ไทยแพร่สื่ออนาจารเด็ก อันดับ 3 ของโลก พบต่างชาติหลอกแต่งงานหญิงหม้าย หวังเคลมลูกติด

ภาพประกอบ

ไทยแพร่สื่ออนาจารเด็ก อันดับ 3 ของโลก พบต่างชาติหลอกแต่งงานหญิงหม้าย หวังเคลมลูกติด

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่ห้องประชุมรัชโยธิน โรงแรมเดอะบาซาร์ จตุจักร กรุงเทพฯ ศูนย์กฎหมายเพื่อสังคม ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดสัมมนาสื่อมวลชนว่าด้วยการปกป้องคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์ ภายใต้โครงการพัฒนากลไกการขจัดสื่อร้ายและภัยออนไลน์

 

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานมีการเปิดเผยข้อมูลว่า ประเทศไทยถูกรายงานว่ามีผู้ใช้แพลตฟอร์มสัญชาติอเมริกันเผยแพร่สื่อลามกอนาจารเด็กมากเป็นอันดับ 3 ของโลก ส่วนใหญ่เป็นการใช้งานผ่าน URL รองลงมาเป็นโทรศัพท์มือถือ และห้องแชตสนทนาออนไลน์ ขณะที่ผลสำรวจของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระบุว่าเด็กไทยอายุระหว่าง 8-12 ปี มีโอกาสเสี่ยงภัยจากโลกออนไลน์ถึง 60% ซึ่งพบว่าเด็กไทยเป็นอันดับต้นในการเข้าถึงสื่อลามกและพูดคุยเรื่องเพศกับคนแปลกหน้าในโลกออนไลน์ และถูกล่อลวงจากคนแปลกหน้า

ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี รองผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศฯ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ​(ดีเอสไอ) กล่าวว่า ตนทำงานด้านนี้มา 12 ปี พบว่าส่วนใหญ่ผู้ที่มาแสวงหาประโยชน์ทางเพศกับเด็กต้องมาในเชิงกายภาพ เข้ามาตีสนิท ผูกพันใกล้ชิดกับเด็ก จนเด็กเชื่อใจแล้วแอบหลอกไปถ่ายคลิป ถ่ายภาพ ซ่อนกล้องตามที่ต่างๆ ซึ่งพบว่าคนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นครูสอนภาษา นักดนตรี หรือนักบวช ที่หลอกล่อเด็ก บางรายบวชเป็นพระ 10 ปี สึกมาเป็นครูสอนจริยธรรมและแอบถ่ายภาพเด็กขณะที่เผลอ

Advertisement

แต่ในช่วงออนไลน์นี้ การกระทำผิดดังกล่าวไม่ต้องอาศัยนกต่อในการหลอกเด็กอีกต่อไป แต่สามารถใช้โซเชียลมีเดียต่างๆ เข้าไปถึงห้องนอนเด็ก และจากที่เคยเลือกกลุ่มเด็กที่มีปัญหา กลุ่มเปราะบาง ก็เปลี่ยนไป คนเหล่านี้จะเข้าไปชวนคุย และดูว่าเด็กเหล่านี้ต้องการอะไรแล้วใช้สิ่งนั้นหลอกล่อ เช่น บางคนอยากเป็นนางแบบ หรือบางคนอยากได้เกมดีๆ ทำให้เด็กตกเป็นเหยื่อได้ง่าย นอกจากนี้ ชาวต่างชาติยังหลอกผู้หญิงจากเว็บหาคู่ เลือกหญิงที่เป็นหม้ายลูกติด เพื่อล่วงละเมิดทางเพศของลูกอีกด้วย

“จากกรณีส่วนใหญ่ที่กระทำผิด เราพบว่าเจ้าหน้าที่รู้ก่อนผู้ปกครองเสมอ เด็กมักถูกบังคับให้ต้องกระทำไปเรื่อยๆ เพราะถูกขู่ว่าจะนำรูปไปเผยแพร่ นอกจากนี้ ผู้กระทำผิดยังนิยมใช้ไลฟ์สตรีมมิ่งในการเผยแพร่ เพื่อให้ไม่มีหลักฐานเก็บไว้ ใช้วิธีการโอนเงินเพื่อจะดู และอยู่กระจัดกระจายหลายประเทศ ทำให้ต้องร่วมมือกับเจ้าหน้าที่หลายประเทศในการจับกุมพร้อมกัน ไม่ให้หนีได้ ทั้งยังพบว่าผู้กระทำผิด จากเดิมที่พบในอายุ 50 ปีขึ้นไป ก็เจออายุน้อยลง และทำเพื่อการค้ามากขึ้น ขณะที่อายุเฉลี่ยของเด็กก็ลดลง อยู่ที่ 10-12 ปี เด็กหลายคนไม่พร้อมดำเนินคดี เพราะเห็นว่าผู้กระทำเป็นคนใกล้ชิด และมีบุญคุณ” ร.ต.อ.เขมชาติกล่าว

ขณะที่ พ.ต.อ.สราวุธ คนใหญ่ รองผู้บังคับการ กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 6 กล่าวว่า คนร้ายเหล่านี้ใช้อินเตอร์เน็ตในการเข้าถึงเด็กๆ ได้ง่าย เริ่มจากอะไรง่ายๆ เช่น ชวนมาถ่ายแบบ ก่อนจะโน้มน้าวให้เด็กถอดเสื้อ สุดท้ายเมื่อได้ภาพก็นำไปขู่ว่าจะเผยแพร่ ก่อนจะบังคับให้เด็กถ่ายภาพในห้องเรียน ในที่สาธารณะ ซึ่งเด็กไม่กล้าบอกใคร เพราะหวาดกลัว และแก้ปัญหาได้ยากกว่าผู้ใหญ่ และยิ่งคลิปมีสตอรี่ ยิ่งหายาก ยิ่งได้รับความนิยม มีความน่าสนใจและเพิ่มมูลค่าได้มาก ซึ่งส่วนใหญ่เด็กมักไม่ดำเนินคดี ทั้งด้วยหวาดกลัวและไม่รู้ว่ามีสิทธิอะไรบ้าง

Advertisement

ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี รองผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศฯ กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)
ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี รองผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศฯ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image