กาลเวลาย่อมกลืนกินสรรพสัตว์ให้หมดสิ้นไป ผู้เล็งเห็นภัยรีบทำบุญอันจะนำความสุขมาให้ โดย : รศ.ดร.กิตติทัศน์ ผกาทอง

 

สังคมไทยมีบุญประเพณีพิธีกรรมเกิดขึ้นมากมายในแต่ละปี นับตั้งแต่วันสำคัญทางศาสนา มาฆบูชา วิสาขบูชา อาสาฬหบูชา เข้าพรรษา-ออกพรรษา ตักบาตรเทโว ทอดกฐิน ลอยกระทง และส่งท้ายปีเก่าค้อนรับปีใหม่ กระทั่งตรุษจีน และตรุษสงกรานต์ บุญประเพณี-พิธีกรรมต่างๆ ดังกล่าวเหล่านี้ ล้วนแต่มีส่วนส่งเสริม สนับสนุน และจุนเจือให้ชีวิตมีความสุข ความเจริญ และเป็นสิริมงคลทั้งสิ้น เพียงแต่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง เหมาะสม และด้วยจิตใจที่เปี่ยมคุณค่าเท่านั้น ซึ่งจิตใจที่เปี่ยมคุณค่า หมายถึงสภาพที่จิตใจที่ฝักใฝ่ในสิ่งที่เรียกว่า ตระหนักรู้ (Awareness) คือมีสติสัมปชัญญะ เป็นเครื่องกำกับพฤติกรรม เพื่อให้การกระทำเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ เพราะพฤติกรรมหรือการกระทำที่สร้างสรรค์นั้นเรียกว่า “บุญ” (Meritorious Action) ซึ่งตรงกันข้ามกับพฤติกรรมหรือการกระทำที่ไม่สร้างสรรค์ อันเป็นพฤติกรรมที่เรียกว่า บาปหรืออกุศล (Bad Action)

บุญและบาปจึงเป็นจุดผันแปรของชีวิต ชีวิตที่มีตราบุญติดตัวกับชีวิตที่มีตราบาปติดตัวย่อมมีผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน นั่นก็คือ บุญย่อมนำความสุขมาให้ส่วนบาปย่อมนำความทุกข์มาให้ เมื่อทุกชีวิตรักสุขและเกลียดทุกข์ จึงต้องสร้างบุญเป็นต้นทุนของชีวิต

1.เทศกาลปีใหม่ขับขี่ปลอดภัยใส่ใจชีวิต : ชีวิตที่มีบุญคอยหุ้มห่อหรือพิทักษ์รักษา จะเป็นชีวิตที่แม้กาลเวลาจะกลืนกิน หรือคร่าไป ก็ไม่เดือดร้อนแต่ประการใด เพราะมีหลักประกันที่มั่นคง ด้วยเหตุนี้ แม้มีภัยคุกคาม คือความตายจึงไม่สะทกสะท้านหรือสะดุ้งกลัว คนที่หวั่นไหวต่อภัยคุกคามชีวิตคือความตาย จึงได้แก่คนที่ทำบาปหรืออกุศล

Advertisement

การเดินทางเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ ในเทศกาลส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ในแต่ละปีจะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบนท้องถนนมากมาย และเมื่อมีอุบัติเหตุก็จะเกิดอุบัติภัยตามมา คือการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน แม้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะช่วยป้องกันอย่างไรก็ดูจะไร้ผลโดยสิ้นเชิง เพราะการใช้รถใช้ถนนของคนที่มีจิตใจที่มักง่าย ขาดการระมัดระวังการมักง่ายและขาดการระมัดระวังในการขับขี่ยานพาหนะบนท้องถนน จัดเป็นพฤติกรรมที่เป็นบาปเพราะสร้างปัญหาให้กับตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อน

เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เป็นเทศกาลที่เป็นกุศลหรือเทศกาลงานบุญสำหรับชีวิตของทุกคน จึงต้องพิถีพิถันในการใช้รถใช้ถนนเป็นพิเศษเพื่อช่วยกันลดอุบัติเหตุบนท้องถนนอย่างน้อยก็ร้อยละ 50 ของจำนวนอุบัติเหตุในเทศกาลวันหยุดยาวของแต่ละปี เพราะอุบัติเหตุไม่ใช่เคราะห์กรรม แต่เกิดจากฝีมือของมนุษย์ด้วยกัน

