ไทย พบ พม่า : ออง ซาน กับรัฐพม่าสมัยใหม่ (5) : โดย ลลิตา หาญวงษ์

เซอร์ ออสวอลด์ มอสลีย์ อดีตผู้นำสหภาพฟาสซิสต์แห่งสหราชอาณาจักร หรือ BUF

ตั้งแต่ในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้นำชาตินิยมในหลายประเทศมีแนวคิดทางการเมืองในลักษณะ “ซ้ายนำ” แนวทางแบบมาร์กซ์ หรือสังคมนิยม ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกันมากเพื่อกระตุ้นให้เกิดการปฏิรูปในสังคมที่อยู่ใต้ระบอบอาณานิคมมายาวนาน นำพาประเทศออกจากการควบคุมของเจ้าอาณานิคม และวางแผนพัฒนาประเทศในยุคหลังสงคราม เมื่อระบอบอาณานิคมล่มสลายแล้ว

สำหรับออง ซาน ปัญหาที่สำคัญที่สุดสำหรับพม่าคือปัญหาทางการเมือง ภายใต้ระเบียบโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในยุคนั้น พม่าจำเป็นต้องปรับตัว หรือในภาษาปัจจุบันคือกำจัด “ไดโนเสาร์” ที่คอยฉุดรั้งความเจริญของชาติ โดยเฉพาะค่านิยมและความเชื่อเก่าๆ ออกไปบ้าง และพัฒนาประเทศตามแนวทางสากล ดังที่ผู้เขียนได้เล่าให้ฟังไปแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน อุปสรรคที่ขัดขวางความเจริญอีกอย่างหนึ่งที่ออง ซาน เน้นย้ำมากคือระบอบฟาสซิสต์ เขาให้คำจำกัดความของระบอบฟาสซิสต์ไว้อย่างมีชีวิตชีวาว่า

“มันสวมใส่ชุดสูทจากผ้าอิตาเลียน ส่วนใหญ่ผลิตในเยอรมนี ลอกเลียนแบบโดยญี่ปุ่น และส่งออกไปแทบทุกที่ทั่วโลก (รวมทั้งประเทศของเราด้วย)…ฟาสซิสต์เป็นผลผลิตที่เลวร้ายที่สุดของทุนนิยม เลวร้ายที่สุดที่โลกเคยเห็นมา ความโหดร้ายแห่งมวลมนุษยชาติและประวัติศาสตร์นี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไรเล่า? คำตอบอยู่ในกฎของสังคมทุนนิยม ทุนนิยมตั้งอยู่บนการผลิตไร้ขื่อแป เน้นที่กำไรเพียงอย่างเดียว ซึ่งก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการกระจายความมั่งคั่ง ทุนนิยมไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ตัวมันสร้างขึ้นมาได้” (หาอ่านข้อเขียนของออง ซาน ฉบับเต็มได้ในหนังสือ The Political Legacy of Aung San ซึ่งรวบรวมโดย Josef Silverstein ตีพิมพ์ในปี 1972)

เมื่อคนส่วนใหญ่มองออง ซาน เรามักมองว่าเขาเป็นนักชาตินิยม และผู้สถาปนากองทัพแห่งชาติพม่าขึ้น แต่สิ่งที่ถูกพูดถึงน้อยมากคือเขาเป็นนักทฤษฎีมาร์กซิสต์ที่สำคัญคนหนึ่ง ออง ซาน และคนหนุ่มในรั้วมหาวิทยาลัยย่างกุ้งในรุ่นไล่ๆ กันเชื่อสุดหัวใจว่าทุนนิยมคือต้นกำเนิดปัญหาแทบทั้งหมดของพม่า โดยเฉพาะปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ของคนงานและเกษตรกรที่ย่ำแย่ ด้วยความหิวกระหายกำไรของเจ้าอาณานิคม ในยุโรปก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ออง ซานเห็นการขึ้นสู่อำนาจของผู้นำฟาสซิสต์ทั้งในเยอรมนี สเปน หรือแม้แต่ระบอบทหารที่กำลังพัฒนาอยู่ในญี่ปุ่น แม่ประเทศอาณานิคมอย่างอังกฤษหรือฝรั่งเศสจะไม่ได้มีผู้นำฟาสซิสต์โดยตรง แต่ออง ซานมองว่าระบอบจักรวรรดินิยม หรือการล่าอาณานิคมทั้งระบบ คือระบอบฟาสซิสต์ที่ชั่วร้ายที่สุด

Advertisement

การเน้นย้ำให้เห็นความเลวร้ายของระบอบฟาสซิสต์เห็นได้จากการตั้งสมาคมชาตินิยมขึ้นมาในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยใช้นามว่า สันนิบาตเสรีภาพประชาชนต่อต้านฟาสซิสต์ (Anti-Fascist People’s Freedom League) หรือ AFPFL ที่ตั้งขึ้นเป็นสมาคมลับเพื่อต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น ที่ในเวลานั้นกำลังยึดครองพม่า และพื้นที่อื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ และต่อมาจะกลายเป็นพรรครัฐบาลในยุคหลังพม่าได้รับเอกราช ออง ซาน ไม่ได้มองระบอบฟาสซิสต์อย่างผิวเผิน เขากลับย้ำเสมอว่าแม้นเมื่อประชาชนพม่าร่วมกันต่อสู้เพื่อเอกราชได้สำเร็จแล้ว ผลผลิตของระบอบฟาสซิสต์ก็ยังจะมีให้เห็นอยู่ แม้ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบแล้ว ระบอบฟาสซิสต์และการกดขี่ก็จะยังมีให้เห็นอยู่ ผ่านเครือข่ายของชนชั้นสูง และภาคการเมือง-ธุรกิจที่ยังเอารัดเอาเปรียบประชาชนอยู่ ออง ซาน ยกตัวอย่างของเซอร์ ออสวอลด์ มอสลีย์ (Sir Oswald Mosley) นักการเมืองหนุ่มในอังกฤษที่มีบุคลิกเป็นที่น่าเลื่อมใสและกลายเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษในทศวรรษ 1920 ก่อนที่จะกลายเป็นผู้นำของสหภาพฟาสซิสต์แห่งสหราชอาณาจักร (British Union of Fascists-BUF) ในเวลาต่อมา

