เอ็กซิมแบงก์ลดดอกเบี้ยลูกค้าทั่วไป-เอสเอ็มอีเหลือ 5.985% ต่ำสุดในระบบแบงก์รัฐ

 

เอ็กซิมแบงก์ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย Prime Rate สำหรับลูกค้าทั่วไปและ เอสเอ็มอี (เทียบเท่า MRR ของธนาคารพาณิชย์) จากเดิมที่อยู่ในระดับต่ำสุดในระบบ SFIs อยู่แล้ว เหลือเพียง 5.985% ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นไป พร้อมเสนอโปรแกรมสินเชื่อพิเศษช่วยสนับสนุนให้มีเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจหรือนำเข้าเครื่องจักร เทคโนโลยีการผลิต เพื่อขยายกำลังการผลิตหรือปรับปรุงโรงงาน ในอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพียง 2% ต่อปี

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน เอ็กซิมแบงก์มีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ Prime Rate สำหรับลูกค้าทั่วไปและ เอสเอ็มอี (เทียบเท่า MRR ของธนาคารพาณิชย์) อยู่ที่ 6.00% ต่อปี ซึ่งต่ำที่สุดในระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เนื่องจากเอ็กซิมแบงก์นำร่องลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจการค้าระหว่างประเทศให้แก่ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ เอสเอ็มอี ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 อย่างไรก็ตาม เพื่อขานรับนโยบายรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจและตอบสนองทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี ที่มีจำนวนมากและเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย เอ็กซิมแบงก์ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย Prime Rate เหลือ 5.985% ต่อปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นไป

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน
นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า ภายใต้ภาวะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลงมาอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ ประกอบกับเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องมาอยู่ในระดับ 30-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแข็งค่าขึ้นถึงราว 15% เมื่อเทียบกับปี 2559 ที่เงินบาทเคยอยู่ที่ราว 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จึงถือเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทยในการนำเข้าเครื่องจักรและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิต อันจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในระยะยาว เอ็กซิมแบงก์จึงได้พัฒนาบริการหลากหลายรูปแบบเพื่อกระตุ้นการนำเข้าและการลงทุน ควบคู่กับมาตรการเสริมสภาพคล่องเพื่อกระตุ้นการส่งออก โดยสอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจของไทยและตลาดโลก ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษต่ำกว่า Prime Rate สำหรับผู้ประกอบการทุกกลุ่มอุตสาหกรรมและทุกขนาด ดังนี้ มาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เป็นสินเชื่อระยะยาวเพื่อให้ผู้ประกอบการทุกกลุ่มอุตสาหกรรมใช้ซื้อหรือปรับปรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์ หรือต่อเติมปรับปรุงโรงงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มมูลค่าสินค้าส่งออก อัตราดอกเบี้ย 2 ปีแรก 2% ต่อปี

Advertisement

นอกจากนี้ยังมีมาตรการเอ็กซิมเสริมสภาพคล่องผู้ส่งออก เพื่อให้ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี ที่เป็นผู้ส่งออก ผู้นำเข้าเพื่อผู้ผลิตในการส่งออก และผู้ผลิตเพื่อผู้ส่งออก สามารถเลือกใช้วงเงินกู้ระยะยาวหรือวงเงินกู้ระยะสั้น สำหรับนำไปลดภาระการชำระหนี้และเพิ่มสภาพคล่องกิจการให้มีเงินทุนหมุนเวียนสำหรับดำเนินธุรกิจส่งออก หรือปรับปรุงเครื่องจักร โรงงาน เทคโนโลยีการผลิต เป็นต้น อัตราดอกเบี้ย 2 ปีแรก 3.99% ต่อปี มาตรการสินเชื่อส่งออกเพิ่มสุข อัตราดอกเบี้ยปีแรก 5.50% ต่อปี สำหรับผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มต้นส่งออก สินเชื่อส่งออกเพิ่มค่า อัตราดอกเบี้ย 2 ปีแรก Prime Rate -1.25% ต่อปี สำหรับกลุ่ม เอสเอ็มอี โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร สินเชื่อเอ็กซิมเชื่อม เอสเอ็มอี ไทยสู่ CLMV สำหรับผู้ส่งออก เอสเอ็มอี ไปตลาด CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) อัตราดอกเบี้ย Prime Rate -1.75% ตลอดอายุโครงการ สินเชื่อเอ็กซิมเพื่อธุรกิจขนาดกลาง สินเชื่อรับซื้อตั๋วเพื่อธุรกิจขนาดกลาง และสินเชื่อเอ็กซิมเพื่อโซนพิเศษ อัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำ Prime Rate -2.00% สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่

นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ เอ็กซิมแบงก์ยังมีบริการหลากหลายรูปแบบเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการไทยในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันและแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า อาทิ มาตรการพักชำระหนี้ ลดภาระผู้ส่งออก สู้ภัยไวรัสโคโรนา พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน ลดภาระลูกค้าที่มีวงเงินสินเชื่อระยะยาวและระยะสั้นที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 พร้อมขยายความคุ้มครองผู้ส่งออกที่มีการส่งออกแล้วหรืออยู่ระหว่างเตรียมส่งออกไปจีน สินเชื่อเพื่อวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม และบริการประกันการส่งออกสำหรับผู้ส่งออกทั่วไปและผู้ส่งออก เอสเอ็มอี ซึ่งมีขั้นตอนการขอรับบริการที่สะดวกรวดเร็วขึ้น เป็นต้น

“เอ็กซิมแบงก์เชื่อมั่นว่า ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตต่อไปได้ตามความคาดหวังของทุกฝ่าย ท่ามกลางปัจจัยท้าทายรอบด้านที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย โดยธนาคารจะทำหน้าที่สนับสนุนเครื่องมือทางการเงินให้ผู้ประกอบการไทยทุกกลุ่มอุตสาหกรรมมีสภาพคล่อง ลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจในระยะสั้น ควบคู่กับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในตลาดการค้ายุคใหม่ในระยะยาว” นายพิศิษฐ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image