2.แนวทางป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนน : อุบัติเหตุเป็นปัญหาโลกแตกสำหรับสังคมไทยในยุคไทยแลนด์ 4.0 เพราะมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุติดอันดับต้นๆ ของโลก แต่ถึงกระนั้น หากเรามุ่งมั่นในการลดอุบัติเหตุในเทศกาลวันหยุดยาว เช่น เทศกาลส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ ซึ่งแนวทางการลดอุบัติเหตุเชิงพุทธประกอบด้วย

Advertisement

2.1 ฝึกฝนตนให้เกิดความเคยชินในเรื่องใจเย็น : เพราะจิตใจที่เยือกเย็นเป็นจิตใจที่สามารถผ่อนคลายอารมณ์ได้เป็นอย่างดี โดยสิ่งที่จะจูงใจให้เกิดความเยือกเย็นคือ เสียงเพลง และเสียงพระสวดมนต์ ด้วยวิธีการขับรถไปร้องเพลงคลอตามเสียงเพลงเบาๆ หรือขณะขับรถให้เปิดเสียงพระสวดมนต์แปล ซึ่งมีจำหน่ายตามร้านขายหนังสือมากมายในปัจจุบัน

2.2 ฝึกฝนตนให้รู้จักการขับขี่ที่พอดี : การขับขี่ที่พอดีหมายถึงการขับขี่ด้วยความเร็วที่สามารถควบคุมได้เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นแบบกะทันหัน เช่น มีรถคันอื่นเลี้ยวตัดหน้า ถนนขรุขระ มีสิ่งกีดขวาง หรือมีคนวิ่งข้ามถนน เป็นต้น

2.3 ฝึกฝนตนให้มีความอดทน : การเดินทางในเทศกาลวันหยุดยาวทุกครั้งจะมีเพื่อนร่วมเดินทางบนท้องถนนเป็นจำนวนมากและแต่ละคนก็นานาจิตตัง หรือนานาปมาทัง คือ มีความหลากหลายพฤติกรรม จึงต้องใช้ความอดทน และหนักแน่นในอารมณ์ไม่ให้ลุแก่โทสะเมื่อมีคนขับรถปาดหน้า แซงซ้าย หรือขับช้าแต่ชิดขวา เป็นต้น เพราะการไม่อดทนหรือเปราะบางทางอารมณ์จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุตามมา

2.4 ขับขี่ด้วยความพร้อมทั้งคนและรถ : ก่อนออกเดินทางต้องนอนตั้งแต่หัวค่ำ และตรวจดูสภาพรถให้พร้อมผ่านศูนย์บริการล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหนึ่งสัปดาห์ เพื่อให้เกิดความมั่นใจเต็มร้อย เพราะการพักผ่อนเต็มที่และสภาพรถที่ดี จะมีความปลอดภัยสูงในการเดินทาง

2.5 ไม่ประมาทในการใช้รถใช้ถนน : ประการสุดท้ายเป็นข้อสรุป ของทุกข้อ เพราะความไม่ประมาทเรื่องเดียวมีความหมายต่อทุกคนบนท้องถนน เคยมีคำขวัญเตือนใจของหน่วยราชการว่า “ขับรถระวังคน ข้ามถนนระวังรถ” คำว่า ระวัง ได้แก่ ความไม่ประมาทนั่นเอง คนกับรถและรถกับถนนมีความสัมพันธ์ต่อกัน ต้องใช้รถและใช้ถนนด้วยความระมัดระวัง

3. อุบัติเหตุไม่ใช่เคราะห์กรรม : มีสุภาษิตโบราณกล่าวไว้ว่า “หากโชคดีที่ป่วยก็หาย ที่หน่ายก็รัก” คำว่าโชคดี หมายถึงการประพฤติดีและหรือการปฏิบัติดี ไม่มีใครโชคดีจากการประพฤติชั่วหรือปฏิบัติผิด เพราะยังมีสุภาษิตโบราณอีกบทสอนว่า “หากโชคร้าย ที่ป่วยก็หนัก ที่รักก็หน่าย” คนที่โชคร้ายคือคนที่ละเมิดกฎเกณฑ์ของสังคม ขาดระเบียบวินัยในการดำรงชีวิต พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า “ประโยชน์เป็นฤกษ์ของประโยชน์ ดวงดาวจะทำอะไรเราได้” ซึ่งมีความหมายว่า หากทำดีและหรือประพฤติปฏิบัติดีเมื่อใด ประโยชน์คือคุณค่าก็จะเกิดขึ้นเมื่อนั้น โดยไม่ต้องดูฤกษ์ดูยาม หรือผูกดวงแต่ประการใดทั้งสิ้น เพราะไม่มีใครดวงดีจากการประพฤติชั่วโดยเด็ดขาด

เคราะห์กรรมของมนุษย์เกิดจากการกระทำที่ขาดสติสัมปชัญญะไม่ใช่พรหมลิขิตหรือดวงไม่ดี อุบัติเหตุบนท้องถนนจึงเกิดจากการขาดสติสัมปชัญญะของคนที่ใช้รถใช้ถนน มิใช่เกิดจากคราวเคราะห์หรือดวงไม่ดีซึ่งบางคนอาจจะนึกค้านว่า “แล้วทำไมบางคนจึงไม่ประสบอุบัติเหตุ?”

