ฌอน ห่วงอิทธิพลสื่อ-โซเชียล ทำให้เกิดเหตุซ้ำ จิตแพทย์ชี้ อย่าให้ค่าฆาตกร อย่าให้มีตัวตน

ฌอน ห่วงอิทธิพลสื่อ-โซเชียล ทำให้เกิดเหตุซ้ำ จิตแพทย์ชี้ อย่าให้ค่าฆาตกร อย่าให้มีตัวตน

 

รายการโหนกระแสวันที่ 11 กพ. หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย ในฐานะผู้ดำเนินรายการ โหนกระแส ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.20 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 เปิดใจสัมภาษณ์ “ฌอน” และ “ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์” จิตแพทย์และโฆษกกรมสุขภาพจิต ซึ่งบอกว่าเหตุการณ์นี้ต้องเยียวยากันระยะยาว สิ่งที่ต้องทำหลังจากนี้ ต้องปรับชีวิตอย่างไร

 

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน
 

Advertisement

คุณอัดคลิปคนดูเป็น 10 ล้าน ทำไมถึงอัดคลิปนี้ออกมา?

ฌอน : “เดือนที่แล้วตอนเกิดเรื่องผอ. ปล้นทอง ผมไม่ได้อยากทำคลิปนี้เลย เพราะไม่อยากให้เขามีชื่อเสียงมากขึ้น ไม่ได้อยากให้คิดว่าถ้าเขาทำ ผมจะต้องทำคลิปเกี่ยวกับเขา ผมเลยไม่ทำ แล้วพอผมเห็นสื่อทำ สื่อทั้งออนไลน์ด้วย ทำเยอะ ผมกลัวมากว่าจะเกิดขึ้นอีก พอเกิดขึ้นจริงๆ ผมก็ต้องออกมาพูดเรื่องนี้แล้ว จริงๆ ไม่ได้อยากพูดอะไรในกระแส เพราะไม่ได้อยากโดนดราม่าอะไร แต่พอสิ่งที่เกิดขึ้นที่โคราช ผมเคยไปเทอร์มินอล21 และคนโคราชดีกับผมมาก ผมมาที่นี่ครั้งแรก เขาก็ดูแลผมดีมาก ผมรักคนโคราชมาก”

 

Advertisement

คุณเป็นลูกครึ่ง?

ฌอน : “ผมเป็นคนไทยแต่เกิดที่อเมริกา อยู่ที่นั่นมา 20 กว่าปี แล้วมาอยู่เมืองไทย 3-4 ปี ผมถึงต้องขอโทษล่วงหน้าถ้าผมพูดช้า ที่ทำเพราะผมนอนไม่ค่อยหลับ ผมตื่นมาและรู้สึกว่าเขายังโชว์หน้าฆาตกรเรื่อยๆ ผมรู้สึกว่าอยากจะมาช่วยแบ่งปัน ผมรู้ว่านักข่าวก็คงทำงาน เขาไม่ได้ตั้งใจทำร้ายอะไร ผมอยากมาแบ่งปันให้พี่ๆ คืนนั้นมันเหนื่อยมาก ไม่ได้นอน ทีมงานผมพักวันนั้น ผมก็ไปสตูฯ ถ่ายเอง ตัดต่อเองทุกอย่าง”

 

คุณฌอนพูดว่าประเทศที่คุณอยู่มีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น และภายใน 13 วันจะมีโอกาสเกิดขึ้นอีก?

ฌอน : “ใช่ มันสูงมากในระยะเวลา 13 วัน”

 

มีการการันตีจากใคร?

ฌอน : “มีงานวิจัยจากหมอ 2คนที่เขียนบทความที่อเมริกา เขามีคณิตศาสตร์ของมัน ค่าเฉลี่ยทุกอันที่เคยเกิดขึ้นที่อเมริกา”

 

เป็นการเลียนแบบพฤติกรรม?

