ปตท.เร่งลงทุนตามนโยบาย”สมคิด” อัด2แสนลบ.ช่วง5ปี
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) เปิดเผยภายหลังหารือร่วมนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่สำนักงานปตท. เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ว่า ปตท.ได้ยืนยันต่อนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ว่ากลุ่มปตท.เตรียมเงินลงทุนราว 2 แสนล้านบาท ในช่วง 5 ปี(2563-67) เพื่อลงทุนเรื่องพลังงานสะอาดในไทย เดินหน้าสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน อาทิ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) อยู่ระหว่างดำเนินโครงการพลังงานสะอาด(ซีเอฟพี) เพิ่มประสิทธิภาพโรงกลั่น อัพเกรดน้ำมันเตาเป็นน้ำมันเครื่องบินและน้ำมันดีเซล ขณะที่ปตท.อยู่ระหว่างสร้างท่อก๊าซธรรมชาติ และคลังก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) เพื่อให้เกิดความมั่นคงของเชื้อเพลิงรองรับการใช้ผลิตไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรม และอยู่ระหว่างลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจากการร่วมลงทุนพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะ 3 และรอความชัดเจนการได้พัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ด้วย
“กลุ่มปตท.ยังส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน โดยส่งเสริมให้ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด(มหาชน) หรือ จีพีเอสซี ลงทุนติดตั้งโซลาร์บนหลังคาคลังสินค้า ,โรงงาน หรือสถานีบริการน้ำมัน ขณะที่ปตท.อยู่ระหว่างศึกษาการจัดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า หรือ อีวี ซึ่งในส่วนนี้ต้องการให้กระทรวงพลังงานเร่งเจรจากับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. เพื่อให้เกิดการขายไฟฟ้าเฉพาะพื้นที่เพื่อรองรับการขายไฟฟ้าให้กับรถยนต์ไฟฟ้าด้วย”นายชาญศิลป์กล่าว
นายชาญศิลป์ กล่าวว่า กลุ่มปตท.ยังนำเสนอความกังวลต่อสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจส่งผลต่อการผลิตของภาคอุตสาหกรรมในระยะยาว โดยเฉพาะเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพราะในระยะสั้นแม้ภาคอุตสาหกรรมจะผ่านพ้นสถานการณ์ดังกล่าวไปได้ เพราะมีการผันน้ำจ.จันทบุรี มาให้จ.ระยอง แต่ระยะยาวควรจะเปิดประมูลในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน(พีพีพี) เพื่อให้เอกชนผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำระยะยาว
นายชาญศิลป์กล่าวถึงนโยบายรัฐบาลที่อนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ทดลองนำเข้าแอลเอ็นจีใช้ในโรงไฟฟ้าตนเองว่า การนำเข้าต้องพิจารณาถึงสัญญาการซื้อขายก๊าซฯของปตท.ในอ่าวไทย เมียนมา และสัญญาซื้อขายแอลเอ็นจีระยะยาว และเมื่อนำเข้าแล้วกฟผ.ควรใช้เฉพาะโรงไฟฟ้าของกฟผ.เท่านั้น ไม่ควรไปขายให้แก่รายอื่น รวมถึงบริษัทลูกของกฟผ. ยกเว้นรัฐประกาศให้เอกชนที่ผลิตไฟฟ้านำเข้าแอลเอ็นจีได้เองก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะมีผลต่อค่าไฟฟ้า โดยปัจจุบันปตท.มีคลังแอลเอ็นจีอยู่แล้ว 1 แห่ง ขนาด 11.5 ล้านตันต่อปี และอยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 1 แห่ง ขนาด 7.5 ล้านตันต่อปี รวมเป็น 19 ล้านตัน ปัจจุบันปตท.ยังใช้คลังไม่เต็มประสิทธิภาพ แต่การเตรียมความพร้อมดังกล่าวนับว่าเหมาะสม เพื่อป้องกันการขาดแคลนก๊าซฯในอนาคต ที่ปริมาณก๊าซฯในอ่าวไทยจะลดลง