ค่าพลังงาน-อาหารแพง ดันเงินเฟ้อม.ค.สูงสุด8เดือน ทุกภาควิตกการแพร่ของโคโรนา (ชมคลิป)

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนมกราคม 2563 เทียบกับมกราคม 2562 สูงขึ้น 1.05 % เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันในอัตราสูงสุดในรอบ 8 เดือน และกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของประเทศอีกครั้ง สาเหตุจากการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของหมวดอาหารสดและการกลับมาขยายตัวอีกครั้งในรอบ 9 เดือนของหมวดพลังงาน ขณะที่หมวดอื่นยังเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ ส่วน เงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน) เพิ่มขึ้น 0.47% ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจาก 0.49 ในเดือนก่อนหน้า

ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของหมวดอาหารสด เป็นไปตามสถานการณ์ทั้งอุปสงค์และอุปทานในประเทศ โดยราคาผักสดลดลงเนื่องจากปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาผลไม้ ไข่ และเนื้อสัตว์ เพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งในปีนี้เร็วขึ้นและตรงกับปลายเดือนมกราคม ขณะที่การเพิ่มขึ้นของหมวดพลังงาน เป็นไปตามสถานการณ์ราคาพลังงานโลกที่เริ่มทรงตัวและอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน อีกส่วนหนึ่งมาจากผลของมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ช่วยเพิ่มรายได้ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยเพิ่มการบริโภคช่วงที่ผ่านมา สะท้อนจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตรสำคัญเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเฉพาะข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน กุ้ง ปศุสัตว์ รวมถึงการขยายตัวของรายได้จากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)ที่เก็บจากการบริโภคในประเทศต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของดัชนีอุปโภคบริโภคภาคเอกชน รวมทั้งการกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 6 เดือนของดัชนีการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างในประเทศ ชี้ว่าแรงขับเคลื่อนเงินเฟ้อในเดือนนี้ ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยด้านอุปสงค์ของประเทศ ซึ่งเป็นสัญญานที่ดีต่อการบริหารและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ให้มีเสถียรภาพภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า ตัวชี้วัดด้านอุปสงค์การลงทุน อาทิ การจำหน่ายปูนซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์เหล็ก รถยนต์เชิงพาณิชย์ รถจักรยานยนต์ ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง และมูลค่าธุรกรรมอสังหายังลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งน่าจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการชะลอตัวของการลงทุนภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่น่าจะส่งผลต่อการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในช่วง 2 ไตรมาสแรก แต่คาดว่าปัจจัยเหล่านี้น่าจะปรับตัวได้ดีขึ้นในระยะต่อไป โดยภาครัฐน่าจะสามารถลงทุนและเบิกจ่ายงบประมาณได้อย่างเต็มที่ตามแผน และหากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีเสถียรภาพมากขึ้นก็น่าจะสนับสนุนให้การลงทุนของภาคเอกชนขยายตัวได้ดีขึ้น จะช่วยเพิ่มอุปสงค์และกำลังซื้อในประเทศ ทำให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่เอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจได้ดีอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ลงลึกในรายละเอียด พบว่า เงินเฟ้อทั่วไปเดือนมกราคม 2563 สูงขึ้น 1.05 % ตามการสูงขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 1.82 % จากข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง 8.31% โดยเฉพาะข้าวสารเหนียวที่มีปริมาณผลผลิตน้อย ขณะที่ความต้องการยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ สูงขึ้น 3.53% ผลไม้ (ส้มเขียวหวาน ฝรั่ง กล้วยน้ำว้า) สูงขึ้น 3.50% จากความต้องการที่มีมากในช่วงเทศกาลตรุษจีน ไข่และผลิตภัณฑ์นม (ไข่ไก่ นมสด ไข่เป็ด) สูงขึ้น 1.52% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (น้ำอัดลม น้ำหวาน เครื่องดื่มรสช็อกโกแลต) สูงขึ้น1.95% จากการปรับภาษีในกลุ่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลผสมเมื่อตุลาคมที่ผ่านมา เครื่องประกอบอาหาร (มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) น้ำปลา เกลือป่น) สูงขึ้น 0.80% อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน สูงขึ้น 0.65% และ 0.24 % ตามลำดับ ขณะที่ผักสด (ผักกาดขาว ผักชี มะนาว มะเขือเทศ พริกสด) ลดลง5.42% เนื่องจากผลผลิตมากขึ้นตามสภาพอากาศที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 0.62% ตามการสูงขึ้นของหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร 1.26% จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง สูงขึ้น 2.37% และค่าโดยสารสาธารณะ สูงขึ้น 5.89 % รวมทั้งค่าบริการบำรุงรักษายานยนต์ สูงขึ้น 1.01%