ฌอน : “ใช่ครับ ถ้าสื่อใช้ความสนใจให้อะไรสักอย่าง มันสอนให้คนว่าเราจะได้ความสนใจจากสิ่งนี้ อย่างเช่นประเทศอยากให้มีนักกีฬาเยอะขึ้น เราก็โชว์นักกีฬาเยอะ คนก็อยากเป็นนักกีฬา ถ้าเราโชว์ดารา คนก็อยากเป็นดารา ถ้าโชว์ฆาตกรเยอะ บางคนอาจจะอยากเป็นฆาตกร แล้วก็เกิดขึ้นที่อเมริกา เขาก็แข่งกันด้วย เขาอยากเหนือกว่า ล่าสุดก็ประมณ 29 คน  ผมรู้สึกว่าถ้าคนอยากจะทำถัดไป เขาอาจจะอยากจะทำเยอะกว่า 29 คน”

 

เลยอยากตัดตอนไม่อยากให้นำเสนอให้เขามีตัวตน?

ฌอน : “ใช่ครับ แล้วที่อเมริกาก็รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ก็มีที่ลาสเวกัส เขาก็เอาปืนยิง มีครั้งนึงที่ 50 กว่าคนแล้วมีในทุกวัยด้วย เด็กมัธยมต้น มัธยมปลาย มหาวิทยาลัย โดนยิงกันหมดแล้ว ผมเห็นเทรนด์จากอเมริกามาที่ไทยทุกอันเลย ทั้งการพัฒนาตัวเอง เพลงฮิปฮอปก็มาที่ไทย พอเห็นเทรนดิ้งของการกราดยิง ผมไม่อยากให้มันเกิดขึ้น ก็ขอบคุณพี่ๆ ที่ช่วยกระจายข่าว”

 

คุณหมอ สิ่งที่คุณฌอนพูดมีที่มาที่ไปจริงๆ?

ดร.นพ.วรตม์ : “ถูกต้องครับ อย่างที่เราทราบดี สื่อมีบทบาทมีอิทธิพลต่อคนในยุคปัจจุุบันมากๆ ถ้าเรามองย้อนกลับไป เราไม่มองเหตุการยิงกันเลย เรามองเรื่องที่เกิดขึ้นปีที่แล้วเช่นกัน เรื่องการฆ่าตัวตาย เราเจอรูปแบบการฆ่าตัวตายใกล้เคียงกัน เช่นรูปแบบการรมควันที่เราจะเห็นบ่อยๆ เรารู้ว่าคนเสพสื่อเยอะ และมีโอกาสทำตามสื่อได้มาก ยิ่งถ้าข้อความที่ปล่อยออกมาทางสื่อ มีการสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดี มีความชอบธรรมในการกระทำนั้นๆ มีความดราม่า นาสงสาร บอกแรงจูงใจที่ชัดเจน สิ่งที่เกิดขึ้น คนมีแรงจูงใจที่ใกล้เคียงกัน เขาก็มีโอกาส อ๋อ สิ่งนี้คือสิ่งที่ชอบธรรมสำหรับเขา เขาก็มีโอกาสจะทำก็ได้ มีงานวิจัยนึงของเอฟบีไอ ปี 2014 เอาเหตุการณ์กราดยิงมาพล็อตเป็นกราฟ ก็พบว่าจริงๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงแรกๆ ค่อนข้างห่างๆ อาจหลายเดือนครั้ง หรือปีแค่สองสามครั้ง หลังจากนั้นเมื่อมีการนำเสนอข่าวมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มมีคนทำตามมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งวิธีการทำก็ไม่แตกต่างกันเลย”

 

การอัดข่าว มีผลต่อมุมมองและความคิดของคน?

