เทียบฟอร์ม 5 คู่แข่ง ลุ้นเข้าวิน 5Gž

เทียบฟอร์ม 5 คู่แข่ง
ลุ้นเข้าวิน 5Gž
 

ครั้งแรกของการมาเยือนสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ผู้ดูแลกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในการประชุมแนวนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วย 5G ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณว่า รัฐบาลมีความพยายามผลักดันเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ

โดย กสทช.Ž จะเปิดประมูลคลื่นความถี่เพื่อรองรับ 5G ใน 4 ย่าน ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 700, 1800, 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ รวม 56 ใบอนุญาต มูลค่า 160,577 ล้านบาท แบ่งเป็น คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 3 ชุด ชุดละ 5 เมกะเฮิรตซ์ รวม 15 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 8,792 ล้านบาท ขั้นราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 440 ล้านบาท โดยผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 2,637.6 ล้านบาท ขณะที่การชำระเงินค่าประมูลแบ่งเป็น 10 งวด งวดละ 10% กรณีไม่ชำระค่าประมูลคิดค่าปรับ 1,319 ล้านบาทต่อชุด

ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 7 ชุด ชุดละ 5 เมกะเฮิรตซ์ รวม 35 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 12,486 ล้านบาท ขั้นราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 25 ล้านบาท โดยผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 4,994.4 ล้านบาท ขณะที่การชำระเงินค่าประมูลแบ่งเป็น 3 งวด งวดที่ 1 ชำระ 50% ของราคาที่ชนะการประมูล งวดที่ 2 ชำระ 25% ของราคาที่ชนะการประมูล งวดที่ 3 ชำระ 25% ของราคาที่ชนะการประมูล กรณีไม่ชำระค่าประมูลคิดค่าปรับ 1,873 ล้านบาทต่อชุด ทั้งนี้ ผู้ชนะการประมูลต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 40% ของประชากรใน 4 ปี และครอบคลุม 50% ของประชากรใน 8 ปี

Advertisement

ขณะที่คลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 19 ชุด ชุดละ 10 เมกะเฮิรตซ์ รวม 190 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 1,862 ล้านบาท ขั้นราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 93 ล้านบาท โดยผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 1,862 ล้านบาท ขณะที่การชำระเงินค่าประมูลแบ่งเป็น 7 งวด โดยงวดที่ 1 ชำระ 10% ของราคาที่ชนะการประมูล งวดที่ 2-7 (ปีที่ 5-10) ชำระ 15% ของราคาที่ชนะการประมูล กรณีไม่ชำระค่าประมูลคิดค่าปรับ 280 ล้านบาทต่อชุด ทั้งนี้ ผู้ชนะการประมูลต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 50% ของพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ใน 1 ปี และครอบคลุม 50% ของจำนวนประชากรของสมาร์ทซิตี้ใน 4 ปีและคลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ จำนวน 27 ชุด ชุดละ 100 เมกะเฮิรตซ์ รวม 2700 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 423 ล้านบาท ขั้นราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 22 ล้านบาท โดยผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 507.6 ล้านบาท โดยกำหนดการชำระเงินค่าประมูลงวดเดียว 100% ใน 1 ปีหลังการประมูล กรณีไม่ชำระค่าประมูลคิดค่าปรับ 64 ล้านบาทต่อชุดมีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) รวม 5 ราย เข้ายื่นคำขอรับใบอนุญาต เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส, บริษัท ทรู มูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (ดีทีเอ็น) ในเครือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)

ก่อนเข้าสู่ช่วงห้ามเปิดเผยรายละเอียดในการเข้าประมูล (ไซเรนพีเรียด) นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ประเมินว่า จะมีรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่เข้ารัฐกว่า 70,000 ล้านบาท จากการประมูลไม่ต่ำกว่า 30 ใบอนุญาต แบ่งเป็น คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 3 ใบอนุญาต, คลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 19 ใบอนุญาต และคลื่น 26 กิกะเฮิรตซ์ มากกว่า 4-5 ใบอนุญาต จากหน้านี้ที่คาดการณ์ว่าจะมีรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่เข้ารัฐ 54,654 ล้านบาท จากการประมูล 25 ใบอนุญาต แบ่งเป็น คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 2 ใบอนุญาต, คลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 19 ใบอนุญาต และคลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ จำนวน 4 ใบอนุญาต