Advertisement

ส่วนหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า (กางเกงขายาวสตรี เสื้อเชิ้ต รองเท้าหุ้มส้นหนังบุรุษ) สูงขึ้น0.16% หมวดเคหสถาน (ค่าเช่าบ้าน ไม้กวาด น้ำยาล้างจาน) สูงขึ้น 0.15% หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล (โฟมล้างหน้า ค่าแต่งผมชาย น้ำยาระงับกลิ่นกาย) สูงขึ้น 0.21% หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ (ค่าเดินทางไปเยี่ยมญาติและทำบุญ ค่าเล่าเรียน-ค่าธรรมเนียมการศึกษา) สูงขึ้น 0.76% ขณะที่หมวดการสื่อสาร (เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ) ลดลง 0.05% หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ (เบียร์ ไวน์) ลดลง 0.02%

ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนมกราคม 2563 สูงขึ้น 0.8 % กลับมาขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 8 เดือน ตามการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของหมวดผลผลิตเกษตรกรรม 7.2% ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลง 0.4% โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ และแร่ (ตะกั่ว สังกะสี ดีบุก วุลแฟรม) โดยมีเหตุผลสำคัญจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว สำหรับหมวดผลผลิตอุตสาหกรรม ดัชนีราคาเฉลี่ยไม่มีการเปลี่ยนแปลง สินค้าสำคัญที่มีราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ทองคำ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว รวมทั้งผลปาล์มสดที่ปรับตัวสูงขึ้นตามมาตรการภาครัฐที่สนับสนุนการนำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าและการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (บี 7 บี 10 และบี 20) กลุ่มสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เนื้อสุกร ไก่สด สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ สายไฟ สายเคเบิล และแบตเตอรี่ จากราคาวัตถุดิบที่ลดลง และอุปทานมีปริมาณมาก กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กแท่ง เหล็กแผ่น เหล็กเส้นและเหล็กฉาก ลดลงตามราคาตลาดโลกและมีการแข่งขันสูงจากเหล็กนำเข้า ส่วนดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ลดลง 1.7 % จากการลดลงของหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก 8.5% ที่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เพิ่มขึ้น 0.4 %

” ดัชนีความเชื่อมั่นในรายกลุ่มอาชีพและภาคอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ในทุกภาค/อาชีพ คาดว่าสาเหตุหลักน่าจะมาจากความกังวลต่อสถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่และสถานการณ์โลกที่ค่อนข้างผันผวนในช่วงที่ผ่านมา ” นางสาวพิมพ์ชนก กล่าว

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า แนวโน้มปี 2563 สถานการณ์ด้านราคาในปีนี้น่าจะเคลื่อนไหวในทิศทางที่สูงกว่าปีก่อน โดยอาหารสดและน้ำมันจะยังเป็นตัวแปรสำคัญที่กำหนดเงินเฟ้อ โดยราคาน้ำมันมีแนวโน้มทรงตัวในระดับนี้ตลอดทั้งปี ทำให้มีอิทธิพลเชิงบวกในช่วงไตรมาสแรกของปี และจะมีอิทธิพลเชิงลบมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่เหลือ โดยเฉพาะไตรมาส 2 และ 3 ขณะที่ราคาอาหารสดน่าจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่องตามแนวโน้มสภาพอากาศที่กระทบต่อผลผลิต สำหรับราคาสินค้าและบริการในหมวดอื่น ๆ น่าจะยังคงเคลื่อนไหวในระดับปกติ และมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยตามปัจจัยด้านการลงทุนภาคเอกชน การส่งออก และการใช้จ่ายภาครัฐที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น

“คาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการช่วยเหลือ และโครงการลงทุนต่างๆ ที่ภาครัฐได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง น่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้อุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าเงินเฟ้อทั้งปี 2563 จะเคลื่อนไหวที่ 0.4 – 1.2% ” นางสาวพิมพ์ชนก กล่าว

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image