สธ.นำเข้ายานอก เร่งรักษาผู้ป่วยโควิด-19 อาการรุนแรงที่บำราศฯ พร้อมตั้งของบค่าตอบแทนบุคลากรเพิ่ม

สธ.นำเข้ายานอก เร่งรักษาผู้ป่วยโควิด-19 อาการรุนแรงที่บำราศฯ พร้อมตั้งของบค่าตอบแทนบุคลากรเพิ่ม

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค และ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุภาพที่10 แถลงข่าวความคืบหน้าสถานการณ์โรคไวรัสโคโรนา19

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือ โควิด-19 มีผู้ยืนยันติดเชื้อที่แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านเพิ่มอีก 1 ราย เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน เพศหญิง อายุ 56 ปี รวมแล้วขณะนี้มีผู้ป่วยหายป่วยแล้วและแพทย์ให้กลับบ้านรวม 14 ราย เหลือนอนโรงพยาบาล(รพ.) 20 ราย และสำหรับผู้ป่วยยืนยันที่อาการหนัก มี 2 ราย ซึ่งมีอาการหนักตั้งแต่แรกรับรักษาที่สถาบันบำราศนราดูร รายที่ 1 มีภาวะวิกฤตทางระบบทางเดินหายใจ แพทย์พิจารณาใช้เครื่องช่วยพยุงการทำงานของปอดหรือเครื่องเอคโม(ECMO) ร่วมกับเครื่องช่วยหายใจ รายที่ 2 ผู้ป่วยวัย 70 ปีอาชีพขับรถรับจ้างไม่ประจำทาง มีภาวะติดเชื้อวัณโรคปอดร่วมด้วย ผู้ป่วย 2 รายได้รับการรักษาเพิ่มเติม โดยนำน้ำเลือดจากผู้ป่วยหายดี(convalescent plasma) คือ คนขับรถแท็กซี่ที่ติดเชื้อภายในประเทศรายแรกของไทย มาช่วยในการรักษา ขณะนี้ผู้ป่วยทั้งสองรายอาการยังทรงตัว อัตราการแลกเปลี่ยนออกซิเจนในเลือดดีขึ้น และคาดว่าจะมีการให้เลือดเป็นครั้งที่ 2 เพื่อช่วยรักษาและผู้ป่วยยืนยันรายอื่นๆ อาการดีขึ้นตามลำดับ ส่วนเพิ่มเติมคือขณะนี้ได้นำเข้ายา 1 ชนิดที่มีรายงานระบุว่าสามารถใช้ประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยได้ เป็นยาที่มีการขึ้นทะเบียนในต่างประเทศแต่ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนในสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ประเทศไทย จึงได้ให้ อย.เป็นผู้ดำเนินการสั่งนำเข้ามาแต่จะมีการใช้หรือไม่ขึ้นอยู่กับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญที่ดูผู้ป่วยทั้ง 2 รายที่มีอาการรุนแรงเป็นผู้พิจารณาให้ใช้ คาดว่ายาจะมาถึงภายในวันนี้

Advertisement

ส่วนกรณีผู้โดยสารของเรือเวสเตอร์ดัม เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ นักท่องเที่ยวที่เดินทางจากเรือเวสเตอร์ดัม ได้เดินทางเข้าประเทศมาที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทั้งหมด 9 ราย เป็นชาวต่างชาติ 8 ราย คนไทย 1 ราย ตรวจคัดกรองไม่มีไข้ ชาวต่างชาติเดินทางกลับประเทศ ส่วนคนไทยดูแลติดตามเฝ้าระวังตามมาตรฐานป้องกันควบคุมโรค

นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญ 3 ด้าน รายงานพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 เพิ่มอีก 1 ราย เป็นหญิงไทยอายุ 35 ปี เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันรายที่ 27 ถูกจัดอยู่ในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่อยู่ในระบบการติดตามเฝ้าระวังของทีมสอบสวนควบคุมโรคตั้งแต่ต้น และรับการตรวจหาเชื้อตามแนวทางการเฝ้าระวังตั้งแต่ก่อนเริ่มมีอาการป่วย ทั้งนี้จากผลการสอบสวนโรค พบว่าผู้ป่วยรายนี้ขณะปฏิบัติงานไม่ได้สวมใส่หน้ากากอนามัยและชุดป้องกันขณะให้การดูแลผู้ป่วย ซึ่งขณะนั้นถูกวินิจฉัยเป็นโรคอื่น แต่ต่อมามีอาการไข้ ไอ เหนื่อย ส่งตรวจพบเชื้อไวรัส ทางทีมสอบสวนโรคได้ขยายผลการเฝ้าระวังไปยังเพื่อนร่วมงานอื่นอีก 24 คน ซึ่งเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงผู้ป่วยยืนยันรายที่ 27 เช่นกัน ผลการตรวจไม่พบเชื้อและไม่มีอาการป่วย โดยในผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายนี้ จากการสอบสวนโรคไม่มีผู้สัมผัสในครอบครัวเพิ่มเติมเนื่องจากผู้ป่วยอาศัยอยู่หอพักตามลำพัง ซึ่งขณะนี้ได้รับการส่งตัวมารักษาอยู่ที่สถาบันบำราศนราดูรแล้ว

Advertisement

“อยากให้ใช้คำว่าบุคลากรทางการแพทย์มากกว่า เนื่องจากไม่อยากให้เกิดการตีตราในอาชีพและอยากให้มองถึงภาพรวมของบุคลากรทางการแพทย์ที่จะรวมไปถึงพยาบาล เทคนิกการแพทย์ คนเข็นเปลผู้ป่วย เพราะถ้าหากจำเพาะแค่อาชีพใดอาชีพหนึ่ง อาชีพอื่นในการแพทย์อาจจะมองว่าตัวเองยังไม่มีความเสี่ยง เลยอยากให้มองไปโดยรวม” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

 

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า การติดเชื้อในบุคลากรสามารถพบได้ โดยรายงานข้อมูลจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน(NHC) เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาพบว่าตั้งแต่เริ่มต้นการระบาดถึงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ มีรายงานบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงสูงโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 แล้วจำนวน 1,716 ราย คิดเป็นร้อยละ 3.8 ของผู้ป่วยติดเชื้อทั้งหมดที่ได้รับการยืนยันผลทั่วประเทศจีน และมีบุคลากรที่ติดเชื้อเสียชีวิต 6 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.4 ของผู้ติดเชื้อที่เสียชีวิตทั้งหมดของประเทศจีน และ สธ. ได้กำชับให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อจากผู้ป่วยอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะบุคคลากรที่ต้องให้การดูแลผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ จะต้องสวมชุดอุปกรณ์ป้องกันตนเองให้เหมาะสม ในส่วนของ รพ. ต้องมีระบบการป้องกันโรคติดเชื้อตามมาตรฐาน และทบทวนมาตรการและแนวทางป้องกันการติดเชื้อของบุคลากรอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ จะมีการอบรมฟื้นฟูให้กับแพทย์และพยาบาลควบคุมโรคติดเชื้อทั่วประเทศอีกครั้งในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ เน้นพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยวที่มีสถานพยาบาลเอกชนอยู่เป็นจำนวนมาก

ด้าน นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ผู้บริหารระดับสูงของ สธ.ได้ให้ทุกกรมเป็นเสมือนกองทัพที่ต่อสู้กับโรคด้วยกำลังกายและกำลังใจในการปฏิบัติงาน และมีความเห็นว่าสิ่งที่จะสามารถตอบแทนได้คือส่วนของค่าล่วงเวลา และค่าความเสี่ยงภัย โดยจะทำเป็นการตั้งงบประมาณขึ้นไปขอในส่วนงบประมาณกลางที่จะต้องส่งต่อไปยังภาครัฐบาลเพื่อพิจารณาต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image