ดร.นพ.วรตม์ : “ครับ เหมือนการโฆษณาเราให้ดูอะไรบ่อยๆ ผลิตภัณฑ์สินค้าอะไรที่อยากให้เห็นบ่อยๆ ก็เอาไปไทอินบ้าง เอาไปวางในรายการต่างๆ เอาไปโปรโมต เอาไปโฆษณา สิ่งนี้ก็คล้ายๆ กันคือการโฆษณา แต่แน่นอนถ้าภาพออกมาว่าแย่ หรือเราไม่พูดถึงตัวตนเลย แน่นอคนดูก็จะมองว่าสิ่งนี้แย่ ไม่อยากทำตาม หรือเรานำเสนอในแง่มุมอื่นๆ แง่มุมการสูญเสียที่เกิดขึ้น คนก็ไม่อยากทำตาม แต่ถ้าเรานำเสนอในรูปแบบที่มันดรามาเหลือเกิน มีเหตุจูงใจให้ทำน่าทำ คนก็มีแนวโน้มที่อยากจะทำตาม เพราะคนเห็นเยอะ เขาก็จะเคยชิน เมื่อเขาเคยชิน เขาก็จะรู้สึกว่าสิ่งที่อยากจะทำไม่ใช่สิ่งที่แปลก เอาจริงๆ ใน 2-3 วันที่ผ่านมา ถ้าได้ดูจะเห็นว่ามีคนส่วนนึงโพสต์ว่าอยากทำตาม โพสต์รูปว่าจะไปทำที่โน่นที่นี่ ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์นี้เราจะไม่เห็นโพสต์แบบนี้เลย แต่นี่เป็นโพสต์ที่เราได้เห็นมากขึ้น 10 กว่าโพสต์ในช่วงวันเดียวเท่านั้นเอง”

 

บางคนออกมาบอกว่าพูดเล่น แต่ไม่รู้ว่าสิ่งที่พูดเล่นจะแฝงไปด้วยอะไรหรือเปล่า?

ดร.นพ.วรตม์  : “พูดเล่นแต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือความตื่นตระหนกในสังคม สังคมตื่นตะหนกแน่นอน 100 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเราบอกว่าข้างบ้านจะก่อเหตุ เราต้องโทรกลับไปที่บ้านแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง อย่าออกไปนะ เราเป็นกังวล การพูดเล่นก่อให้เกิดผลกระทบ ถ้าคนพูดเล่นแบบนี้สัก 10 คน บ้านเมืองเราจะไม่วุ่นวายเหรอครับ””

 

คุณฌอนเคยคิดจะทำคลิปออกมาเตือนตั้งแต่กราดยิงชิงทองที่ลพบุรี ทำไมครั้งนั้นถึงไม่ออกมาทำ?

ฌอน : “ผมไม่ได้สนใจตรงนั้นเลย เพราะผมไม่ได้อยากให้เกิดขึ้นอีก ผมเลยรู้สึกว่ายังไม่ทำดีกว่า พอเกิดขึ้นอีก ผมรู้สึกว่ามันจำเป็นต้องออกมาพูดแล้ว ผมว่าในอนาคตมันจะดูเหมือนคนที่ลงทั้งสื่อออนไลน์ สื่อใหญ่ มันจะดูเหมือนไม่มีจรรยาบรรณ แล้วจะดูเหมือนไม่ค่อยมีการศึกษา ถ้ามีการลงรูปภาพหลังเหตุการณ์นี้ ถ้าเหตุการณ์นี้ผมเข้าใจได้ แต่อนาคตมันจะดูไม่ค่อยดี ถ้าสื่อลง แล้วรู้สึกว่าถ้าเราเลียนแบบอเมริกา เพราะมันเกิดขึ้นที่อเมริกาบ่อยเพราะเขาชอบลงในสื่อ มันเกิดขึ้น 20 กว่าครั้งแล้ว แต่อย่างนิวซีแลนด์ นายกฯ บอกว่าเราจะไม่พูดชื่อ ไม่โชว์หน้า ก็ไม่ได้เกิดขึ้นอีกเลย ผมว่าเราเลือกได้ว่าจะเลียนแบบอเมริกาหรือนิวซีแลนด์”

 

ไม่เอ่ยชื่อแล้วทุกอย่างจะหายไป?

