‘จุรินทร์’ควง 4 รมต.ลุยพัทลุง แจงประกันรายได้เกษตรกร ‘ข้าว-ยาง-ปาล์ม’ราคาพุ่ง

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงโครงการประกันรายได้ ให้เกษตรกรและกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่เทศบาลตำบลควนขนุน จังหวัดพัทลุง พร้อมคณะ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายนริศ ขำนุรักษ์ สส.จังหวัดพัทลุง นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง

นายจุรินทร์ กล่าวว่า อยากให้กำนันผู้ใหญ่บ้านและข้าราชการทั้งหมดไปช่วยกันชี้แจงประชาชนได้รับทราบ นโยบายสำคัญหนึ่งนโยบายรัฐในรัฐบาลชุดนี้ เกี่ยวกับ นโยบายประกันรายได้เกษตรกรที่ได้แจ้งต่อที่ประชุมรัฐสภาและได้รับความเห็นชอบ โดยประกันรายได้เกษตรกรพืช 5 ชนิด 1.ข้าว 2.ยาง 3.ปาล์ม 4.มันสำปะหลัง และ 5.ข้าวโพด ซึ่ง วันนี้จะชี้แจง 3 ชนิด คือ ข้าว ยาง และปาล์ม ในเวทีแห่งนี้ ให้พวกเราเข้าใจว่าประกันรายได้ โดยประกันรายได้ ไม่ใช่การประกันราคา ไม่เหมือนกัน ซึ่ง หลายคนเข้าใจผิดเพราะประกันราคาไม่ว่าประเทศไหนในโลกประกันราคาไม่ได้ สั่งราคาไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่กับกลไกตลาดทั้งสิ้น ถ้าผลผลิตมากความต้องการไม่มีราคาก็ตก ถ้าผลผลิตน้อยความต้องการมากราคาก็แพง นี่คือกลไกตลาด และไม่มีใครไปสั่งให้ราคาขึ้นลงได้ ประเทศไหนก็ตามประกันราคาไม่ได้มันขัดหลักการขององค์การการค้าโลก หรือ WTO จะเป็นปัญหาทางการค้ากับประเทศอื่นๆในโลกต่อไป แต่ประกันรายได้ของเรานั้น สามารถทำได้ จึงเป็นที่มาที่เรามีโครงการประกันรายได้ให้เกษตรกร ที่มาคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ (เฉลิมชัย ศรีอ่อน ) ได้ไปหารือกับนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ) ให้นโยบายประกันรายได้เป็นหนึ่งในนโยบายรัฐบาล เรารู้ดีว่าราคาพืชผลทางการเกษตรมีความไม่แน่นอน มีขึ้นมีลงตามความต้องการซื้อและผลผลิตแต่ละปีแต่เราควรจะมีรายได้ขั้นต่ำที่แน่นอนเพื่อที่จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่พอไปได้ เพราะราคาไม่แน่นอนหากวันใดราคาเหลือน้อยก็ลำบาก

ดังนั้น รัฐบาลมีนโยบาย คือ ประกันรายได้เกษตรกร มีหลักประกันในเรื่องรายได้ ถ้าใครทำยางแผ่นดิบชั้นสามคุณภาพมาตรฐาน จะประกันรายได้ที่กิโลกรัมละ 60 บาท และยางก้อนถ้วยที่กิโลกรัมละ 23 บาท ถ้าทำยางก้อนถ้วยได้ราคาตลาดที่กิโลกรัมละ 25 บาท ก็จะไม่ได้รับเงินส่วนต่างจากรายได้ที่ประกัน เมื่อมีนโยบายประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางจะมีหลักประกันต่อไปนี้เราจะมีรายได้ 2 ทางคือจากการเอายางไปขายในตลาดได้เท่าไหร่ได้เท่านั้น ถ้าราคาตกได้เงินน้อยราคาดีได้เงินมากไม่มีความแน่นอน ต่อไปนี้จะมีเงินอีกก้อนหนึ่งเรียกว่าเงินส่วนต่าง โดยรัฐบาลจะโอนเงินผ่าน ธกส.เข้าบัญชีธนาคารของพวกเราโดยตรงไม่หายหกตกหล่น

” นโยบายประกันรายได้จึงเป็นนโยบายที่ช่วยให้เรามีรายได้สองกระเป๋า แม้ราคายางจะตกลงมาบ้างก็ทำให้พี่น้องไม่ต้องเป็นกังวล หลายท่านอาจจะถามว่าสวนยางไม่มีโฉนดต้องทำอย่างไร ที่เรียกว่าบัตรสีชมพู อันนี้ต้องไปขึ้นทะเบียนเลย แม้ท่านจะมีบัตรสีชมพูท่านก็สามารถเข้าโครงการประกันรายได้ได้รับเงินส่วนต่างเหมือนกัน แต่ช่วงที่ผ่านมามีปัญหาบางประการ คือ การไปตรวจสวนยางโดยการยางแห่งประเทศไทย เพราะก่อนรับเงินส่วนต่างต้องไปตรวจสวนเสียก่อนว่ามีกี่ไร่ทำยางชนิดไหน เพราะได้รับเงินส่วนต่างไม่เท่ากัน จึงต้องมีการตรวจสวนเสียก่อน แต่วันนี้ยังมีความล่าช้าอยู่เราโอนสองเดือนครั้ง ปีละ 3 ครั้ง ครั้งที่หนึ่งโอนตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน งวดสอง 1 มกราคม งวดสามโอน 1 มีนาคม ซึ่ง ปรากฏว่างวดที่1 ยังโอนไม่ครบตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน เพราะการตรวจสวนยังล่าช้า ผมกับท่านรัฐมนตรีเกษตรได้คุยกันว่าต่อไปนี้จะเปลี่ยนกระบวนการดูแล จึงให้เจ้าของสวนแจ้งผู้ใหญ่บ้านแล้วให้ผู้ใหญ่บ้านรับรองตามความเป็นจริง แล้วให้เอาทะเบียนไปคืนรับเงินส่วนต่าง โดย ธกส.ตามที่ผมได้รับรายงานปรากฏว่ามีบัตรสีเขียวจ่ายไปเกือบหมดแล้วแต่บัตรสีชมพูยังค้างอยู่มาก บัตรสีชมพูมีอยู่ประมาณ 10,000 ราย 10,000 ครอบครัว”นายจุรินทร์กล่าว

