รักลวงหลอก (โอน) ฮาวทูเลิฟ? รักยังไงไม่ให้เป็น ‘เหยื่อ’

ภาพประกอบ

รักลวงหลอก (โอน) ฮาวทูเลิฟ? รักยังไงไม่ให้เป็น ‘เหยื่อ’

 

ในยุคที่โลกหมุนไปตามกระแสซึ่งมีศูนย์กลางคือ “อินเตอร์เน็ต” ที่นับวันยิ่งไวขึ้นและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานมากขึ้น การจะสร้างความสัมพันธ์กับใครสักคนไม่ว่าจะเป็นทางธุรกิจ หรือการมีความรัก ก็ไม่ใช่เรื่องซับซ้อนอีกต่อไป ดังนั้น การมีปฏิสัมพันธ์ผ่านการใช้เทคโนโลยีจึงได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงการทำธุรกรรมออนไลน์ ที่หลายคนตกเป็นเหยื่อความสัมพันธ์ ถูกมิจฉาชีพ “ลวงให้รัก” และ “หลอกให้โอนเงิน” อยู่บ่อยครั้ง

ดังผลงานวิจัยของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ระบุว่า ภัยแฝงที่มาจากการพบรักในโลกออนไลน์ เช่น หลอกให้รักแล้วโอนเงินนั้นมีมูลค่าความเสียหายถึง 6 พันล้านบาท สูงเป็นอันดับสองรองจากการหลอกลวงเป็นผู้รับเงินทางอีเมล์ โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีผู้ร้องทุกข์จากกรณีดังกล่าวมากกว่า 300 ราย เสียหายกว่า 190 ล้านบาท โดย “ช่องทางยอดนิยม” ที่มิจฉาชีพใช้เป็นเครื่องมือล่อลวงเหยื่อ ได้แก่ โซเชียลมีเดีย และเว็บไซต์หาคู่ต่างๆ ซึ่งนำไปสู่จุดประสงค์หลักในการ “หลอกเอาเงิน” หรือ “หลอกเอาข้อมูลส่วนตัวเพื่อไปทำธุรกรรมทุจริต”

โดย ขั้นตอน “รัก ลวง หลอก (โอน)” ผ่านธุรกรรมออนไลน์ที่มิจฉาชีพใช้ส่วนใหญ่มักผ่าน 3 วงจร ดังนี้

Advertisement

1.แปลงโฉมเพื่อสืบเสาะเข้าหา หรือล่อเหยื่อเข้ามา โดยการสร้างโปรไฟล์ปลอมบนโลกออนไลน์ บางรายใช้ภาพที่ผ่านการตัดต่อเรียบร้อยแล้ว โพสต์ภาพกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน ชื่อเว็บไซต์บริษัท/สถานที่ทำงาน หรือใช้รูปปลอมและข้อมูลโปรไฟล์ปลอมที่ขโมยคนอื่นมาแทนเป็นตัวเอง เพื่อสร้างภาพให้สวย หล่อ บุคลิกดี มีอาชีพมั่นคง มีฐานะร่ำรวย หลอกล่อคนที่เข้ามาเห็นให้เกิดความประทับใจ รวมไปถึงการติดตามดูพฤติกรรมของเหยื่อที่หมายตาแล้วแปลงโปรไฟล์ให้ตรงกับความชอบของเหยื่อ

2.ปากหวานให้ตายใจ เมื่อติดต่อกันแล้ว จะเริ่มหว่านล้อมในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เหยื่อรู้สึกว่าตนเองเป็นคนสำคัญ โดยพยายามสานสัมพันธ์อย่างรวบรัด เร็วสุดตั้งแต่ 2-3 วัน ไปจนถึงอดทนนานเป็นปีๆ ค่อยออกลาย

