มท.ชูธง ‘ความปลอดภัยทางถนน’ ดึงท้องถิ่นร่วมปิดจุดเสี่ยง ตั้งเป้า 1ปีลดยอดตาย 20%

มิติใหม่ในการลดอุบัติเหตุบนท้องถนนด้วยวิธีแก้ปัญหาที่ต้นเหตุในระดับ “พื้นที่” เพราะถนนทั่วประเทศไทยมีระยะทางกว่า 5 แสนกิโลเมตร กว่า 80% อยู่ในความดูแลของ “ท้องถิ่น” เหลือเพียง 20% คิดเป็นระยะทางเพียง 1 แสนกิโลเมตรเท่านั้น อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท และ กรมทางหลวง ดังนั้นการป้องกันและแก้ไขการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินบนท้องถนนของพี่น้องประชาชน ต้องเริ่มต้นในระดับ “ท้องถิ่น” เป็นตัวตั้ง โดยมีภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมผ่าน 3 กลไกสำคัญ คือ ชุมชน โรงเรียน และ ครอบครัว เป็น “ด่านสกัด” เป้าหมายสูงสุดเพื่อปิดทุก “จุดเสี่ยง” ที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุตั้งแต่ก่อนเสียบกุญแจสตาร์ทรถออกจากบ้านไปโลดแล่นบนท้องถนน

นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะแม่ทัพใหญ่ผู้ขับเคลื่อนนโยบายขับขี่ปลอดภัยบนท้องถนนในระดับท้องถิ่น กล่าวว่า ได้ดำเนิน“นโยบายตำบลขับขี่ปลอดภัย” โดยดึงท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งมั่นใจว่าประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน เพราะตั้งแต่ระดับนโยบายสูงสุดไปจนถึงผู้ปฏิบัติทุกองคาพยพให้ความร่วมมือสุดกำลัง รัฐบาลโดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ(นปถ.) และพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ซึ่งเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน พ.ศ. 2554 ได้กำหนดโครงสร้างการสร้างความปลอดภัยทางถนนในระดับพื้นที่ผ่านกลไกของ ศปถ.ระดับชาติ นายกรัฐมนตรี ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานระดับประเทศ พร้อมด้วยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นฝ่ายเลขาฯ , ศปถ.ระดับจังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน , ศปถ.ระดับอำเภอมีนายอำเภอเป็นประธาน และเชิญหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับร่วมผนึกกำลังขับเคลื่อน “นโยบายความปลอดภัยทางถนน” โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนจากอุบัติเหตุทางถนน เพราะแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุปีละ 2 กว่าหมื่นราย นับเป็นสถิติที่สูงมากทำให้ประเทศไทยติดอันดับประเทศที่มีผู้เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุบนถนนอันดับต้น ๆ ของโลก แม้ก่อนหน้านี้ประเทศไทยติดโผอันดับ 2 ของโลก ปัจจุบันลดลงมาอยู่อันดับ 9 แต่ทางรัฐบาลไม่หยุดนิ่ง ยังคงทำทุกวิถีทางเพื่อลดการสูญเสียบนท้องถนนให้ลดน้อยลง

“แก้ปัญหาอุบัติบนท้องถนนให้สำเร็จ ต้องทำในระดับตำบล หรือ ชุมชน หลักการสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องเข้าใจตรงกัน คือ จะทำอย่างไรให้คนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลถนนหนทาง เพราะถ้ายังใช้แนวคิดเดิม ๆ ที่มุ่งไปแก้ปัญหาอุบัติเหตุบนถนนที่อยู่ในการดูแลของกรมทางหลวง หรือ กรมทางหลวงชนบท แค่ 20% ยังมีช่องว่างการดูแลปัญหาอยู่ เพราะอุบัติเหตุส่วนใหญ่ 80% เกิดบนถนนในท้องถิ่น

Advertisement

นายนิพนธ์ กล่าวยอมรับว่า ที่ผ่านมาเกิดช่องว่างในการดูแลอุบัติเหตุบนท้องถนนระหว่างท้องถิ่นกับกรมทางหลวงชนบท และ กรมทางหลวง เพราะในอดีตท้องถิ่นไม่มีงบประมาณและบทบาทเข้าไปมีส่วนร่วม แต่รัฐบาลชุดก่อนเล็งเห็นแนวทางการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับท้องถิ่น จำนวน 3 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2562) พระราชบัญญัติเทศบาล ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2562) และพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2562) ไฟเขียวเพิ่มบทบาทการกระจายอำนาจด้านการดูแลปัญหาจราจรแก่ท้องถิ่น ถือเป็นการยุติข้อถกเถียงกันระหว่างท้องถิ่นกับกรมทางหลวงชนบท และ กรมทางหลวง ดังนั้นเมื่อมีกฎหมายรองรับภารกิจของท้องถิ่น คือ ต้องสร้างความปลอดภัยบนถนนทุกเส้นที่อยู่ในความดูแล อาทิ ไฟส่องสว่าง ป้ายบอกทาง ไฟสัญญาจราจร ป้ายชะลอความเร็ว หรือแม้แต่ปรับปรุงภูมิทัศน์ตกแต่งกิ่งไม้ข้างทางไม่ให้บดบังทัศนวิสัยในการขับขี่ เป็นหน้าที่โดยตรงของท้องถิ่น


