พิษ ‘ไวรัสอู่ฮั่น’ ศก.โลกทรุดหนัก

Photo AFP

พิษ ‘ไวรัสอู่ฮั่น’ ศก.โลกทรุดหนัก

เพียงเดือนแรกของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในประเทศจีน เศรษฐกิจของทั้งโลกที่เชื่อมโยงต่อเนื่องถึงกันเป็นทอดๆ เริ่มรับรู้ถึงผลสะเทือนในทางลบกันแล้ว ทั้งๆ ที่ยังไม่ถึงระยะ พีคŽ สูงสุดของการแพร่ระบาดของโรคที่ก่อให้เกิดอาการป่วยหนักถึงชีวิตเพราะระบบการทำงานของปอดล้มเหลว ในผู้ติดเชื้อจำนวนหนึ่งด้วยซ้ำไป

แม้ว่าการระบาดส่วนใหญ่จะยังคงอยู่ภายในจีน กระจุกตัวอยู่ที่เมืองอู่ฮั่น และเมืองแวดล้อมในมณฑลหูเป่ย์ เป็นจำนวนมากก็จริง แต่เมื่อทุกอย่างเชื่อมต่อถึงกัน ผลสะเทือนก็กระทบต่อเนื่องเป็นระลอกอย่างช่วยไม่ได้

ตัวอย่างง่ายๆ ที่ให้ภาพของผลกระทบทางลบนี้ เป็นรูปธรรมมากขึ้นก็คือ การที่ผู้ผลิตสุขภัณฑ์ซึ่งออกแบบในเยอรมนี ไม่สามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์ต่อลูกค้าได้ตามกำหนด เหตุผลเป็นเพราะ ฝักบัวŽ หรูระดับ คัสตอมเมดŽ ที่ต้องการยังไม่มีให้ เพราะโรงงานผลิตในเซี่ยงไฮ้ ยังคงปิดทำการต่อเนื่องตามคำสั่งของรัฐบาลจีน

ในสหรัฐอเมริกา หลายต่อหลายกิจการระดับโลก เรียกประชุมวอร์รูมŽ เพื่อวางแผนบริหารจัดการห่วงโซ่ซัพพลายสำหรับการผลิตของบริษัทใหม่หมด เมื่อไม่มีทั้งกิจกรรมการผลิตและการขนส่งในจีน

Advertisement

 

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน
 

แม้แต่ในตะวันออกกลาง ที่ประเทศอย่างซาอุดีอาระเบีย ก็จำเป็นต้องเร่งหาเสียงสนับสนุนเพื่อเรียกประชุม ฉุกเฉินŽ สมาชิกทั้งหมดในกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก (โอเปค) ด้วยความกังวลว่าราคาน้ำมันดิบจะรูดต่ำลงไปอีกอย่างต่อเนื่อง

Advertisement

นั่นคือภาพรวมในเวลานี้ของระบบเศรษฐกิจโลก ที่กำลังตกอยู่ในภาวะปั่นป่วนมาก ยิ่งกว่าเมื่อครั้งที่เกิดการแพร่ระบาดใหญ่ในระดับที่เป็นวิกฤตระหว่างประเทศครั้งหลังสุด คือ การระบาดของ ไวรัสซาร์ส เมื่อปี 2003 ด้วยซ้ำไป

เหตุผลสำคัญเป็นเพราะ นับตั้งแต่สิ้นสุดวิกฤตโรคซาร์สลงเรื่อยมา สัดส่วนของเศรษฐกิจจีนที่มีต่อเศรษฐกิจโลกเพิ่มทวีขึ้นกว่า 4 เท่าตัว เป็นสัดส่วนราวๆ 17 เปอร์เซ็นต์ในเวลานี้

จีนเป็นหลายๆ อย่างให้กับเศรษฐกิจของทั้งโลกในเวลานี้ เป็นตลาดใหญ่ที่สุดสำหรับรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่ผลิตออกมา, เป็นตลาดใหญ่สุดสำหรับเซมิคอนดักเตอร์ของโลก, พร้อมๆ กันนั้นก็เป็นผู้จับจ่ายใช้สอยซื้อหาและบริโภคสารพัดสินค้าในระดับหัวแถวของโลก, เป็นผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่สุดสำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของโลก, เป็นผู้ส่งออกสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปรายใหญ่ที่สุด เป็นผู้ผลิตที่ใหญ่ที่สุดสำหรับคอมพิวเตอร์พีซีและสมาร์ทโฟนไอโฟนด้วยอีกต่างหาก

วอร์วิค แม็คคิบบิน ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (เอเอ็นยู) เชื่อว่า ผลกระทบทางลบที่โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ก่อให้เกิดขึ้นครั้งนี้มีแต่จะมากกว่าที่ ซาร์ส เคยกระทำต่อเศรษฐกิจโลกเมื่อปี 2003 อย่างน้อยที่สุด 3 เท่า อย่างมากที่สุดอาจจะมากกว่าถึง 4 เท่าตัว