3.ร้อยเล่ห์เพทุบาย เมื่อเหยื่อเริ่มเชื่อใจจะสร้างสถานการณ์ให้เหยื่อเกิดความสงสาร และสร้างความหวังว่าจะได้พบกันเพื่อร้องขอเงิน เช่น มีปัญหาทางการเงินเร่งด่วน ซื้อตั๋วเครื่องบินเพื่อเดินทางมาพบกัน หรือชักชวนให้ร่วมลงทุนสร้างธุรกิจเพื่อใช้ชีวิตบั้นปลายร่วมกันก็มี

ทั้งนี้ จากสถิติยังพบว่า ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อมากกว่าผู้ชาย ที่สัดส่วนร้อยละ 86 ต่อร้อยละ 11 กระนั้นไม่ว่าจะเป็นเพศไหน หากมี “พฤติกรรมเสี่ยง” ก็อาจตกเป็น “เหยื่อ” ได้เช่นกัน อาทิ เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวบนโลกโซเชียลเป็นประจำ, ชอบแชร์เรื่องราวส่วนตัว อารมณ์ ความรู้สึก, โพสต์รูปถี่ๆ ว่าไปไหนมาไหนมาบ้าง (3 นาที 4 สเตตัส), อ่อนไหวง่ายกับประโยคหวานๆ คำคม, เชื่อใจคนง่าย ต้อนรับทุกคนเป็นเพื่อน, เข้าแอพพ์ หาคู่ ปัดซ้าย-ปัดขวา เป็นประจำ

ทรูมันนี่ (TrueMoney) จึงให้ข้อแนะนำ “ฮาว ทู เลิฟ” รักยังไงไม่ให้โดนหลอก ดังนี้

1.อย่าปล่อยให้ “อารมณ์” มีอำนาจเหนือ “สติ” การเปิดเผยตัวตนบนโลกออนไลน์มากเกินไปอาจนำพามาซึ่งความเสี่ยง โดยเฉพาะข้อมูลส่วนตัวชั้นดีที่เหล่านักต้มตุ๋นใช้ในการคัดเลือก “เหยื่อ” รายต่อไป

2.มองโลกตามความเป็นจริง ใช้ทักษะในการตรวจสอบสืบเสาะหาข้อมูลของบุคคลที่เข้ามาขายขนมจีบ และหัดตั้งคำถามกับตัวเองและคนที่เข้ามาคุยด้วยอย่างจริงใจตรงไปตรงมาเพื่อวิเคราะห์ถึงความน่าจะเป็น

3.สังเกตโปรไฟล์อย่างเจาะลึก เช่นว่าคนนั้นมีเพื่อนเยอะแค่ไหน ใคร “แท็ก” หรือคอมเมนต์รูปบ้าง วันเกิดมีเพื่อนมาอวยพรหรือแท็กรูปไหม การตั้งข้อสังเกตทำให้เรายั้งไว้ทัน ไม่หลงคารมอะไรของใครง่ายๆ

4.ลองเอาชื่อโปรไฟล์ไปเสิร์ช “กูเกิล” หรือเซฟรูปจากโซเชียลมีเดียไปค้นหาใน “กูเกิล” เลือก “ค้นรูป” อาจโป๊ะแตกเจอเจ้าของภาพตัวจริงที่ถูกสวมรอยมาก็ได้

และ 5.มิจฉาชีพออนไลน์มักไม่ชอบเผชิญหน้า ลองชวนเปิดกล้องขอ VDO Call เลยว่ากล้าไหม หรือลองบอกว่าจะส่งของไปให้ จากนั้นก็ขอที่อยู่ ถ้าอิดออดไม่ยอมให้ อ้างสารพัด ให้มั่นใจเลยว่า “ปลอมชัวร์”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาให้มีความปลอดภัยมากแค่ไหน แต่ถ้าเจ้าของข้อมูลหรือบัญชีหละหลวมในการเฝ้าระวัง ก็เปรียบได้กับการเปิดกระเป๋ายื่นทรัพย์สินให้กับมิจฉาชีพเองกับมือ ด้วยเหตุนี้การสร้างความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยี และโลกออนไลน์อย่างปลอดภัยและให้ได้รับประโยชน์สูงสุด จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้บริโภคและผู้ใช้งานต้องตามให้ทัน

รัก ลวง โอน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image