ฌอน : “ใช่ ถูกต้องครับ เรามีตัวอย่างที่เลือกได้ว่าอยากทำตามประเทศไทย ผมว่าเราน่าจะเลือกเหมือนนิวซีแลนด์”

 

คิดว่าคนร้ายคนล่าสุด พฤติกรรมน่าจะเป็นการเลียนแบบ หรือจดจำจากผอ.ชิงทองมั้ย?

ฌอน : “ผมคิดว่ามีส่วนครับ เพระมันเกิดขึ้นใกล้กันมาก ส่วนใหญ่ผมว่ามันน่าจะมาจากการที่เขาถูกกดขี่ กลั่นแกล้ง และเรื่องหนี้สิน มีปัญหาเรื่องคุมภาวะอารมณ์ไม่ได้ แต่อันนึงที่เป็นแรงจูงใจที่เขาทำ เขาอยากจะมีตัวตนในสังคม คนจะรู้จักเขา จะเป็นแรงจูงใจ แต่ไม่ใช่เหตุผลหลักครับ”

ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์และโฆษกกรมสุขภาพจิต
ฌอน บูรณะหิรัญ เป็นนักคิดนักเขียน

 

ถ้าเปรียบเทียบ คุณหมอมองยังไง?

ดร.นพ.วรตม์ : “ผมขอพูดตรงๆ ผมไม่อยากวิเคราะห์ผู้ก่อเหตุคนนี้ เขาไม่มีคุณค่าพอที่เราจะต้องวิเคราะห์เขา ไม่ต้องเสียเวลาวิเคราะห์เขา ถ้าให้ความสำคัญเขาก็จะมีตัวตนอยู่ เพราะฉะนั้นเดี๋ยวจะมีคำถามมากมายว่าคนนี้มีปัญหาทางสุขภาพจิตมั้ย ผมว่าการถามแบบนี้ เป็นการดูถูกคนมีปัญหาสุขภาพจิตด้วยซ้ำ เพราะคนก่อเหตุทำร้ายผู้บริสุทธิ์ได้ มีแต่พฤติกรรมขี้ขลาด  และน่ารังเกียจในสังคมเท่านั้นเอง ผมไม่มีอะไรจะพูดมากกว่านั้น ดังนั้นถ้าให้ผมวิเคราะห์ ผมไม่มีอะไรจะวิเคราะห์ แต่จะพูดในภาพรวม สำหรับคนนี้ผมว่าปล่อยเขาไปเถอะครับ”

 

คนร้ายรายนี้มีการแชร์คลิปผอ.ที่ก่อเหตุที่ลพบุรีด้วย อาจเป็นประเด็นหนึ่งหรือเปล่า?

ดร.นพ.วรตม์ : “ถ้าตามงานวิจัย ก็ชัดเจนว่าคนก่อเหตุยิงต่อเนื่อง เขามีการรวบรวมข้อมูลมา 100 กว่าเคส จะพบว่าคนก่อเหตุจริงๆ มีเรื่องราวมากมาย ประมาณ 3-6 เรื่อง และทั้งหมดส่วนมากคนรอบข้างรับรู้ แต่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวอะไรก็ตาม ไม่เป็นสาเหตุใหคุณทำร้ายคนบริสุทธิ์ แต่อันนี้เป็นจุดนึงที่คนรอบข้างต้องดู ถ้ามีการแชร์คลิป ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับเหตุที่โคราช มีการแชร์ในลักษณะหลงใหลได้ปลื้ม คนนี้เป็นไอดอล ตรงนี้คนรอบข้างอาจต้องตักเตือนหรือส่งข้อมูลให้ตำรวจ เพราะถ้าตามตำรา คนส่วนนึงที่ทำตามถี่ขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งจะมองเห็นว่าสร้างชื่อเสียง เป็นไอดอล และทำแบบนี้คนจะสนใจเขาเลยทำตาม เพราะฉะนั้นถ้ามีข้อมูลแบบนี้ในโซเชียล อย่าปล่อยปละละเลย พยายามจัดการให้ถึงที่สุด”

 

ล่าสุดคนร้ายมีการโพสต์เฟซบุ๊กของตัวเขาเอง มีบุคคลเข้าไปเชียร์อัพ เอาเลยพี่ เอาให้สุดทาง พี่มาทางนี้ อย่าไปยอม? 

