ดัดหลังมั่วส่งออกหน้ากากอนามัย พณ.เพิ่มประกาศกกร. หิ้วได้ไม่เกิน30ชิ้น/คน

แฟ้มภาพ

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เรื่องการควบคุมการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งหน้ากากอนามัยเพิ่มเติม โดยห้ามส่งออกหน้ากากอนามัยทุกชิ้น จากเดิมกำหนดให้การส่งออกตั้งแต่ 500 ชิ้นขึ้นไปต้องขออนุญาตส่งออกกับกรมการค้าภายในและเห็นชอบก่อนจึงจะดำเนินการได้ เพราะที่ผ่านมา มีบางรายใช้วิธีการส่งออกไม่เกิน 500 ชิ้น เช่น 490 ชิ้น และส่งออกวันละเป็นสิบๆ เที่ยว จึงต้องห้ามทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตาม จะผ่อนผันใน 2 กรณี คือ นำออกไปใช้ส่วนตัวได้ไม่เกิน 30 ชิ้น/คน/ครั้ง หรือหากกรณีเป็นผู้ป่วย ต้องมีใบรับรองแพทย์ นำออกได้ไม่เกิน 50 ชิ้น/คน/ครั้ง

สำหรับการส่งออกทั่วไป และกรณีประเทศเพื่อนบ้าน หากมีความจำเป็นใช้ให้ติดต่อกระทรวงการต่างประเทศโดยตรง โดยขอให้มีคำขอระบุการขออนุญาตส่งออกในจำนวนที่ต้องการในนามของรัฐบาล โดยตรงกรมจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาการอนุญาตการส่งออกซึ่งหน้ากากอนามัยซึ่งมีผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงพาณิชย์ร่วมพิจารณาสำหรับการจัดสรรเพื่อให้ผู้ใช้มีปริมาณเพียงพอ ราคาเป็นธรรม โดยเน้นที่เป็นหน้ากากอนามัยชนิดพิเศษที่ไม่ใช้ในไทย หรือไม่ได้ส่งออกเพื่อการค้าหรือหากำไร ซึ่งกรมได้แจ้งผู้ครอบครองหน้ากากอนามัยให้จัดสรรให้กับศูนย์บริหารจัดการไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ในปริมาณที่ครอบครอง โดยกำหนดเวลาให้จัดสรรได้ภายในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 หากเลยวันนี้ไปแล้วจะฝ่าฝืนกฎหมาย กกร. มาตรา 25 (9) มีโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงขอเตือนให้ผู้ครอบครองปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว

นายวิชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีการขออนุญาตส่งออกเข้ามารวม 32 ล้านชิ้น กรมได้ระงับการส่งออกเกือบ 100% เพราะหากให้ส่งออก ในประเทศไม่มีของใช้ โดยรายที่อนุญาตให้ส่งออก 1 ราย คือ หน้ากากอนามัยที่ไม่ใช้ในไทย เป็นหน้ากากพลาสติก และมีลิขสิทธิ์ในการผลิต จำนวน 2.1 ล้านชิ้น จากที่มีผู้ค้าขออนุญาตส่งออกรวม 100 ราย จำนวนที่ขอส่งออก 32.68 ล้านชิ้น โดยผู้ส่งออกยอมรับเงื่อนไขที่จะผลิตให้ผู้ซื้อในประเทศจำนวนไม่น้อยกว่า 7.2 ล้านชิ้น ส่วนผู้ส่งออกรายอื่นยังไม่อนุมัติให้ส่งออกได้ ทั้งนี้ เงื่อนไขให้ผู้ผลิตรายที่ได้ส่งออก ต้องผลิตหน้ากากแบบที่ใช้ป้องกันโรคเพื่อจัดส่งให้ศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัย โดยผลิตเดือนกุมภาพันธ์ 2563 จำนวน 2.9 ล้านชิ้น เดือนมีนาคมจำนวน 5.4 ล้านชิ้น และในจำนวนที่ขออนุญาตส่งออกมีประมาณ 7-8 ราย ได้มาขอถอนการขออนุญาตส่งออกประมาณ 11 ล้านชิ้น ซึ่งพอสอบถามเพื่อขอแบ่งปันเพื่อนำกระจายในประเทศ ได้คำตอบว่าเป็นการขอตัวเลขไว้ก่อน ไม่ได้มีสินค้าในมืออยู่จริง