เมื่อซาร์ส สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจโลกสูงถึง 40,000 ล้านดอลลาร์เมื่อ 17 ปีก่อน ก็หมายความว่า อำนาจทำลายล้างของโคโรนาไวรัสครั้งนี้ก็อาจสูงได้ถึง 160,000 ล้านดอลลาร์ทีเดียว

แน่นอนว่า จนถึงเวลานี้ ชาติที่ได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงสุด หนี้ไม่พ้นในจีนที่เป็นต้นตอของการแพร่ระบาด ภายใต้คำสั่งเด็ดขาดของรัฐบาล ซึ่งพยายามถึงขีดสุด ที่จะจำกัดการระบาดให้อยู่แต่เฉพาะภายในประเทศ วันหยุดเทศกาลปีใหม่หรือตรุษจีนยังยืดระยะเวลาออกไปอย่างน้อยที่สุดถึง 9 กุมภาพันธ์ บางพื้นที่อาจถึง 13 กุมภาพันธ์ด้วยซ้ำไป

ปัญหาใหญ่ก็คือ หลายมณฑลทางตะวันออกของประเทศที่ตกอยู่ภายใต้คำสั่งนี้ คือพื้นที่ที่สร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจให้กับจีนอย่างน้อยที่สุด มากถึง 2 ใน 3 ของผลผลิตเศรษฐกิจจีนทั้งหมด หนึ่งในจำนวนนั้นคือมหานครเซี่ยงไฮ้และพื้นที่ศูนย์กลางการผลิตของจีนทางตะวันออก

มิเกล แพทริซิโอ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ คราฟท์ ไฮนซ์ ยักษ์ใหญ่ในวงการอาหารของโลก ซึ่งว่าจ้างพนักงานอยู่ 2-3 พันคนในจีน รวมทั้งทีมขายที่อยู่ในอู่ฮั่น ใจกลางการระบาด ชี้ว่า ที่อันตรายที่สุดคือกรณีที่สถานการณ์นี้ยืดเยื้อออกไปยาวนาน ทุกคนได้แต่อยู่กับบ้าน กิจการทั้งหมดก็จะเริ่มมีปัญหาในแง่ของการกระจายสินค้าและการผลิต

แน่นอนความหวังเดียวในเวลานี้ก็คือ ภาวนาให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายสามารถยับยั้งการแพร่ระบาดลงให้ได้เร็วที่สุด ตราบเท่าที่ยารักษาและวัคซีนยังคงอยู่ห่างไกลอีกหลายต่อหลายเดือน
แต่บทเรียนในอดีตจากกรณีการแพร่ระบาดของซาร์ส ที่เป็นไวรัสในตระกูลโคโรนาเช่นเดียวกัน ความหวังที่ว่านี้ไม่น่าจะเป็นจริงได้ในเร็ววัน

ซาร์ส เริ่มต้นการระบาดปลายปี 2002 ถูกองค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสุขอนามัยของโลกในเดือนมีนาคม 2003 และยืดเยื้อออกไปกว่าจะมีการประกาศว่าสามารถยับยั้งได้แล้วก็ในอีก 5 เดือนต่อมา คือในเดือนกรกฎาคมปี 2003

หากเป็นเช่นนั้น การประเมินในภาพรวมทั้งหมดก็อาจจะยังเร็วเกินไป แต่ในระยะสั้นๆ นี้ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจเห็นตรงกันว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดที่เริ่มต้นในช่วงเทศกาลใช้จ่ายสำคัญ ทั้งส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่และเทศกาลตรุษจีน ได้ทำให้ระดับการบริโภคในช่วงสูงสุดของไตรมาสแรกของปี พังไปเรียบร้อยแล้ว

ไตรมาสสุดท้ายของปี 2019 เศรษฐกิจจีนขยายตัว 6 ปอร์เซ็นต์ ทีมวิจัยของบลูมเบิร์ก อีโคโนมิคส์ ประเมินเอาไว้ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปี 2020 จะหลงเหลือเพียง 4.5 เปอร์เซ็นต์ ต่ำที่สุดนับตั้งแต่มีการรายงานรายไตรมาสมาในปี 1992 เลยทีเดียว

หากปัญหายังมีต่อเนื่อง สายการบินต่างๆ ยังคงไม่เดินทางไปจีนถี่ยิบเหมือนก่อนหน้านี้ ไม่ใช่เพราะกลัวเชื้อไวรัสแต่เพราะไม่มีผู้โดยสารที่กลัวเชื้อไวรัส, การผลิตยังคงทรุดตัวลงทั้งจากปัญหาไม่มีออเดอร์ และการลงทุนยังคงชะลอตัวเพราะความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น

ฉาง ซู่ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจในเอเชียของบลูมเบิร์กอีโคโนมิคส์ เชื่อว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบมากขึ้นและส่งผลต่อเนื่องออกไปยัง ฮ่องกง ต่อด้วยเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น กับเยอรมนี

จีดีพีของญี่ปุ่นกับเยอรมนี อาจกระทบลดลง 0.2 เปอร์เซ็นต์ ส่วนสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรจะลดลง 0.1 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่มีเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับจีนอยู่ในเวลานี้

นี่เป็นส่วนหนึ่งจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image