‘ดุลยภาค’ ชี้ไทยเคลื่อนสู่ระบอบลูกผสม ฟันธง อุษาคเนย์ 2020 ยุคทองไฮบริด

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดงานฉลองครบรอบ 20 ปี โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา หรือ “ซีส์” (SEAS) คณะศิลปศาสตร์ เป็นวันที่ 2 โดยในช่วงเช้าที่ห้องกิจกรรม เรวัติ พุทธินันทน์ หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มีการฉายภาพยนตร์ไทยเรื่อง “Heart Bound-A Diferent Kind of Love Story”

จากนั้น ในภาคบ่าย ห้องริมน้ำ ชั้น 1 คณะศิลปศาสตร์ มีการจัดเสวนาหัวข้อ “2020 : คลื่นลูกใหม่กับกระแสการเปลี่ยนแปลงในโลกและอุษาคเนย์”

ในตอนหนึ่ง ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการซีส์ กล่าวว่า อุษาคเนย์ในช่วงเวลานี้คือยุคทองของระบอบ “ไฮบริด” หรือระบอบทางการเมืองแบบลูกผสม กรณีของประเทศไทยเอง ก็กำลังเคลื่อนเข้าสู่ระบอบลูกผสมเช่นกัน

Advertisement

“ในปี 2020 ตนขอฟันธงว่า เรากำลังเข้าสู่ยุคเรืองรองของระบอบไฮบริด หรือลูกผสม คือ คุณลักษณะของระบอบประชาธิปไตยกับเผด็จการมาเจือปนกัน ระบอบลูกผสมนี้ ในรัฐที่ไม่เป็นประชาธิปไตย มักเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตยมากขึ้น ในขณะที่รัฐซึ่งประชาธิปไตยถดถอย กลับคืนสู่เผด็จการ ดังนั้น มันมีพลวัตไม่นิ่ง เพราะ 2 คุณลักษณะนี้ตีโต้กัน แต่บางจังหวะก็ผสานกันได้ รัฐที่อยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านจะเจอรูปแบบนี้หมด แต่มีไฮบริดบางประเภทที่เสถียรสุดๆ อย่างกรณีสิงคโปร์ หลายสิบปีมาแล้วที่มีสถาบันแบบประชาธิปไตย แต่พรรคกิจประชาชน (People’s Action Party – PAP) ชนะเลือกตั้งทุกครั้ง อย่างไรก็ตาม ทั้งๆ ที่เป็นเผด็จการผสมประชาธิปไตย แต่ยุทธศาสตร์การพัฒนา การเติบโตของประเทศถือว่าชั้นยอดมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ” ผศ.ดร.ดุลยภาคกล่าว

ผศ.ดร.ดุลยภาคกล่าวอีกว่า ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถจัดจำแนกได้ 3 กลุ่ม คือ 1.รัฐที่มี “ประชาธิปไตยสูงโดยเปรียบเทียบ” มากที่สุด ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประชาธิปไตยแบบประธานาธิบดี และติมอร์ เลสเต ซึ่งเป็นประชาธิปไตยแบบกึ่งประธานาธิบดี 2.รัฐระบอบลูกผสม อย่าง มาเลเซีย กัมพูชา สิงคโปร์ เมียนมา 3.ประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ได้แก่ เวียดนาม ลาว และบรูไน

“วันนี้คะแนนไฮบริดจาก 4 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย กัมพูชา สิงคโปร์ เมียนมา งอกขึ้นมาเป็น 5 ประเทศ นั่นคือ ประเทศไทย ซึ่งเคลื่อนตัวเองสู่ระบอบลูกผสมนี้มากขึ้น ผมจึงบอกว่ายุคนี้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นยุคที่แฟชั่นไฮบริดขายดีมาก รัฐบาล คสช. เปลี่ยนจากรัฐประชาธิปไตย เข้าสู่รัฐบาลผสมภายใต้ระบอบลูกผสม เราได้เห็นแล้วว่าชีวิตชีวาทางการเมืองมีมากขึ้น พื้นที่ฝ่ายค้านมีมากขึ้น แต่ยังมีอำนาจสงวน อำนาจอภิสิทธิ์หลายอย่างที่ยังแตะไม่ได้ สิ่งนี้ทำให้ตัวแบบของเมืองไทยมันพิเศษ เพราะ 1.มีลักษณะการก่อรูปรัฐบาลผสมคล้ายติมอร์ เลสเต แต่ 2.อยู่ใต้ระบอบการเมืองแบบไฮบริด ซึ่งเปรียบเทียบได้กับกัมพูชาหรือพม่าด้วย” ผศ.ดร.ดุลยภาคกล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ ผศ.ดร.ดุลยภาค ยังกล่าวด้วยว่า สิ่งที่เราจะไม่ได้เห็นในชีวิตนี้สำหรับประเทศไทย คือ “การมีประชาธิปไตยเต็มใบ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image