หุ้นไทยปิดพุ่ง บวก 23.32 จุด เด้งขึ้นหลังดิ่งแรงทำจุดต่ำสุดรอบ 3 ปีกว่า

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานภาวะหุ้นวันนี้ว่า หุ้นเคลื่อนไหวในแดนบวก โดยเปิดตลาดภาคเช้ามาที่ระดับ1,513.26 จุด ปิดตลาดภาคเช้าระดับ 1,508.47 จุด ก่อนปิดตลาดภาคบ่ายที่ระดับ 1,519.38 ปรับเพิ่มขึ้น 23.32 จุด หรือ1.56% โดยดัชนีทำจุดสูงสุดที่ระดับ 1,520.10 จุด และทำจุดต่ำสุดที่ระดับ 1,499.21 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขายที่58,698.59 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น นักลงทุนสถาบันในประเทศ ซื้อสุทธิ 1,898.35 ล้านบาท นักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ขายสุทธิ 8.73 ล้านบาท นักลงทุนต่างประเทศ ซื้อสุทธิ 450.45 ล้านบาท นักลงทุนทั่วไปในประเทศ ขายสุทธิ2,340.07 ล้านบาท

โดยนายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยปิดปรับตัวขึ้นมากว่า 1% ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเดียวกันที่ปิดลงในแดนบวกปรับขึ้นมาประมาณ 1% ไม่แตกต่างกัน โดยสาเหตุหลักคาดว่ามาจากการดีดตัวขึ้น (รีบาวด์) ของดัชนีหุ้นไทย หลังจากในช่วงที่ผ่านมาได้รับผบกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื่อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่ส่งผลทำให้ดัชนีปรับลดลงค่อนข้างลึก ซึ่งการที่ดัชนีหุ้นปรับลงลึกๆ ก็มีโอกาสดีดตัวขึ้นได้เหมือนครั้งนี้ โดยแม้ว่าการแพร่เชื้อไวรัสโคโรนาจะยังไม่ยุติลง แต่ก็มีภาพในเชิงบวกเพิ่มขึ้น

โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยยังได้ปัจจัยบวกจากในประเทศเข้ามาสนับสนุนให้ปรับขึ้น คือ การที่ภาครัฐได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านภาษีต่างๆ ออกมา แม้อาจจะประเมินแล้วไม่ได้ตรงจุดมากนัก โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยวที่มาตรการทางภาษี หรือการกระตุ้นให้มีการจัดสัมมนาในประเทศมากขึ้น ดูจะไม่ได้ช่วยอัดฉีดให้ภาคการท่องเที่ยวแบบแรงๆ อย่างที่คาดหวังไว้ แต่ก็ดีกว่าไม่ได้มีมาตรการอะไรออกมาเลยนายวิจิตรกล่าว

นายวิจิตรกล่าวว่า สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้คือ การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์นี้ ว่าจะมีมติในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงหรือไม่ ซึ่งเฉลี่ยแล้วตลาดประมาณ 55% คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ตามเดิมที่ระดับ 1.25% ส่วนที่เหลือยังมีหวังว่า จะมีการปรับลดดอกเบี้ยลง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศไทย เนื่องจากตั้งแต่เดือนแรกของปี 2563 มีเหตุการณ์เหนือความคาดหมายเข้ามาค่อนข้างมากโดยเฉพาะงบประมาณประจำปี 2563 ที่ยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้ หลังจากที่หลายฝ่ายคาดว่าจะไม่ล่าช้าออกไปมากกว่านี้แล้ว รวมถึงการแพร่ระบาดของไวรัส ที่อาจจะเข้ามาซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจไทย หากไม่มีการเร่งดระตุ้นในช่วงสั้นๆ จากนี้ต่อไป โดยหากรอบนี้ยังไม่มีการปรับลดดอกเบี้ยลง ในการประชุมครั้งถัดไปวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 คาดว่ามีโอกาสที่จะปรับลดเอกเบี้ยลงได้ เนื่องจากบล.เมย์แบงก์เชื่อว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 มีโอกาสที่กนง.จะปรับลดดอกเบี้ยลง 1 ครั้ง ที่ 0.25% ได้ รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ที่ปรับลดลงติดต่อกัน 10 เดือนติด ซึ่งต้องจับตามองว่าจะมีการปรับตัวขึ้นมาได้บ้างหรือ แต่ภาวะภัยแล้งที่สร้างผลกระทบกับสินค้าเกษตร และการบริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัว อาจเป็นจุดสะท้อนให้ดัชนีความเชื่อมั่นไม่สามารถปรับขึ้นมาได้

Advertisement

นายวิจิตรกล่าวว่า ในส่วนของปัจจัยต่างประเทศ เป็นเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา และองค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก (โอเปก) ว่าจะมีการเร่งประชุมขึ้นมาในเดือนกุมภาพันธ์หรือไม่ หลังจากที่แผนการประชุมครั้งต่อไปจะอยู่ในเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งแน่นอนว่าหากมีการเลื่อนการประชุมขึ้นในเดือนนี้ ก็มีโอกาสที่จะปรับลดกำลังการผลิตลงอีกครั้ง หลังจากราคาน้ำมันปรับลดลงค่อนข้างลึก เพราะได้รับผลกระทบจากโรคระบาดเช่นกัน ด้านกลยุทธ์ที่แนะนำในการลงทุน เนื่องจากตลาดปรับขึ้นมาค่อนข้างแรง จึงคาดว่าในระยะต่อไปดัชนีจะแกว่งตัวไซย์เวย์ออกด้านข้าง ทำให้ต้องเน้นลงทุนในหุ้นที่ได้อานิสงค์จากอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพราะแม้กนง.จะไม่ลดดอกเบี้นลง แต่ขณะนี้ก็ถือว่าดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำแล้ว รวมถึงหุ้นพื้นฐานดีและคาดว่ากำไรจะดี โดยคาดว่าดัชนีหุ้นจะมีจังหวะในการพักตัว จึงให้แนวรับที่ระดับ 1,510 จุด แนวต้าน 1,525 จุด

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่

เพิ่มเพื่อน

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image