การกำจัดความไม่เท่าเทียมคือการกำจัดระบอบฟาสซิสต์ในทุกรูปแบบออกไป ผ่านการร่วมมือร่วมใจกันของประเทศทั่วโลก เมื่อออง ซาน กล่าวสุนทรพจน์ครั้งประวัติศาสตร์นี้ในปี 1946 สงครามโลกเพิ่งจะสิ้นสุดลง และเพิ่งเกิดสหประชาชาติขึ้นมาทดแทนองค์กรโลกบาลเดิม หรือสันนิบาตแห่งชาติ (League of Nations) ออง ซาน มองว่าสหประชาชาติจะมีบทบาทมากกว่าสันนิบาตแห่งชาติ แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าหน่วยงานโลกบาลประเภทนี้ (รวมทั้งองค์กรอื่นๆ ที่เกิดตามมา เช่น ธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ) จะเป็นกระบอกเสียงให้เฉพาะประเทศขนาดใหญ่ โดยหลงลืมประเทศอาณานิคมหรืออดีตอาณานิคมไป

ในข้อเขียนว่าด้วย “ปัญหาสำหรับเอกราชพม่า” ที่ผู้เขียนกำลังหยิบยกมากล่าวถึงอยู่นี้ ออง ซาน ชื่นชมประเทศสังคมนิยมอย่างโซเวียตแบบออกนอกหน้า และมองว่าโซเวียตเป็น “ปิตุภูมิแห่งสังคมนิยม” ที่จะสามารถเอาชนะความชั่วร้ายของระบอบทุนนิยมที่กำลังกัดกินยุโรปได้ ในขณะเดียวกัน ออง ซา ก็ชื่นชมสหรัฐอเมริกา ที่ส่งกำลังพลจำนวนมากมาช่วยยุโรปรบ “เพื่อถอนรากถอนโคนฟาสซิสต์ให้หมดสิ้น” และยังชื่นชมว่าสหรัฐอเมริกาเป็นต้นแบบแห่งประชาธิปไตยของโลก ผู้อ่านคงจำได้ว่าออง ซาน เป็นผู้วิพากษ์ระบอบทุนนิยมอย่างรุนแรง แต่สำหรับผู้นำขบวนการชาตินิยมที่มีทัศนคติเชิงลบกับประเทศเจ้าอาณานิคมในยุโรป สหรัฐอเมริกาสำหรับออง ซาน ยังมีผู้นำที่น่าชื่นชม ผู้เขียนรู้สึกว่าออง ซาน ไม่ได้ให้ความสำคัญว่าสหรัฐอเมริกาจะเป็นประเทศผู้นำทุนนิยมหรือไม่ แต่สำหรับผู้นำพม่าผู้นี้ ประเทศใดก็ตามที่ร่วมต่อสู้เพื่อการปลดปล่อยประเทศทั่วโลกจากระบอบฟาสซิสต์ก็ย่อมเป็นพันธมิตรที่ดีสำหรับพม่าในอนาคต

Advertisement

จากข้อเขียนของออง ซาน เขาไม่รู้เลยว่าในอีกไม่กี่ปีต่อมา ประเทศที่เขาชื่นชมสูงสุง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต และจีน จะลุกขึ้นมาเผชิญหน้ากัน จนเกิดเป็นสงครามเย็นขึ้นในที่สุด ไม่มีใครรู้ว่า หากออง ซาน มีชีวิตอยู่มาจนถึงยุคสงครามเย็น พม่าจะเลือกเข้าข้างประเทศในค่ายเสรีประชาธิปไตยหรือคอมมิวนิสต์ แต่ที่พอจะคาดการณ์ได้คือออง ซาน มีใจโน้มเอียงมาทางฟากฝั่งคอมมิวนิสต์มากกว่า หากผู้อ่านเคยอ่านเรื่องกรณีการลอบสังหารออง ซาน มาบ้าง ก็จะพบว่ามีทฤษฎีหนึ่งที่กล่าวว่าโลกตะวันตกเป็นผู้คิดแผนลอบสังหารออง ซานขึ้น เพราะเกรงว่าผู้นำฝ่ายซ้ายที่โปรทั้งโซเวียตและจีนผู้นี้จะเป็นภัยคุกคามโลกฝั่งเสรีประชาธิปไตยได้ในอนาคต ทฤษฎีการลอบสังหารออง ซาน ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบัน แต่ที่แน่ๆ คือหากออง ซาน ยังมีชีวิตอยู่มาจนถึงยุคสงครามเย็น พม่าในปัจจุบันจะไม่ใช่พม่าอย่างที่เรารู้จัก ด้วยวิสัยทัศน์ที่ไม่ธรรมดา การเป็นทั้งนักคิด นักเขียน และปัญญาชนของผู้นำชาตินิยมผู้นี้ ผู้เขียนเชื่อมั่นว่าอย่างน้อยพม่าภายใต้การปกครองของออง ซาน ก็จะมีความเป็นปึกแผ่นและรุดหน้าไปได้รวดเร็วกว่าพม่าภายใต้ผู้นำชาตินิยมสายอนุรักษนิยมคนอื่นๆ อย่างแน่นอน

 

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image