ผลลัพธ์สังคมเหลื่อมล้ำ เปิดผลสำรวจครั้งแรก “คนไร้บ้าน”

ผลลัพธ์สังคมเหลื่อมล้ำ เปิดผลสำรวจครั้งแรก “คนไร้บ้าน”

ถูกมองเป็นตัวปัญหาของสังคม ใช้ชีวิตตามที่สาธารณะจนทำให้ภาพลักษณ์บ้านเมืองเสื่อมเสีย ทว่าหากพิจารณาถึงที่มาที่ไปแล้ว “คนไร้บ้าน” เป็นเพียงผลลัพธ์หนึ่งของสภาพสังคมและเศรษฐกิจ จะด้วยความกดดัน เครียดจากความยากจน ถูกกระทำความรุนแรง ไร้การเหลียวแลจากครอบครัว และเข้าไม่ถึงสิทธิและบริการของรัฐ

 

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน
 

ที่ผ่านมามีความพยายามแก้ปัญหาคนไร้บ้าน ตั้งแต่การออกจัดระเบียบตามพื้นที่ต่างๆ นำคนไร้บ้านมาคุ้มครองในศูนย์ รวมถึงการออกมาตรการ และคิดค้นนวัตกรรมเพื่อคนไร้บ้านต่างๆ แต่ยังไม่สนองตอบปัญหาสักเท่าไหร่ จึงเป็นที่มาของงาน “เวทีเสวนาสาธารณะผลการสำรวจแจงนับคนไร้บ้านสู่การขยายผลเชิงปฏิบัติการและนโยบาย” จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และภาคีเครือข่าย ณ กระทรวง พม. สะพานขาว กรุงเทพฯ

Advertisement

นายสุทธิ จันทรวงษ์ อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กล่าวเปิดงานว่า รัฐบาลให้ความสำคัญการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างแท้จริงและยั่งยืนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม หนึ่งในนั้นคือเรื่องคนไร้บ้าน ทั้งนี้ พม.โดย พส.ร่วมกับ สสส.และภาคีเครือข่าย 9 องค์กร ได้ทำเอ็มโอยูเพื่อสำรวจสถานการณ์คนไร้บ้านทั่วประเทศไปเมื่อเดือนเมษายน 2562 ก่อนได้ทำการสำรวจระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงกรกฎาคม 2562 จนสรุปและเผยแพร่ผลสำรวจในงานนี้ ฉะนั้น เมื่อมีการสำรวจข้อมูลคนไร้บ้านที่ทำให้ได้รู้สถานการณ์ที่แท้จริง ตั้งแต่ปัญหา ความต้องการ สภาพความเป็นอยู่ ก็จำเป็นที่จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายป้องกันปัญหา เพิ่มการเข้าถึงสิทธิและบริการของรัฐ และทำการฟื้นฟูชีวิตคนไร้บ้านให้เป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น

นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดการแผนงานพัฒนาองค์ความรู้คนไร้บ้านฯ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงผลการสำรวจว่า การสำรวจนี้ใช้วิธีการแจงนับ (Counting) หรือการสำรวจแต่ละพื้นที่ในคืนเดียว เพื่อลดความเสี่ยงการนับซ้ำคนไร้บ้าน ซึ่งเป็นวิธีการนับคนไร้บ้านในหลายเมืองทั่วโลก อาทิ ซานฟรานซิสโก ชิคาโก ซีแอตเติล ปารีส ขณะที่ประเทศไทยเพิ่งมีการสำรวจแจงนับคนไร้บ้านเป็นข้อมูลระดับประเทศครั้งนี้ครั้งแรก ใช้ผู้เก็บข้อมูลมากกว่า 500 คน โดยจากผลการแจงนับทั้ง 77 จังหวัด พบคนไร้บ้านทั้งสิ้น 2,719 คน แบ่งเป็นเพศชาย ร้อยละ 86 และเพศหญิง ร้อยละ 14 นอกจากนี้พบคนไร้บ้านพิการ ร้อยละ 4 และคนไร้บ้านมีปัญหาสุขภาพจิต ร้อยละ 7.60

ทั้งนี้ คนไร้บ้านส่วนใหญ่กระจุกตัวในกรุงเทพฯ ร้อยละ 38 รองลงมา จังหวัดนครราชสีมา ร้อยละ 5, เชียงใหม่และสงขลา ร้อยละ 4, ชลบุรี และขอนแก่น ร้อยละ 3

Advertisement

“เป็นที่น่าสนใจว่าการสำรวจครั้งนี้ เราพบคนไร้บ้านเกิดขึ้นในทุกจังหวัด ทุกพื้นที่ อย่างเมืองสงบๆ ห่างไกลๆ อย่างอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน สะท้อนปัญหาคนไร้บ้านไม่ได้อยู่แต่ในเมืองใหญ่เท่านั้น แต่เพราะคนมีความเปราะบางมากขึ้น ความเปราะบางได้ขยายจากเมืองใหญ่สู่เมืองเล็กแล้ว”