อีกบทบาทและภารกิจของท้องถิ่นที่ รมช.มหาดไทย เน้นย้ำเป็นพิเศษให้ท้องถิ่นต้องทำให้สำเร็จ คือ ต้องดำเนินการ “ลด 3 ปัจจัยเสี่ยง” ดังนี้ 1.ความเสี่ยงจาก “ตัวบุคคล” เช่น เมาแล้วขับ ขับขี่รถด้วยความเร็วเกินกฎหมายกำหนด และ ขับรถจักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกนิรภัย ถือเป็นสาเหตุลำดับต้น ๆ ที่สร้างความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินจากความประมาทและคึกคะนอง 2.ความเสี่ยงจาก “รถ” ที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น รถโดยสารสาธารณะที่ไปต่อเติมเป็น 2 ชั้นโดยไม่ได้รับอนุญาต การบังคับใช้เข้มงวด หรือ การตรวจสอบมาตรฐาน และระบบความปลอดภัยในตัวรถต้องเข้มข้น เช่น ระบบเบรค และ 3.จุดเสี่ยงจาก “ถนน” อาทิ ทางโค้ง ทางเชื่อม หรือ ทางแยกต่าง ๆ แม้แต่ไฟแสงสว่างต้องเพียงพอ ดังนั้นหากท้องถิ่น “ปิดจุดเสี่ยง” ทั้ง 3 สาเหตุนี้ได้ จะเป็นการแก้ปัญหาได้ตรงจุด นี่คือ นโยบายหลักของท้องถิ่นที่ต้องไปเร่งขยายผลให้เห็นผลเป็นรูปธรรม

“ท้องถิ่น อบต. อบจ. เทศบาล อยู่ในเขตใครคนนั้นต้องดูแล จากเมื่อก่อน ทำถนนให้คน หรือ รถเดินได้ก็พอแล้ว จากนี้ไปไม่ได้อีกแล้ว ต้องสร้างกลไกการมีส่วนร่วมในระดับชุมชน จะปฎิเสธชุมชนไม่ได้ เพราะเป็นกลไกสำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาอุบัติ ถ้าทุกตำบลร่วมมือกัน จะทำให้ถนนทุกเส้นทางในประเทศไทยมีความปลอดภัยในที่สุด” รมช.มหาดไทย กล่าวถึงหัวใจในการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย

นายนิพนธ์ ได้ตอกย้ำเสมอระหว่างลงพื้นที่ตรวจราชการในพื้นที่โดยบอกว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้นโยบายความปลอดภัยทางถนน ประสบความสำเร็จ คือ ปิดจุดเสี่ยง 3 สาเหตุ คือ คน รถ และ ถนน โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมให้ได้มากที่สุด เริ่มตั้งแต่ความประมาทของ “คน” เมาแล้วขับ หรือ บรรดาพวกตีนผีขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด ต้องอาศัยกลไก “ชุมชน” เข้ามาสกัด และ ป้องปราม ตั้งแต่ระดับครอบครัว จึงสนับสนุนให้ตั้ง “ด่านครอบครัว” นับเป็นด่านแรกที่จะคัดกรองไม่ให้คนที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ดื่มแล้วขาดสติจะขับรถออกนอกถนน พ่อแม่ผู้ปกครอง หรือ บุตรหลานต้องคอยเป็นหูเป็นตา ช่วยกันห้ามปรามตักเตือน และ ไม่อนุญาตให้กุญแจรถออกจากบ้านโดยเด็ดขาด แต่หากยังฝ่าฝืน หรือ หลุดรอดออกไปบนท้องถนนเพื่อไปดื่ม ต้องมีการตั้ง “ด่านชุมชน” อีกชั้นหนึ่ง เนื่องด้วยคนในชุมชนย่อมรู้จักมักคุ้นทราบพฤติกรรมคนในชุมชน หรือ มีข้อมูลว่าบ้านหลังไหนกำลังจัดงานเลี้ยงสรรค์เฉลิมฉลอง ต้องไปตั้งด่านบริเวณนั้นทันที เพื่อคัดกรองไม่ให้คนที่ดื่มหนักได้ขับรถ หรือ ตักเตือนให้ได้สติประคับประคองกลับบ้านโดยปลอดภัย

