‘4 ก.พ.’​ จับตา ‘5 ค่ายมือถือ’​ ยื่นเอกสารประมูลคลื่น 5G ‘นักวิชาการ’​ เชื่อทุกรายมาตามนัด

พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท เปิดเผยว่า วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 แคทจะเข้ายื่นเอกสารเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่เพื่อรองรับ 5G ต่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หลังจากก่อนหน้านี้ เข้ารับเอกสารคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 700, 1800, 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ เพื่อนำมาศึกษารายละเอียด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ประกอบการพิจารณาการเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่

“ที่ผ่านมา แคทมีการประชุมคณะกรรมการบริษัทแล้ว 2 ครั้ง โดยวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นการประชุมคณะกรรมการบริษัทนัดสุดท้าย เพื่อหาข้อสรุปว่าจะเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ย่านใด แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้” พ.อ.สรรพชัย กล่าว

พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ พ.อ.สรรพชัย ประเมินว่า ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์เป็นหลัก เนื่องจากปัจจุบันเริ่มมีผู้ผลิตอุปกรณ์ขึ้นมารองรับแล้ว แต่หากแคทต้องการคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์เช่นเดียวกับโอเปอเรเตอร์รายอื่น จะทำให้เกิดการแข่งขันสูง และแคทต้องมีการขยายเสาสัญญาณจำนวนมาก ทำให้ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น แต่หากเข้าร่วมประมูลในคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นคลื่นความถี่ที่ใกล้เคียงกับคลื่นความถี่ย่าน 850 เมกะเฮิรตซ์ ที่แคทมีอยู่กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค จะช่วยให้ลดการลงทุน ประกอบกับคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ เป็นคลื่นความถี่ที่โอเปอเรเตอร์ทั้งสามรายมีอยู่แล้ว จึงทำให้การแข่งขันด้านราคาไม่สูงเกินไป

นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยด้านโทรคมนาคม ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยว่า คาดว่าวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 โอเปอเรเตอร์ 5 ราย ที่เข้ารับเอกสารคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ สำหรับกิจการโทรคมนาคมก่อนหน้านี้ ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส, บริษัท ทรู มูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) ในเครือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (ดีทีเอ็น) ในเครือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค บริษัท กสท โทรคมนาคมจำกัด (มหาชน) หรือแคท และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) จะเข้ายื่นเอกสารเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่เพื่อรองรับ 5G ต่อ กสทช.

Advertisement

นายสืบศักดิ์ กล่าวว่า 5G น่าจะเป็นเทคโนโลยีที่โอเปอเรเตอร์หมายตา โดยเฉพาะที่มีการปูพรมให้ความรู้เรื่อง 5G ทำให้ปัจจุบันผู้คนมีความตื่นตัวเรื่องเทคโนโลยีพอสมควร แม้อุปกรณ์ในการรองรับจะยังไม่แพร่หลายมากนัก ประกอบกับการเริ่มต้นให้บริการในช่วงแรกทำให้อุปกรณ์มีราคาแพง แต่เชื่อว่าโอเปอเรเตอร์ที่เข้าร่วมการประมูล และมีคลื่นความถี่เพื่อให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ก่อนมีข้อได้เปรียบ ส่วนเรื่องการแข่งขันนั้น ส่วนตัวมองว่า จะเข้มข้นขึ้นเมื่อเปิดให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ ซึ่งอาจเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป

นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยด้านโทรคมนาคม ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

“การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาล ข้อเรียกร้องอย่างหนึ่งของโอเปอเรเตอร์ คือ ต้องการความชัดเจนในเรื่องนี้จากรัฐบาล ดังนั้น ความพยายามในการขับเคลื่อน 5G ของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี โดยเชิญชวนให้โอเปอเรเตอร์เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ครั้งนี้เพื่อช่วยกันพัฒนาประเทศ ถือเป็นการส่งสัญญาณว่า รัฐบาลให้ความสำคัญ และให้ความชัดเจนเรื่องการลงทุน การพัฒนาและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศเป็นวาระแห่งชาติอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นจุดที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับโอเปอเรเตอร์ ทำให้ตัดสินใจที่จะเข้าร่วมการประมูล” นายสืบศักดิ์ กล่าว

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า โอเปอเรเตอร์ 5 ราย ได้แจ้งความประสงค์ขอเข้ายื่นเอกสารเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่เพื่อรองรับ 5G ต่อสำนักงาน กสทช. แล้ว ทั้งนี้ ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด โดยจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติ และประกาศว่าแต่ละรายเข้าร่วมประมูลในย่านความถี่ใดในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563

Advertisement

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image