งานสำรวจพบอีกว่า คนไร้บ้านส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 40-59 ปี หรือเรียกว่าวัยแรงงานตอนปลาย ร้อยละ 57 รองลงมาคือ วัยสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 18 ซึ่งในส่วนคนไร้บ้านสูงอายุ ยังพบว่ามีสัดส่วนการอยู่คนเดียวถึงร้อยละ 60 มากกว่าคนไร้บ้านกลุ่มอื่นอย่างเห็นได้ชัด “สะท้อนให้เห็นถึงการไม่มีที่พึ่งพิง ขณะที่คนไร้บ้านทั่วไปอยู่โดดเดี่ยว ร้อยละ 53 และอยู่เป็นกลุ่ม ร้อยละ 48”

“แต่ละปีมีคนไร้บ้านเสียชีวิตสูง เพราะคนไร้บ้านจะมีอายุสั้นกว่าคนปกติถึง 15 ปี คือคนไร้บ้านมีอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ย 60 ปี จากคนทั่วไปมีอัตราเสียชีวิตเฉลี่ย 75 ปี” นายอนรรฆกล่าว

ขณะที่ นายสุชิน เอี่ยมอินทร์ นายกสมาคมคนไร้บ้าน หนึ่งในภาคีร่วมสำรวจ กล่าวว่า เราพบความต้องการของคนไร้บ้าน ส่วนใหญ่คือการอยากมีพื้นที่ปลอดภัย หรือบ้านกลาง ที่สามารถเข้าไปนอนตอนกลางคืน แล้วตอนกลางวันสามารถเลือกออกไปใช้ชีวิต หรือเลือกอยู่พัฒนาศักยภาพทางอาชีพ สร้างรายได้เล็กๆ น้อยๆ ได้ ซึ่งความต้องการนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้กับศูนย์คุ้มครองของรัฐที่มีระเบียบเข้าออกเคร่งครัด เช่นเดียวกันกับมาตรการที่จะหาบ้านราคาถูกให้คนไร้บ้าน เราไม่ต้องการ เพราะส่วนใหญ่คนไร้บ้านอายุมากแล้ว เราไม่ต้องการมีภาระระยะยาว แค่ต้องการที่พักอาศัยที่มีอิสระ อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจได้แสดงให้เห็นถึงความต้องการคนไร้บ้าน ก็อยากให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้นำไปผลักดันในเชิงนโยบายต่อไป

ปัจจุบันคนไร้บ้านเริ่มได้รับการตอบสนองความต้องการบ้างแล้ว ผ่านการจัดตั้ง “ศูนย์พักคนไร้บ้าน” ใน 3 แห่ง ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น และปทุมธานี ถือเป็นนวัตกรรมแก้ปัญหาคนไร้บ้านรูปแบบใหม่ ที่รัฐโดย พอช.จัดงบให้ก่อสร้าง บริหารจัดการ และพัฒนา ภายใต้การขับเคลื่อนดูแลโดยคนไร้บ้านด้วยกันเอง ซึ่งสุชินอยากให้หน่วยงานรัฐอื่นๆ มาร่วมพัฒนาด้านอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ ภายในงานยังเสนอให้มีการสำรวจแจงนับคนไร้บ้านทุก 5 ปี เพื่อให้เห็นความเปลี่ยนแปลงทางประชากรไร้บ้าน เพราะเหล่านี้นอกจากจะทราบสภาพปัญหาที่ถูกต้องแล้ว ยังเป็นการสะท้อนสภาพความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ สะท้อนประสิทธิภาพของรัฐ เหมือนในหลายๆ ประเทศที่จัดทำแบบนี้ตลอด

และ นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า สสส.มีความมุ่งมั่นให้คนไร้บ้านได้ลุกขึ้นช่วยเหลือตัวเองได้ จึงสนับสนุนให้เกิดการแจงนับดังกล่าว ซึ่งเมื่อได้ผลแจงนับมาแล้ว เราจะนำข้อเท็จจริงมาพูดคุยกัน ในการออกมาตรการที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน สสส.มุ่งทำงาน 2 แนวทางคือ ในจังหวัดที่มีจำนวนคนไร้บ้านมาก เน้นการขยายผลนวัตกรรมศูนย์พักคนไร้บ้าน ส่วนจังหวัดที่มีจำนวนคนไร้บ้านไม่มาก สสส.จะร่วมกับภาคีเครือข่าย พัฒนาชุดเครื่องมือและกระบวนการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านโดยท้องถิ่น เพื่อให้หน่วยงานท้องถิ่นสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ของตนได้ต่อไป

เพราะคนไร้บ้าน ไม่ไร้หัวใจ

สุทธิ จันทรวงษ์
สุทธิ จันทรวงษ์
ภรณี ภู่ประเสริฐ
ภรณี ภู่ประเสริฐ
สุชิน เอี่ยมอินทร์
สุชิน เอี่ยมอินทร์
อนรรฆ พิทักษ์ธานิน
อนรรฆ พิทักษ์ธานิน
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image