จ่อแจ้งจับเจ้าสัวพันล้าน-พวกแอบถือครอบครองที่วิวสวยเกือบ 200 ไร่ อุทยานเขาแหลม

เมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้ 14 กุมภาพันธ์ พันเอก พงษ์เพชร เกษสุภะ หัวหน้าชุดปฏิบัติการ ศปป.4 กอ.รมน.นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) นายเทวินทร์ มีทรัพย์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลม และคณะเจ้าหน้าที่ ได้เข้าร่วมการออกตรวจปราบปรามการกระทำผิด ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม บ้านลิเจีย หมู่ 4 ตำบลปรังเผล อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี

สืบเนื่องมาจาก นายมนตรี มังกรกนก ภูมิลำเนาอยู่จังหวัดกรุงเทพมหานคร กรรมการบริษัท เอเชียไฟเบอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท วงศ์ช่าง จำกัด ที่มีทุนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 1 พันล้านบาท กับพวกรวม 6 คน ประกอบไปด้วย ดร.ปัญจรัตน์ มังกรกนก นางสาวศิริกุล มังกรกนก นางสาวศิริวรรณ มังกรกนก นายภูริพงศ์ มังกรกนก นายไพรัชญ์ ปัญจรันต์มนตรี เป็นตัวการ ได้ให้ นายศักดิ์ชัย บัณติอินทร์ และนายวันชัย นวลขำดีแท้ ภูมิลำเนาอยู่จังหวัดกาญจนบุรี เป็นตัวแทน โดยเจ้าสัวมนตรี กับพวกที่เป็นตัวการ ให้ นายศักดิ์ชัย และนายวันชัย เป็นตัวแทน ไปนำชี้ตรวจสอบรังวัดแปลงที่ดินตามมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม จังหวัดกาญจนบุรี ของคนอื่น แล้วครอบครองเปลี่ยนชื่อมาเป็นของตัวเอง

จากนั้น เจ้าสัวมนตรีกับพวกนำรายชื่อดังกล่าว เข้าคณะกรรมการพิสูจน์สิทธิ์การครอบครองที่ดินของราษฎรในพื้นที่อนุรักษ์ จังหวัดกาญจนบุรี แต่คณะกรรมการฯมีมติไม่รับรอง เพราะที่ดินตามมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 มีหลักเกณฑ์กำหนดไว้ ให้ช่วยเหลือราษฎรเดิม ผ่อนปรนให้อยู่อาศัยและทำกินอยู่ในที่เดิม ก่อนหรือหลังประกาศเขตสงวนหวงห้ามครั้งแรก และต้องทำประโยชน์ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ด้วยบุคคลภายนอก ที่มีการซื้อ ขาย เปลี่ยนมือ หรือโอนสิทธ์มา จากราษฎรเดิม ไม่ได้รับประโยชน์ หรือไม่มีสิทธิ์ได้รับการผ่อนปรนในที่ดินตามมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 ดังกล่าว และการกระทำการซื้อ ขาย เปลี่ยนมือ หรือโอนสิทธิ ในที่ดินตามมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 นั้น ทำให้เกิดการบุกรุกป่าเพื่อหาที่ดินทำกินเพิ่มเติมจากการขายไป หรือโอนไป เกิดวัฏจักร การบุกรุกป่าไม่มีสิ้นสุด เป็นการกระทบกระเทือน ต่อการรักษาป่า และสิ่งแวดล้อม ซึ่งหลักเกณฑ์ด้านป้องกันทรัพยากรป่าไม้ หรืออื่นๆ ตามมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 บัญญัติไว้ว่า การกระทำใดๆ ที่เป็นการกระทบกระเทือนต่อการรักษาป่า หรือสิ่งแวดล้อมให้ดำเนินการตามกฎหมาย อย่างเฉียบขาด
หลังจากคณะเจ้าหน้าที่ได้รวบรวมพยานหลักฐานจนครบแล้ว วันนี้คณะเจ้าหน้าที่ฯ จึงได้เดินทางมาตรวจยึดแปลงที่ดินดังกล่าวในบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาแหลม บ้านลิเจีย หมู่ที่ ตำบลปรังเผล อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ขณะตรวจยึดแปลงที่ดินดังกล่าว ไม่พบผู้ใดอยู่ในที่เกิดเหตุ จึงได้ตรวจยึดรังวัดแปลงที่ดินดังกล่าว ดังนี้ 1.นายมนตรี มังกรกนก ตรวจยึดรังวัดแปลงที่ดินได้จำนวน 45 ไร่ 31 ตารางวา 2.ดร.นางปัญจรัตน์ มังกรกนก ตรวจยึดรังวัดแปลงที่ดินได้ 47 ไร่ 3 งาน 72 ตารางวา 3.นางสาวศิริกุล มังกรกนก ตรวจยึดรังวัดแปลงที่ดินได้ 26 ไร่ 2 งาน 91 ตารางวา 4.นางสาวศิริวรรณ มังกรกนก ตรวจยึดรังวัดแปลงที่ดินได้ 46 ไร่ 96 ตารางวา 5.นายไพรัชญ์ ปัญจรันต์มนตรี ตรวจยึดรังวัดแปลงที่ดินได้ 25 ไร่ 2 งาน 75 ตาราวา และ 6.นายภูมิพงษ์ มังกรกนก 5 ไร่ 3 งาน 10 ตารางวา รวมทั้งหมด 197 ไร่ 1 งาน 75 ตารางวา ก่อนบันทึกเรื่องราวนำส่งพนักงานสอบสอบ สภ.สังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี สืบสวนสอบสวน หาตัว นายมนตรี มังกรกนก กับพวกรวม 6 คน รวมทั้ง นายศักดิ์ชัย บัณติอินทร์ นายวันชัย นวลขำดีแท้ ผู้สนับสนุน มาดำเนินคดีตามกฎหมายอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 มาตรา 19 (1) ฐานยึดถือ ครอบครอง ในที่ดินในอุทยานแห่งชาติโดยมิได้รับอนุญาต ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปีถึง 20 ปี ปรับตั้งแต่ 4 แสนถึง 2 ล้านบาท และคณะเจ้าหน้าที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 35 (1) กฎหมายอุทยานแห่งชาติ 2562 ได้ติดป้ายประกาศ ห้ามมินายมนตรี มังกรกนก กับพวกหรือบุคคลใด กระทำการใดๆ ในที่ดินแปลงดังกล่าว จนกว่าคดีถึงที่สุด หากฝ่าฝืนประกาศต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำและปรับ และค่าปรับรายวันอีกวันละ 1 หมื่นบาท จนกว่าจะยุติการกระทำนั้น