ดร.นพ.วรตม์  : “ประเทศเราถ้าดูตัวเลข ปัจจุบันเราใช้อินเตอร์เน็ตผ่านมือถือติดอันดับท็อป 5 มาโดยตลอด ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา แต่ถ้าวัดอัตราการรู้เท่าทันอินเตอร์เน็ต การใช้อินเตอร์เน็ตอย่างถูกต้อง เราอยู่อันดับท้ายๆ ของโลก  เขาใช้โดยที่ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ใช้โดยไม่รู้ว่าจะมีผลกระทบอะไรกับเขา มีผลกระทบอะไรบ้าง ตรงนี้หลายครั้งอาจแค่พูดเล่นๆ ขาดสติในการทำ แต่ก็มีบางกลุ่มที่มีความคิดแบบนั้นจริงๆ และไม่รู้จะจัดการปัญหาตรงนี้ยังไง แล้วถ้าเขาได้ไปเสพข้อมูลความรุนแรงเยอะๆ รวมกับคนไปช่วยคอมเมนต์ว่าทำแบบนี้ดีแล้ว รับได้ เข้าใจได้ เขาเองอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และคิดว่าวิธีนี้จะได้ผล”

 

สังคมส่วนหนึ่งรู้สึกว่าเขาน่าสงสาร ถูกเอารัดเอาเปรียบ อีกมุมบอกว่าไม่ใช่ มันเกิดอะไรขึ้น และจะทำยังไง?

ดร.นพ.วรตม์ : “นี่เป็นความสำเร็จของผู้กระทำก่อเหตุครั้งนี้ ทั้งที่เหตุจบไปแล้ว เสียชีวิตไปแล้ว แต่ยังมีผลต่อสังคมเราอยู่ นี่คือความน่ากลัวของเหตุการณ์แบบนี้ เขายังทำให้สังคมมานั่งทะเลาะกัน ทำให้สังคมเกิดความปั่นป่วนเพราะเราไปให้คุณค่าเขา เรายังเห็นว่าเขามีตัวตน เห็นว่าเขาสำคัญเรามองในมุมมองของเขา แต่ถามว่าสิ่งที่เราควรมองเรื่องนี้จริงๆ คือสิ่งที่สูญเสีย สิ่งที่อยู่รอบข้าง เด็กคนหนึ่งที่วันหนึ่งเขาจะโตขึ้นรับปริญญา เขาจะมีครอบครัว พ่อแม่ที่อยากกลับไปอยู่กับลูก เราได้มองตรงนี้หรือเปล่า ถ้ามองตรงนี้ มันไม่มีเหตุผลใดๆ เลยที่เขาต้องมาเสียชีวิตโดยที่เขาไม่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าคุณจะมีปัญหาส่วนตัวยังไงก็ตาม”

 

ฌอนมองยังไง?