คำตอบคือ เพราะเขามีสติสัมปชัญญะในการขับขี่ยานพาหนะ จึงเป็นคนโชคดีและหรือดวงดี ทำนองว่า ทำดีทั้งปวงเพราะดวงมันดี ทำชั่วทุกที แม้ดวงดีก็มีเคราะห์

4.ความไม่ประมาทเป็นสุดยอดของดวงดี : นักมวยบางคนไปหาเกจิอาจารย์ให้ลงยันต์-สักยันต์เต็มเนื้อเต็มตัว แต่ประมาทคู่ต่อสู้ มักจะถูกน็อกเอาต์ทุกครั้ง ขณะที่นักมวยบางคนขยันฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ ศึกษาจุดอ่อนและจุดแข็งของคู่ต่อสู้ก่อนขึ้นเวที โดยไม่มีการสักยันต์หรือลงคาถาอาคมแต่อย่างใด ผลลัพธ์จึงแตกต่างกัน…

การเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนในเทศกาลวันหยุดยาวมากมายมหาศาลในแต่ละปีนั้น เกิดจากความประมาทของคนใช้รถใช้ถนนบางคนเท่านั้นไม่ใช่ทุกคน เพราะคนที่ไม่ประมาทจะมีโอกาสได้รับผลกระทบจากการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนน้อยมาก การแก้ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน จึงต้องมุ่งไปยังกลุ่มเป้าหมายเป็นประการสำคัญ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่ทำทำให้ตนเองเดือดร้อน และคนอื่นๆ ต้องพลอยเดือดร้อนไปด้วย ประกอบด้วย

4.1 คนดื้อรั้นในการขับขี่ยานพาหนะ : คนประเภทนี้ได้แก่ พวกที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น มักง่าย ซึ่งวิ่งย้อนศร ขับรถเร็วผิดปกติวิสัย และไม่สนใจกฎจราจร

4.2 เมาแล้วขับหรือขับด้วยความมึนเมา : คนพวกนี้มีสุภาษิตประจำใจว่า เหล้าผลิตมาให้คนดื่ม จึงต้องดื่ม หากไม่ให้ดื่มก็ต้องปิดโรงเหล้า ด้วยเหตุนี้ การแอบซุกซ่อนเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในรูปแบบต่างๆ จึงเกิดขึ้น

4.3 ขณะขับขี่ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย : การคาดเข็มขัดและหรือสวมหมวกนิรภัยขณะขับขี่จะผ่อนหนักเป็นเบา แม้จะไม่อาจป้องกันได้หนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ตาม

4.4 ประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุ : รถที่เกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่เป็นรถจักรยานยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ รองลงมาเป็นรถกระบะหรือปิกอัพ จึงต้องกวดขันเป็นพิเศษด้วยการรณรงค์และกดดันกันอย่างจริงจัง

4.5 ถนนที่เป็นชนวนการเกิดอุบัติเหตุ : การเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่มักเป็นถนนสายรองมากกว่าสายหลัก จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุจึงเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่และมีประชากรมาก เพราะมีกำลังเจ้าหน้าที่ดูแลป้องกันไม่เพียงพอ จึงต้องขอความร่วมมือจากหน่วยงานในพื้นที่เพื่อช่วยกันลดอุบัติเหตุ ดัดสันดานพวกเมาแล้วซิ่ง

ในยุคไทยแลนด์ 4.0 อันเป็นผลผลิตของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ต้องสามารถลดอุบัติเหตุบนท้องถนนให้ลดเหลืออย่างน้อยต้องร้อยละ 50 จากปีที่ผ่านมา ซึ่งข้อมูลทางสถิติ 7 วันอันตรายเทศกาลปีใหม่ปี 2562 เกิดอุบัติเหตุ 3,791 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 463 ราย และผู้บาดเจ็บ 3,892 ราย ในปีนี้ 7 วันอันตรายเทศกาลปีใหม่ปี 2563 เกิดอุบัติเหตุ 3,421 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 373 ราย และผู้บาดเจ็บ 3,492 ราย เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้วเกิดอุบัติเหตุลดลงร้อยละ 9.76 ผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 19.44 และผู้บาดเจ็บลดลงร้อยละ 10.10

