ประมูลคลื่น 2600 จบเร็ว กวาดรายได้ 37,164 ล้านบาท

ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งสำนักงาน กสทช. นำออกประมูลจำนวน 19 ชุด ชุดละ 10 เมกะเฮิรตซ์ รวม 190 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 1,862 ล้านบาท ขั้นราคาละ 93 ล้านบาท การชำระเงินค่าประมูลแบ่งเป็น 7 งวด โดยงวดที่ 1 ชำระ 10% ของราคาที่ชนะการประมูล งวดที่ 2-7 (ปีที่ 5-10) ชำระ 15% ของราคาที่ชนะการประมูล โดยผู้ชนะการประมูลต้องมีการขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 50% ของพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ภายใน 1 ปี และครอบคลุม 50% ของจำนวนประชากรของเมืองอัจริยะ (สมาร์ทซิตี้) ภายใน 4 ปี โดยผู้เข้าร่วมการประมูลต้องวางหลักประกันการประมูล 1,862 ล้านบาท และหากไม่ชำระค่าประมูล จะต้องชำระค่าปรับ 280 ล้านบาทต่อใบอนุญาต

ทั้งนี้ คลื่นความถี่ย่านดังกล่าวมีผู้เข้าประมูล 3 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส, บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท เช่นเดียวกับคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ที่สิ้นสุดการประมูลไปก่อนหน้านี้ โดยเริ่มต้นการประมูลรอบแรก เวลา 12.50 น. ราคาเริ่มต้น 1,862 ล้านบาท บวกขั้นราคา 93 ล้านบาท เป็น 1,955 ล้านบาท มีผู้เข้าประมูลเสนอชุดคลื่นความถี่ จำนวน 25 ชุด โดยรอบถัดไปผู้เข้าประมูลมี 2 ทางเลือก คือ คงความต้องการชุดคลื่นความถี่ หรือลดความต้องการ โดยต้องระบุความต้องการและระดับราคาที่ประสงค์มีหน่วยเป็นล้านบาท ทั้งนี้ การประมูลในขั้นตอนนี้จะสิ้นสุดเมื่อความต้องการชุดคลื่นความถี่รวมน้อยกว่าหรือเท่ากับจำนวนชุดคลื่นความถี่ที่เปิดประมูล

อย่างไรก็ตาม คลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ ประมูลต่อเนื่องจนถึงเวลา 13.28 น. ซึ่งเสร็จสิ้นในรอบที่ 2 ที่มีราคา 2,048 ล้านบาท โดยผู้เข้าประมูลเสนอชุดคลื่นความถี่ ที่จำนวน 19 ชุด เท่ากับจำนวนชุดคลื่นความถี่ที่นำออกประมูล พร้อมเสนอระดับราคาที่ประสงค์ 1 ล้านบาท จากราคาในรอบที่ 1 ทำให้การประมูลสิ้นสุดระหว่างรอบที่ 1 และรอบที่ 2 ที่ราคา 1,956 ล้านบาท รวมใช้เวลาประมาณ 40 นาที ในการประมูลคลื่นความถี่ย่านดังกล่าว โดยมีเงินที่ได้จากการประมูล จำนวน 37,164 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

ถัดไปจะเป็นขั้นตอนการกำหนดย่านความถี่ โดยผู้ชนะการประมูลจากขั้นตอนที่ 1 จะต้องเลือกย่านความถี่ ภายในเวลา 20 นาที โดยระบบการประมูลจะสร้างทางเลือกให้แก่ผู้เข้าประมูลแต่ละราย ทั้งนี้ ผู้เข้าประมูลสามารถเสนอราคาในตำแหน่งของย่านความถี่ที่ประสงค์ หากไม่ประสงค์ที่จะเลือกตำแหน่งใดเป็นพิเศษสามารถใส่ 0 (ศูนย์) ได้ โดยการเสนอราคานี้มีหน่วยเป็นบาท

Advertisement

อย่างไรก็ดี จะดำเนินการประมูลทั้ง 2 ขั้นตอนให้เสร็จสิ้นในแต่ละย่าน ซึ่งหลังจากประมูลครบทุกย่านแล้วจะมีการประชุมร่วมกันเพื่อตรวจสอบและรับรองผลการประมูลคลื่นความถี่ จากนั้น สำนักงาน กสทช. จะประกาศผลผู้ชนะการประมูลและจำนวนชุดคลื่นความถี่ที่ชนะการประมูล โดยให้ผู้เข้าประมูลลงนามรับรองราคาสุดท้ายที่เสนอลงในแบบรับรองราคาสุดท้าย และให้ถือว่ากระบวนการประมูลสิ้นสุด

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image