Advertisement

คาดว่าความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ จะมีการแข่งขันกันดุเดือด เนื่องจากมีโอเปอเรเตอร์ให้ความสนใจเกินจำนวนใบอนุญาตที่นำออกประมูล ที่จะดุเดือดรองลงมาคือ คลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ เพราะโอเปอเรเตอร์ทุกรายให้ความสนใจ แต่จะมีเพียง 2 หรือ 3 ราย ที่จะได้ใบอนุญาต เพราะประสิทธิภาพในการทำ 5G ได้ทันทีต้องมีปริมาณคลื่นความถี่ย่านดังกล่าว จำนวน 60 เมกะเฮิรตซ์ขึ้นไป ดังนั้น อาจจะมีผู้ที่ได้รับใบอนุญาต 2 แบบ ได้แก่ มีผู้ชนะ 2 ราย คือประมูลได้ 10 ใบอนุญาต กับ 9 ใบอนุญาต หรือมีผู้ชนะ 3 ราย คือ ได้ใบอนุญาต 6, 6 และ 7 ใบอนุญาตŽ นายฐากรระบุและเมื่อเทียบฟอร์มผลประกอบการปี 2562 ของแต่ละโอเปอเรเตอร์ โดยเริ่มจาก 2 รัฐวิสาหกิจ ได้แก่ แคท โดย พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ระบุว่า แคทมีรายได้รวมอยู่ที่ 80,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 40,000 ล้านบาท แบ่งเป็นกำไรจากการดำเนินงานประมาณ 2,400 ล้านบาท และกำไรพิเศษจากการยุติข้อพิพาทเสาโทรคมนาคมกับคู่สัญญาสัมปทานดีแทคประมาณ 8,000-9,000 ล้านบาท รวมถึงการปรับปรุงรายการทางบัญชีกรณีศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้องคดีที่ทีโอทีฟ้องเรียกร้องค่าเชื่อมโยงโครงข่ายโทรคมนาคม ประมาณ 40,000 ล้านบาท

ฟาก ทีโอทีŽ โดย นายพิพัฒน์ ขันทอง กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ เผยว่า ทีโอทีมีรายได้ 67,847 ล้านบาท กำไรก่อนหักภาษี (EBIDA) 12,152 ล้านบาท มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,896 ล้านบาท
ขณะที่ โอเปอเรเตอร์ภาคเอกชน อย่างดีแทค มีรายได้จากการให้บริการ (ไม่รวมค่าไอซี) อยู่ที่ 62,100 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 1.6% กำไรก่อนหักภาษี (EBIDA) อยู่ที่ 25,700 ล้านบาท ลดลง 9.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน กำไรสุทธิ อยู่ที่ 5,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 69.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน

ส่วนเอไอเอส ซึ่งครองส่วนแบ่งการตลาด อันดับ 1 มีรายได้รวมอยู่ที่ 183,432 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% จากปีก่อน ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 31,051 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.6% จากปีก่อน โดยมีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นกว่า 844,600 ราย โดยปัจจุบันมีจำนวนลูกค้าโทรศัพท์มือถือมากที่สุดในตลาดอยู่ที่ 42 ล้านเลขหมาย และมีแนวโน้มของลูกค้าเติมเงินที่เปลี่ยนไปใช้บริการระบบรายเดือน โดยมีสัดส่วนลูกค้าระบบรายเดือนเพิ่มขึ้นจาก 20% ในปี 2561 อยู่ที่ 22% ในปี 2562 ขณะที่การใช้งานระบบ 4G ยังเติบโตต่อเนื่อง โดยในปี 2562 มีลูกค้าที่ใช้งาน 4G เพิ่มขึ้นเป็น 71% เทียบกับ 59% จากปี 2561 โดยลูกค้าใช้ปริมาณดาต้าเฉลี่ย 12.7 กิกะไบต์ต่อเดือน เพิ่มขึ้น 17% เทียบกับปี 2561

ขณะที่ ทรู จะประกาศผลประกอบการปี 2562 อย่างเป็นทางการในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 นี้

การประมูลครั้งนี้จะดุเดือดเลือดพล่าน ปักหลักสู้กันหามรุ่งหามค่ำหรือไม่ แค่ไหน อีกแค่อึดใจเดียว รู้กัน

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน
 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image