บทเรียนภูกระดึง อธิบดีกรมอุทยานฯ แจ้งผู้ว่าฯ-อุทยานทั่ว ปท. เข้มมาตรการไฟป่า เปิดพื้นที่เสียหาย

บทเรียนภูกระดึง อธิบดีกรมอุทยานฯ แจ้งผู้ว่าฯ-อุทยานทั่ว ปท. เข้มมาตรการไฟป่า เปิดพื้นที่เสียหาย

เมื่อวันที่ 18 ก.พ. นายอดิสร เหมทานนท์ หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการดับไฟป่า​ กองอำนวยการควบคุมไฟป่า​ ภูกระดึง สบอ.​ 8​ (ขอนแก่น) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รายงานความคืบหน้าเหตุไฟป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ.เลย ว่า สถานการณ์ไฟป่าขณะนี้เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยเจ้าหน้าที่ไฟป่าร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยาน ร่วมกันเก็บแนวดำโดยการใช้น้ำฉีดขอนและตอที่ติดไฟอยู่ให้ดับสนิท สำหรับพื้นที่ความเสียหายหลังจากนี้เมื่อสถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติ​ เก็บแนวดำเรียบร้อย​จะได้ทำการสำรวจกันอย่างละเอียดอีกครั้ง

 

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน
ด้าน นายสมโภชน์ มณีรัตน์ โฆษกกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ในช่วงบ่ายวันนี้ว่า สถานการณ์ไฟป่าได้ดับหมดแล้ว แต่ในพื้นที่มีลมค่อนข้างแรง อาจมีตอไม้ที่อาจจะคุกรุ่นขึ้นมาได้ จึงต้องเฝ้าระวังตลอด 24 ชม. ภายในอีก 1-2 วัน ส่วนสาเหตุในครั้งนี้คาดว่ามาจากคนเผาหาของป่า เพราะหัวหน้าอุทยานฯภูกระดึงยืนยันว่า ต้นเพลิงมาจากนอกพื้นที่อุทยานฯและลามขึ้นไป ทั้งนี้จากเหตุการณ์ดังกล่าวนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั่วประเทศ เฝ้าระวังไฟป่าและการลักลอบเผาป่าตลอด 24 ชั่วโมง เพราะปีนี้สภาพอากาศแล้งจัดมาก บางพื้นที่มีเชื้อเพลิงสะสมค่อนข้างมากอาจเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี

นายสมโภชน์ กล่าวว่า นอกจากนี้นายธัญญา ได้สั่งการทำหนังสือเวียนเกี่ยวกับมาตรการการแก้ไขปัญหาไฟป่าปี 2563 การจัดทำประกาศกรมอุทยานแห่งชาติฯ เรื่องสถานการณ์ไฟป่าปี 2563 แจ้งเวียนผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดทราบ และผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 1-16 และผู้อำนวยการสำนักสาขาทุกสาขาทั่วประเทศ ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาไฟป่าให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการระดมสรรพกำลังและกําหนดมาตรการการควบคุมไฟป่าอย่างเข้มข้น พร้อมทั้งกำชับให้หน่วยงานในสังกัดปฏิบัติงานควบคุมไฟป่าอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อควบคุมสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่ให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว

Advertisement

โฆษกกรมอุทยานฯ กล่าวว่า นายธัญญา กำชับอีกว่าแม้จะมีการติดตามสถานการณ์ แต่ปรากฏว่ายังมีเหตุการณ์ไฟป่าเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในพื้นที่ต่างๆ อุทยานแห่งชาติภูเรือ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ.เลย อุทยานแห่งชาติภูแลนคา จ.ชัยภูมิ อุทยานแห่งชาติดอยพระบาท จ.ลำปาง จนสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ป่าอนุรักษ์เป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มการเกิดไฟป่าที่จะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูแล้งที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ดังนั้นเพื่อเป็นการยกระดับการป้องกันและควบคุมสถานการณ์ไฟป่า จึงขอกำชับให้สบอ.ทุกแห่ง โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยไฟป่าทุกแห่งดำเนินการ ดังนี้ 1.ให้ผอ.สบอ.ทุกแห่ง เข้าควบคุมและบัญชาการด้วยตัวเอง กรณีเกิดสถานการณ์ไฟป่าขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อเข้าควบคุมสถานการณ์ไฟป่า ให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด

นายสมโภชน์ ระบุว่า ข้อ 2.ให้ตรวจสอบเส้นทางเข้าออกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เน้นพื้นที่ซึ่งติดกับชุมชนทุกจุด พร้อมทั้งจัดทำคำสั่งในระดับสำนักให้สนธิกำลังเจ้าหน้าที่จากอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตลอดจนหน่วยงานอื่นในสังกัด เพื่อตั้งจุดสกัด บริเวณทางเข้า-ออก ระหว่างหมู่บ้านกับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทุกเส้นทางที่มีความเสี่ยง จัดทำทะเบียนประวัติบุคคลที่เข้า-ออกพื้นที่ป่า ติดตามตรวจสอบกิจกรรมของบุคคลที่เข้าไปในพื้นที่ป่าทุกราย โดยการสับเปลี่ยนอัตรากำลังเจ้าหน้าที่จากพื้นที่อื่นๆเข้าร่วม พร้อมทั้งจัดให้มีชุดลาดตระเวน เพื่อป้องปรามมิให้มีการลักลอบจุดไฟเพื่อหาของป่า ล่าสัตว์ ตลอด 24 ชั่วโมง

นายสมโภชน์ กล่าวต่อว่า ข้อ 3.ขอให้เคร่งครัดกับการรายงานผล ตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าปี 2563 ทั้งนี้หากปรากฏว่ายังมีหน่วยงานในสังกัด ไม่ปฏิบัติตามหนังสือสั่งการเรื่องมาตรการการแก้ไขปัญหาไฟป่าปี 2563 โดยการเพิกเฉยหรือละเลยการปฏิบัติงานและการรายงานผล ขอให้พิจารณาลงโทษผู้เกี่ยวข้องดังกล่าวได้ตามความเหมาะสม แล้วรายงานกรมอุทยานแห่งชาติฯทราบ และข้อ 4.ให้มีการตรวจสอบความพร้อมของยานพาหนะ อุปกรณ์ดับไฟป่า ว่ามีเพียงพอสำหรับใช้ในการปฏิบัติงานหรือไม่ ในเบื้องต้นหากพื้นที่ใดขาดแคลน ขอให้มีการสนธิกำลัง ทั้งบุคลากรเจ้าหน้าที่ ยานพาหนะ และอุปกรณ์ จากหน่วยงานรับผิดชอบในสังกัด เข้าไปในพื้นที่เสี่ยงและวิกฤตเป็นลำดับแรก ตลอดจนการประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานอื่นๆในพื้นที่ จิตอาสา เพื่อเข้าร่วมปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่า ทั้งนี้หากอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ ยานพาหนะ และอุปกรณ์ดับไฟป่า ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการขอให้รายงานผู้บังคับบัญชาทราบตามลำดับชั้น เพื่อพิจารณาหาแนวทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน

Advertisement

ขณะที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิ สารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจีสด้า ได้เผยแพร่ภาพเปรียบเทียบจากดาวเทียมในการเกิดจุดความร้อน และพื้นที่เผาไหม้จากดาวเทียม เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2563 (ก่อนเกิดเหตุไฟป่า) และ 16 กุมภาพันธ์ 2563 (หลังเกิดเหตุ) ในเขตอุทยานแห่งชาติภูกระดึง พบพื้นที่เผาไหม้ 3,763 ไร่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image