Advertisement

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวต่อว่า สำหรับปาล์มน้ำมัน เราประกันรายได้ที่กิโลกรัมละ 4 บาท ที่น้ำมัน 18% และราคาปาล์มขึ้นเกิน 4 บาทนี่คือราคารายได้ที่ประกัน หากต่ำกว่า 4 บาทจะได้รับเงินส่วนต่าง แต่ยิ่งปาล์มราคาสูงก็ยิ่งดีต่อพี่น้อง และเราไม่ได้มีแต่ประกันรายได้อย่างเดียว ต้องมีมาตรการเสริมคือ 1.มีนโยบายเร่งรัด เราตกลงว่าเร่งรัดให้กระทรวงพลังงานบังคับใช้น้ำมันบี 10 ให้เร็วที่สุดปรากฏว่าต้นปีกระทรวงพลังงานออกให้ใช้น้ำมัน บี10จึงมีส่วนสำคัญในการช่วยให้น้ำมันปาล์มราคาดีขึ้น ถ้าผลผลิตมีส่วนเกินจากการบริโภคความต้องการใช้กับการผลิตจะเข้าสู่จุดดุลยภาพ จะช่วยให้ราคาปาล์มมีเสถียรภาพมากขึ้น จึงขอให้กระทรวงพลังงาน เร่งรัดทำให้บี 10 บังคับใช้เร็วที่สุด 2.เรื่องการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์ม วิธีที่ทำ คือ ทำเป็นกระบวนการ โดยขอผ่านแดน ขอผ่านแดนไปด่านศุลกากรแล้วอ้างว่าไปส่งออกประเทศที่สาม เช่น ลาว เขมร เมียนมา แต่เมื่อได้เข้ามาในประเทศแล้วทำน้ำมันหกอยู่ในประเทศ คือวิธีการที่นำเข้าน้ำมันปาล์มและเป็นปัญหามาโดยตลอด

นายจุรินทร์กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอ ครม.ให้ต่อไปนี้การนำเข้าน้ำมันปาล์มหรือการขอนำน้ำมันปาล์มข้ามแดนประเทศไทย ไปประเทศที่สามทำโดยเสรีไม่ได้ ทางบกไม่อนุญาตอนุญาตแต่ทางเรือ แต่บังคับได้แค่สามด่านในประเทศไทยหนึ่งท่าเรือคลองเตย สองท่าเรือมาบตาพุด สามท่าเรือแหลมฉบัง ถ้าจะนำผ่านแดนนั้นให้นำเข้าได้ด่านเดียวเฉพาะที่ด่านท่าเรือกรุงเทพหรือท่าเรือของเตยแล้วการนำออก ออกได้แค่ 3 ด่าน โดยทางภาคตะวันออกเฉพาะด่านจันทบุรี และทางลาวได้แค่ด่านหนองคาย ทางเมียนม่าได้แค่ด่านแม่สอดเท่านั้น กำลังออกประกาศเป็นทางการในไม่กี่วันจากนี้ไปการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มจะยากขึ้นและมีส่วนในการพยุงราคาปาล์ม และเราจะกำหนดให้สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบมีแท็งค์ต่อไปนี้ต้องติดมิเตอร์ให้เจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ ไปวัดตรวจสอบตามโรงหีบ ถ้าติดมิเตอร์เสียจะเป็นมิเตอร์แบบเรียลไทม์ จะรู้และไปกดราคารับซื้อไม่ได้ วันพรุ่งนี้ผมจะเสนอที่ประชุมเข้า ครม. และดำเนินการตามกระบวนการต่อไป ส่วนเรื่องการส่งออกตลาดอินเดียยังมีอนาคต สำหรับปาล์มและเรื่องบัตรสีชมพูก็ได้รับสิทธิ์เหมือนกัน

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ บอกว่า เรื่องข้าว เราประกันรายได้ข้าวแล้วให้โอนเงินส่วนต่างมาแล้วตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม โอนทุกสัปดาห์จนกว่าจะหมดฤดูกาลผลิต จึงอยากให้พวกเราได้รับทราบแนวทางและนำไปถ่ายทอดต่อ ถ้าติดขัดตรงไหนขอให้แจ้งไปที่พาณิชย์จังหวัดสำหรับปาล์มและข้าว ส่วนสำหรับยางพาราให้แจ้งที่การยางแห่งประเทศไทย

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image