพุทธเจ้าจะเดินทางตามเส้นทางเดียวกับที่ใต้ฝ่าพระบาททรงเคยเสด็จพระราชดำเนิน ทว่าบริบทระหว่างการเดินทางทั้งกาลเวลา ตำแหน่งแห่งที่ และมุมมองของผู้มาเยือน ที่ใต้ฝ่าพระบาทเคยทรงพานพบ ย่อมต่างจากที่ข้าพระพุทธเจ้าได้ประสบมา”

Advertisement

“ภูมิทัศน์อันกว้างใหญ่ของนอร์เวย์นั้นน่าเกรงขามยิ่ง บรรยากาศเปี่ยมมนต์ขลังเช่นนี้ ดูราวกับว่าแม่พระธรณีอาจเผยให้เห็นความงดงามหรือความโหดร้ายของธรรมชาติก็ได้ทั้งสองอย่าง แต่ครั้งธรรมชาติแสดงแสนยานุภาพให้เป็นที่ประจักษ์ เราจึงได้ตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ แก่นสารนี้เองที่เชื่อมโยงระหว่างข้าพระพุทธเจ้าและใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท”

“ที่นอร์เวย์นี้ ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกราวกับตัวหดเหลือนิดเดียวเมื่ออยู่ท่ามกลางความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ ที่ข้าพระพุทธเจ้าคิดว่า ช่างมีพลังอำนาจล้นเหลือ จนต้องยอมน้อมรับโดยดุษฎี”

“ข้าพระพุทธเจ้าของพระราชทานพระบรมราชานุญาต ใช้จดหมายและภาพถ่ายเหล่านี้ เพื่อตามหาสายสัมพันธ์ระหว่างประสบการณ์ที่ได้รับจากการเดินทางของข้าพระพุทธเจ้า และการเสด็จประพาสของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทในราชอาณาจักรที่แสนห่างไกลดินแดนมาตุภูมิ ข้าพระพุทธเจ้ามิได้มุ่งหมายจะทำการนี้ในฐานะนักประวัติศาสตร์หรือช่างภาพ แต่ในฐานะผู้สืบเชื้อสายราชวงศ์จักรี หน่อเนื้อเชื้อไขในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท”

Advertisement

โดยนิทรรศการภาพถ่ายครั้งนี้ ท่านผู้หญิงสิริกิติยาได้ใช้กล้องฟิล์มในการบันทึกภาพ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่กลับมาใช้กล้องประเภทนี้อีกครั้ง จากนั้นก็นำมาล้างและปรับสีภาพให้เป็นในลักษณะสีทูโทน โดยมีภาพทั้งหมด 19 ภาพ และจดหมายที่ท่านผู้หญิงสิริกิติยาเขียนถึงรัชกาลที่ 5 จำนวน 4 ฉบับ จัดแสดงใน “ศุลกสถาน” ซึ่งนับเป็น “ครั้งแรก” ที่สาธารณชนจะได้เข้าชมงานนิทรรศการภาพถ่าย ณ อาคารหลังประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ แห่งนี้

“ศุลกสถาน” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “โรงภาษีร้อยชักสาม” (The Custom House) ที่ตัวอาคารถูกออกแบบเป็นศิลปะโรมันคลาสสิกผสมผสานระหว่างนีโอคลาสสิกกับปัลลาดีโอ ถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชการที่ 5 ซึ่งเป็นอาคารที่พระองค์ทรงใช้เป็นที่ประทับพักพระราชอิริยาบถ หลังจากเสด็จฯ กลับจากประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ตั้งตระหง่านอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยามายาวนานกว่า 136 ปี ถือเป็นอาคารเก่าแก่ซึ่งอยู่คู่กับย่านเจริญกรุงริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามายาวนาน และเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรืองทั้งในด้านของเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสถาปัตยกรรมในอดีต ปัจจุบันอาคารแห่งนี้อยู่ระหว่างการบูรณะเพื่อให้เกิดประโยชน์และสร้างคุณค่าสําหรับคนรุ่นหลัง ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการบูรณะถึง 6 ปี และเปิดให้ประชาชนได้เข้าชมเฉพาะช่วงการจัดงานเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563 นี้เท่านั้น

ศุลกสถาน
ศุลกสถาน
ภาพถ่ายของ ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน
ภาพถ่ายของ ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน
ภาพถ่ายของ ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน
ภาพถ่ายของ ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน
ภาพถ่ายของ ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน
ภาพถ่ายของ ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน
ภาพถ่ายของ ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน
ภาพถ่ายของ ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน
ภาพถ่ายของ ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน
ภาพถ่ายของ ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน
ภาพถ่ายของ ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน
ภาพถ่ายของ ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน
ภาพถ่ายของ ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน
ภาพถ่ายของ ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน
ภาพถ่ายของ ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน
ภาพถ่ายของ ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน

ค้นหาร่องรอยแห่งกาลเวลาผ่านภาพถ่ายอันทรงคุณค่า ตามดูร่องรอยอารยธรรมของไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 เรียนรู้และซึมซับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของย่านเจริญกรุงไปพร้อมกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image