ถึงกระนั้นก็ยังถือว่าเป็นมหาสงครามอยู่ดี ซึ่งเป็นสงครามที่น่าสะพึงกลัวเป็นอย่างยิ่ง เพราะทุกคนต้องเผชิญกับมัน … ภายใต้เทศกาลแห่งความรื่นเริงและสนุกเพลิดเพลิน

5. ความไม่ประมาทเป็นหนทางที่ไม่ตาย : พี่น้องที่ใช้รถใช้ถนนในเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธมีเป้าหมายในการเดินทางเพื่อไปเยี่ยมญาติ ไปกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ เป็นต้น เพราะตลอดระยะเวลาอันยาวนานของชีวิตที่ต้องตรากตรำทำงาน ควรจะได้ผ่อนคลายบรรยากาศ จึงชักชวนเพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง หรือครอบครัวพากันเดินทางออกจากบ้านไปยังสถานที่ต่างๆ ในต่างจังหวัด แต่ต้องมาประสบกับอุบัติเหตุ สูญเสียชีวิตและทรัพย์สินบนท้องถนนในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก จึงขอฝากข้อคิดด้วยความห่วงใยดังนี้

5.1 ต้องท่องเที่ยวให้ปลอดภัย : ความปลอดภัยเกิดจากทุกคนมีน้ำใจไมตรีจิตต่อกัน ไม่แข่งขันกันเอารัดเอาเปรียบในการเดินทางบนท้องถนน

5.2 ต้องไม่เครียดในการขับขี่ : คนขับกับคนนั่งแม้อยู่ในรถคันเดียวกันก็จริง แต่มีความกดดันแตกต่างกัน กล่าวคือคนขับจะเครียดมากกว่าคนนั่งไม่ได้ขับ จึงต้องช่วยการสื่อสารในเชิงบวกต่อกันหลีกเลี่ยงคำหยาบคายหรือทะเลาะเบาะแว้งกันในขณะเดินทางแต่คอยให้กำลังใจคนขับรถอย่างต่อเนื่อง

5.3 หากรู้สึกง่วงนอนต้องพักรถทันที : การเดินทางของครอบครัวในเทศกาล ส่วนใหญ่หัวหน้าครอบครัวมักจะเป็นคนทำหน้าที่ขับรถเพียงคนเดียว หากเป็นไปได้ควรมีคนที่ขับรถเป็นสัก 2 คน เพื่อจะได้ช่วยกันผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ แต่ถ้าขับเป็นเพียงคนเดียว เมื่อรู้สึกง่วงนอน อย่าฝืนขับต่อไป ให้หาสถานีน้ำมัน หรือร้านอาหารข้างทาง หรือจุดพักที่ทางการคอยอำนวยความสะดวก เพื่อผ่อนคลายบรรยากาศ

5.4 อย่าขับรถด้วยความประมาท : การขับรถด้วยความประมาทก่อให้เกิดความเสี่ยงมากมาย ซึ่งได้ไม่คุ้มเสีย และที่สำคัญจะตัดโอกาสในการไปยังเป้าหมายด้วยปลอดภัย อย่าไปคิดเพียงว่าพ้นสายตาของเจ้าหน้าที่ จะขับหรือดื่มอะไร อย่างไรก็ได้ เพราะชีวิตคือตัวเรา และครอบครัว ต้องระมัดระวังอย่างสม่ำเสมอ ขับถึงที่หมายแล้วค่อยเลี้ยงฉลองกันจะดีกว่า

พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นศาสดาเอกของโลก พระองค์ตรัสเกี่ยวกับความไม่ประมาทไว้ว่า “ความถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเป็นบุพนิมิตแห่งการเกิดขึ้นของธรรมทั้งหลายมีอริยมรรค เป็นต้น ดุจดวงอาทิตย์อุทัยย่อมเป็นบุพนิมิตแห่งวันใหม่ฉันนั้น”

นอกจากนี้ พระพุทธองค์ยังตรัสอีกว่า “รอยเท้าของสัตว์ทั้งหลายย่อมสรุปรวมลงในรอยเท้าเช้าฉันใด กุศลธรรมทั้งหลายย่อมประชุมลงในความไม่ประมาทฉันนั้น”