นอกจากนี้ไอเดียการตั้ง “ด่านโรงเรียน” ซ้อนขึ้นอีกชั้น เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเคารพกฎหมายจราจร เพราะระเบียบวินัยต้องเริ่มสร้างที่โรงเรียน จึงมอบนโยบายให้ตั้งด่านโรงเรียนที่ “ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก” โดยให้เด็ก ๆ เป็นตัวกระตุ้นสร้างความเข้าใจแก่ผู้ปกครองเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน ตั้งแต่ขับรถมอเตอร์ไซด์มาส่งลูกที่โรงเรียน พ่อแม่ผู้ปกครองต้องสวมหมวกกันน็อค นี่คือกระบวนการเรียนรู้เพื่อปูทางการสร้างระเบียบวินัยจราจร เช่น เมาแล้วไม่ขับ ขับรถต้องสวมหมวกกันน็อค ไม่ขับรถเร็วกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยเริ่มต้นตั้งแต่ระดับครอบครัว และ ชุมชน พร้อมกับดำเนินการควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในระดับ “ผู้บังคับการตำรวจภูธร” ในฐานะประธานอนุกรรมการ ศปถ. จากนี้ไปจะไม่เน้นบังคับใช้กฎหมายจราจรเฉพาะ 7 วันอันตรายในช่วงเทศกาล แต่จะเข้มข้นตลอดทั้งปี เพราะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกวัน ดังนั้นการบังคับใช้กฎหมายต้องเคร่งครัดทุกวัน เพื่อขับเคลื่อนความปลอดภัยบนท้องถนน

นับตั้งแต่สตาร์ทนโยบายให้ท้องถิ่นขับเคลื่อนตำบลขับขี่ปลอดภัย รมช.มหาดไทย กล่าวว่าสถิติยอดผู้เสียชีวิตบนท้องถนนตั้งแต่ปลายปี 2561 ถึงปี 2562 ตัวเลขยอดผู้เสียชีวิตลดลงถึง 20% หรือ 90 ราย ถือว่ามีนัยะสำคัญเชิงนโยบาย แม้ข้อมูลเชิงวิชาการยังไม่ออกมาอย่างเป็นทางการ จึงคาดการณ์ได้ว่าทั้งปี 2563 หากเดินไปตามนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนที่วางไว้ ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากอุบัติทางถนนจะต่ำกว่า 2 หมื่นรายอย่างแน่นอน นั้นหมายความว่าผลสัมฤทธิ์เชิงนโยบายสามารถลดความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างมหาศาล เพราะหากลดตัวเลขผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ หรือ พิการไปได้มากเท่าไร ยิ่งเกิดประโยชน์คณานับ เพราะจะช่วยลดภาระงบประมาณและเพิ่มประสิทธิภาพด้านสาธารณสุข ทั้งบุคคลากรทางการแพทย์ อุปกรณ์การแพทย์ เตียง หรือ ยารักษาโรค เดิมต้องนำมาดูแลรักษาผู้ประสบอุบัติเหตุ สามารถนำไปดูแลผู้ป่วยด้านอื่น ๆ ให้เข้าถึงการรักษา ถือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพระบบสาธารณสุข หรือแม้พี่น้องประชาชนที่ประสบชะตากรรมโชคร้ายจากอุบัติเหตุต้องพิการ รัฐบาลไม่ได้ทอดทิ้งเพิ่มเบี้ยผู้พิการจาก 800 บาทต่อเดือนต่อคน เป็น 1,000 บาท หรือ คิดเป็น 12,000 บาทต่อปี

สิ่งที่ รมช.มหาดไทย ฝากเป็นข้อคิดถึงพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ขอให้มามีส่วนร่วมช่วยกันขับเคลื่อน“นโยบายตำบลขับขี่ปลอดภัย” กับกระทรวงมหาดไทย ว่าหากช่วยกันลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนได้มากเท่าไร ยิ่งจะช่วยลดการสูญเสียทรัพยากรบุคคลที่จะเติบโตขึ้นมาสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศอย่างมหาศาล เพราะข้อมูลทางวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า คนตาย 1 คน ต้องสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจมากว่า 10 ล้านบาท ดังนั้นหากคิดเป็นยอดผู้เสียชีวิตบนท้องถนนแต่ละปี ๆละ 2 หมื่นคน คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 2 แสนล้านบาท

ดังนั้น “นโยบายตำบลขับขี่ปลอดภัย” ที่ทางรัฐบาลขับเคลื่อนอยู่นี้ จะช่วยรักษาชีวิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่าให้มีชีวิตยืดยาวขึ้น โดยไม่ต้องสุ่มเสี่ยงมาจบชีวิตบนท้องถนนอีกต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image