สาหรับมูลค่าความเสียหายของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทาลาย สูญหาย หรือเสียหายไปตามมาตรา 40 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 นั้น คณะพนักงานเจ้าหน้าที่จะแจ้งให้พนักงานสอบสวนทราบโดยเร็ว เนื่องจากต้องดำเนินการตามขั้นตอนในการประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมบางประการหลังการทาลายพื้นที่ป่าไม้ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 3 วัน

Advertisement

ด้านนายเทวินทร์ มีทรัพย์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลม กล่าวว่า พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลม มีภูมิประเทศเป็นแหล่งน้ำที่มาจากเขื่อนวชิราลงกรณ รวมทั้งเป็นป่าและภูเขา จากลักษณะดังกล่าวจึงทำให้เป็นพื้นที่ที่มีทิวทัศน์ที่สวยงามแต่ปัญหาก็คือมีชุมชนและมีชาวบ้านอยู่ในพื้นที่ ชาวบ้านบางส่วนที่ครอบครองที่ดินก็ได้รับสิทธิจากนิคมสหกรณ์ ซึ่งชาวบ้านเหล่านั้นคือกลุ่มผู้อพยพขึ้นมา เนื่องจากที่อยู่อาศัยถูกน้ำท่วมจากการสร้างเขื่อน หลังจากนั้นก็มีการขยายพื้นที่ออกไปเรื่อยๆ ซึ่งรัฐบาลได้มีมาตรการในเรื่องของการผ่อนผันตามมติ ครม.ต่างๆ รวมทั้งเรื่องคำสั่ง คสช.ที่ 66/57 ก็ดี หลังจากนั้นก็ได้มีการซื้อขายเปลี่ยนมือไป เราก็พยายามที่จะตรวจสอบว่าพื้นที่นั้นอยู่บริเวณไหนบ้างที่คนเข้ามาครอบครองแต่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ ซึ่งอุทยานฯ ได้ดำเนินการกับผู้กระทำผิดไปหลายรายแล้ว และหลังจากนี้เราจะพยายามตรวจสอบให้เข้มข้นต่อไป เพราะจะมีเรื่องของการรับรองสิทธิ์ ตามมาตรา 64 ของพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติฉบับใหม่ ซึ่งเราจะสำรวจตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่มีนายทุนหลุดรอดเข้าไป แต่รายที่ถูกตรวจยึดในครั้งนี้ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นการเปลี่ยนชื่อชัดเจน

Advertisement

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image