ความไม่ประมาทจึงเป็นสุดยอดแห่งธรรมทั้งหลายบุคคลที่มีปกติไม่ประมาท จึงได้ชื่อว่าเป็นบุคคลที่ไม่ตาย คือไม่ตายจากความคาดหวัง ไม่ตายจากวัตถุประสงค์ ไม่ตายจากเป้าหมายที่ปรารถนา ไม่ตายทั้งเป็น และไม่ตายก่อนอายุขัย ส่วนคนที่ประมาทคือคนที่มีลักษณะดุจคนที่ตายแล้วทุกประการ เพราะแม้จะมีลมหายใจเข้า-ออก ก็เป็นลมที่ไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิง
6.อะไรคือความไม่ประมาท? ความไม่ประมาทพูดง่าย แต่เวลาปฏิบัติค่อนข้างยากนิดหนึ่งสำหรับมนุษย์ปุถุชนคนทั่วไป แต่พระพุทธเจ้าพระองค์ทรงสอนธรรมให้กับมนุษย์ปุถุชน นั่นแหละเป็นส่วนใหญ่ เพราะสัตว์โลกที่เป็นมนุษย์เท่านั้นที่ฝึกฝนอบรมตนแล้ว สามารถเป็นคนที่ประเสริฐได้ ดังที่ทรงสอนจอมโจรองคุลีมาล ให้เป็นพระอรหันต์ คือสุดยอดของความเป็นมนุษย์ได้ เป็นต้น

ความไม่ประมาท คือภาวะที่จิตมีสติสัมปชัญญะคอยกำกับและควบคุมพฤติกรรมให้เกิดความระมัดระวังในทุกอิริยาบถของการเคลื่อนไหว คือ ยืน, เดิน, นั่ง, นอน, กิน, ดื่ม, ทำ, พูด และคิด ซึ่งบุคคลที่ประมาทจะมีพฤติกรรมหลักอยู่ 3 ประการ คือ ทำไม่ถูก พูดไม่คิด และจิตฟุ้งซ่าน จึงเกิดอุบัติเหตุหรือปัญหาต่างๆ นานามากมายเสียทั้งเวลา ชีวิตและทรัพย์สินโดยใช่เหตุ

7.สรุป : กาลเวลาย่อมกลืนกินสรรพสัตว์พร้อมกับตัวมันเอง เพราะต้องสูญสิ้นไปโดยไม่มีการย้อนกลับ การหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านของกาลเวลาเป็นเรื่องของการเริ่มต้นใหม่ มิใช่เป็นการย้อนกลับแต่ประการใด เพราะกาลเวลานั้นมีแต่จะล่วงเลยไปข้างหน้าเรื่อยๆ เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนผ่านไป ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายทั้งมนุษย์และเดรัจฉานต้องหดสั้นไปทุกขณะ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงมีการสมมุติขึ้น ของวันเวลาเพื่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ปีใหม่” (New Year)

การเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่นั้น สาระสำคัญคือการทบทวนชีวิตและภารกิจในปีเก่าที่เพิ่งผ่านพ้นไปว่าเป็นชีวิตและภารกิจที่มีผลกำไรหรือขาดทุนอย่างไร เมื่อปีต่อไปซึ่งเรานิยมเรียกว่า “ปีใหม่” มาถึงจะได้เริ่มต้นชีวิตและภารกิจใหม่ให้ดีขึ้น มากกว่าชีวิตและภารกิจในปีเก่า ไม่ใช่สนุกสนานกันจนเลยเถิดกระทั้งเกิดอุบัติเหตุสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินมากมายเฉกเช่นที่เป็นอยู่ในแต่ละปี การส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ที่สร้างสรรค์ คือการเล็งเห็นภัยที่เกิดขึ้นกับชีวิตแล้วมุ่งมั่นทำบุญ และการทำบุญที่ยิ่งใหญ่คือ “ความไม่ประมาท” (Heedfulness) เพราะความไม่ประมาทเป็นสุดยอดของบุญคือความสุข และความสุขที่เกิดจากความไม่ประมาทจัดเป็นความสุขอย่างแท้จริง

ขอให้การเดินทางเพื่อการท่องเที่ยว การทำบุญ และหรือการพักผ่อนหย่อนใจ (นันทนาการ) ของทุกท่านและทุกชีวิต จงประสบความสุข ความปลอดภัยในการใช้รถและใช้ถนน เพื่อช่วยกันลดอุบัติเหตุให้มากเป็นพิเศษทุกประการ อันจะเป็นของขวัญสำหรับชีวิตและสังคมหรือประเทศชาติอย่างยิ่งใหญ่และยั่งยืนตลอดไป

รศ.ดร.กิตติทัศน์ ผกาทอง
หลักสูตรบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาการพัฒนาสังคม
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image