ฌอน : “มีข้อความนึงที่อยากจะฝาก ถ้าหากเรามีคนติดตามและมีอิทธิพลต่อสังคม คนติดตามเยอะ คนติดตามน้อย ทุกครั้งที่เราโพสต์อะไร มีคนเรียนรู้อะไรบางอย่างจากเรา เรากำลังสอนให้คนดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย เพื่อเรียกร้องความสนใจ เรากำลังทำให้คนอยากได้ในสิ่งของ หลอกให้เขาคิดว่าเป็นความสุขที่แท้จริง หรือเรากำลังส่งเสริมให้เขาตามความฝัน ตั้งใจทำงาน ถ้าเรารู้ถึงความเล็กของตัวตนของเรา ในเวลาเดียวกัน รู้ถึงอิทธิพลที่เรามีต่อสังคม เราอาจมีความรับผิดชอบมากขึ้น แล้วถามตัวเองทุกครั้งที่เราโพสต์ว่าสิ่งที่เราโพสต์ คนที่เห็นจะจากเราไปดพร้อมชีวิตที่ดีขึ้นหรือแย่ลง อยากให้คนที่ทำสื่อใหญ่ สื่อโซเชียล ตระหนักรู้ถึงอิทธิพลที่เขามี ผมรู้สึกว่าบางทีคนทำข่าวไม่รู้ว่าสื่อเป็นสิ่งที่กำหนดทิศทางของประเทศ เราทำให้คนคิดอะไรได้ หรือคิดแย่คิดดีได้ เราไม่รู้ว่าเรามีคุณค่ามากแค่ไหน พี่ๆ นักข่าวทุกคน ส่งผลต่อประเทศมากแค่ไหน ช่องข่าวกำหนดทิศทางของประเทศ เราก็รู้ว่าพี่ๆ ไม่ได้ตั้งใจทำอะไรผิด เราอยากขอขอบคุณทุกช่องที่เพิ่มกระจายข่าวและลดภาพเขาและลดชื่อ มีหลายช่องที่ทำแล้ว ก็ขอบคุณมากครับ”

 

ดร.นพ.วรตม์  : “เข้าใจว่าเหตุการณ์นั้นมีความวุ่นวายมาก ไม่ใช่แค่เหตุการณ์หน้างานอย่างเดียว ทั้งหมด ทั้งสื่อเองก็มีความยากลำบากในการนำเสนอมากๆ รวมถึงเราเองไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน ใครทำผิดพลาดไปผมคิดว่าสังคมควรให้อภัยซึ่งกันและกัน ต้องก้าวไปข้างหน้า แต่ถ้าคุณยังทำซ้ำเหมือนเดิม แสดงว่าคุณก็ไม่สนใจต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้น สื่อเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลมากมายมหาศาล สะท้อนสังคม เราจะไกด์สังคมหรือพาสังคมเดินไปทางไหน เราอยากให้คนเหล่านี้มีตัวตนมั้ย สื่อไม่ใช่แค่ช่องเดียว คนทั่วไปก็เป็นสื่อ เดี๋ยวนี้คุณโพสต์ ทุกคนได้ยินข้อความคุณหมด เพราะฉะนั้นทุกคนเป็นสื่อ เราเองก็ต้องรับผิดชอบ จะบอกว่าเราเป็นคนธรรมดาไม่ได้ เราเองก็เป็นสื่อ เราเองก็ต้องมีจริยธรรมเรื่องนี้เช่นเดียวกัน”

 

ไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ สื่อทำถูกบ้างผิดบ้าง แต่อยากนำเสนอให้ทุกคนได้รับรู้ แต่บางครั้งเกิดข้อผิดพลาด ก็ต้องเข้าใจว่านี่เป็นเหตุการณ์ครั้งแรก แต่ถ้าเกิดวันนี้เขาเสียชีวิตไปแล้ว จบได้แล้ว ไมต้องให้ตัวตน คุณค่าเขา ต่อไปนี้เราจะอยู่กันยังไง?

ดร.นพ.วรตม์ : “ผมอยากให้คนไทยเปลี่ยนความสนใจ เปลี่ยนความสำคัญไปสู่สิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในวันนั้น มีอะไรบ้างครับ เราเจอผู้จัดการที่พาเด็กไปหลบ เราเจอผู้จัดการธนาคารสาขาหนึ่งของไทยพาณิชย์พาไปหลบในตู้เซฟ เราเจอพี่แกร๊บพาคนหนีออกไป เราเจอเจ้าหน้าที่ตร. บุคลากรทางการแพทย์มากมายที่ช่วยเหลือ เราไปโฟกัสตรงนี้ครับ ให้กำลังใจคนที่ช่วยเหลือสังคม ให้เขามีคุณค่า มีตัวตน เมื่อคนเหล่านี้มีคุณค่า มีตัวตน ทุกคนก็เริ่มอยากเป็นแบบนั้น ไม่ใช่อยากเป็นเหมือนฆาตกร”

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image