เอสซีจี-สยามคูโบต้า-สภาหอฯช่วยเกษตรกร รับซื้อฟาง-ใบอ้อย-ซังข้าวโพดตั้งเป้า1ล้านตัน/ปี

เอสซีจี-สยามคูโบต้า-สภาหอฯขจัดฝุ่น-เพิ่มเงินเกษตรกร รับซื้อฟาง-ใบอ้อย-ซังข้าวโพดตั้งเป้า1ล้านตัน/ปี

นายชนะ ภูมี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่-ธุรกิจซีเมนต์และคอนสตรัคชันโซลูชัน ธุกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) หรือ เอสซีจี เปิดเผยถึงแนวทางการแก้ปัญหาพีเอ็ม2.5 และภาวะโลกร้อน ว่า เอสซีจี มุ่งดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ดังนั้นปัญหาของเกษตรกรในการจัดการเศษผลผลิตทางการเกษตร อาทิ ฟางข้าว ใบอ้อย และซังข้าวโพด รวมทั้งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั้งพีเอ็ม2.5 และภาวะโลกร้อน ที่เกิดขึ้นจากการจากเผาเศษผลผลิตทางเกษตรเหล่านี้แบบไม่ถูกวิธีในช่วงที่ผ่านมา เอสซีจี โดยธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จึงใช้ประโยชน์จากหม้อเผาปูนซีเมนต์ที่สามารถนำเศษผลผลิตทางเกษตรเหล่านี้มาแปรรูปให้เป็นพลังงานทดแทนได้อย่างถูกวิธีและไม่สร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม เริ่มเปิดรับซื้อเศษผลผลิตทางเกษตรมาตั้งแต่ปลายปี 2562 ที่โรงงานปูนซีเมนต์ ทั้ง 5 แห่งของเอสซีจี ในจังหวัดสระบุรี ลำปาง และนครศรีธรรมราช ได้รับผลตอบรับจากเกษตรกรเป็นอย่างดี พร้อมขยายจุดรับซื้อไปยังเครือข่ายโรงงานคอนกรีตผสมเสร็จซีแพค ทำให้ปัจจุบันเอสซีจีมีจุดรับซื้อเศษผลผลิตทางการเกษตร รวม 14 จุด และมีแผนการขยายเป็น 20 จุดทั่วประเทศภายในปี 2563 นี้ โดยตั้งเป้ารับซื้อได้ 1 ล้านตันต่อปี

นายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ได้ส่งเสริมเกษตรกรทำเกษตรแบบปลอดการเผา รวมถึงจัดหาเครื่องจักรกลการเกษตรที่ใช้รวบรวมเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรหลังการเก็บเกี่ยว อาทิ ฟางข้าว ใบอ้อย ซังข้าวโพด บีบอัดให้เป็นก้อนด้วยเครื่องอัดฟางคูโบต้า สะดวกต่อการขนส่งเพื่อนำไปใช้ประโยชน์เป็นพลังงานทดแทนในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อย่างโรงงานปูนซีเมนต์ ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ลดการเผาในพื้นที่เกษตร และสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนของภาคเกษตรกรรมของไทย

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า โครงการนี้เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือของภาคเอกชนเพื่อลดปัญหาฝุ่นพีเอ็ม2.5 อยากขอชวนให้เกษตรกรไทย ผู้ประกอบการ และหอการค้าทุกจังหวัดร่วมโครงการ โดยหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจะรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนเพิ่มมูลค่าให้กับเศษวัสดุที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวทางการเกษตร นำไปใช้เป็นพลังงานทดแทนให้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต

Advertisement

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image