นายวิชัย กล่าวว่า สำหรับการกระจายหน้ากากอนามัยให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน นอกเหนือจากการจำหน่ายที่กระทรวงพาณิชย์ กระจายผ่านร้านธงฟ้าประมาณ 900 แห่งทั่วประเทศ ยังได้กระจายให้องค์การเภสัชกรรม สมาคมร้านขายยา การบินไทย ซึ่งเป็นผู้ที่จำเป็นต้องใช้ ล่าสุดได้เพิ่มร้านสะดวกซื้อ 7-11 และบิ๊กซี รวมถึงห้างเทสโก้โลตัส วิลล่ามาร์เก็ต รวมกันประมาณ 2 หมื่นสาขาทั่วประเทศ แต่จำกัดการซื้อไม่เกินคนละ 4 ชิ้น ชิ้นละไม่เกิน 2.50 บาท หรือจ่ายราคา 10 บาท

Advertisement

“มั่นใจว่าหน้ากากอนามัยจะสามารถกระจายได้อย่างทั่วถึง และประชาชนจะหาซื้อได้ง่ายขึ้น เพราะตอนนี้สินค้าเริ่มมีมากขึ้นแล้ว โดยมีกำลังการผลิตวันละ 1.3 ล้านชิ้น และยังได้ห้ามการส่งออก ประกอบกับการเช็กสต๊อกล่าสุด มีรายงานเข้ามา ณ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ว่ามีสต๊อก 28 ล้านชิ้น อยู่ในมือผู้ผลิต 20 ล้านชิ้น และที่เหลืออยู่ในมือผู้ค้า เพิ่มขึ้นจากวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่มีการแจ้งสต็อกในมือแค่ 2.17 แสนชิ้น เป็นตัวเลขที่จำได้ขึ้นใจ เพราะตอนนั้นคุยกันว่าสต๊อกมีสูงถึง 200 ล้านชิ้น แสดงว่าก่อนที่จะห้ามส่งออก มีคนแอบส่งออกไปเยอะ อย่างทั้งปี 2562 ส่งออกเพิ่มขึ้น 200% เฉพาะมกราคม 2563 เดือนเดียว เพิ่มสูงมาก 300% ”นายวิชัย กล่าว

นายวิชัย กล่าวว่า กรมฯ ยังได้เดินหน้าตรวจสอบการจำหน่ายหน้ากากอนามัยแพงเกินจริงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดจับกุมผู้กระทำความผิดแล้ว 30 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ค้าออนไลน์ 3 ราย ตัวอย่างโทษ เช่น ซื้อมา 29 บาท ขาย 129 บาท หรือซื้อมา 5 บาท ขาย 15-20 บาท ซึ่งได้จับกุมตัวส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีและส่งอัยการฟ้องศาลแล้ว มีโทษสูงสุดจำคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งกรม อยากจะฝากถึงผู้ครอบครองหน้ากากอนามัย อย่าค้ากำไรเกินควรและฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน ควรเอากำไรที่เหมาะสม เพราะถ้ากรมได้รับการร้องเรียน จะเข้าไปดำเนินการตามกฎหมายทุกกรณี และล่าสุดได้รับทราบจากกระทรวงมหาดไทย ที่จะประสานเครือข่าย เช่น ผู้ผลิตสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอทอป) เครือข่ายแม่บ้าน ทำการผลิตหน้ากากอนามัยผ้า เป้าหมาย 50 ล้านชิ้นต่อเดือน หากรวมกับที่ผู้ผลิตๆ ได้ประมาณ 35 ล้านชิ้นต่อเดือน ก็จะทำให้มีหน้ากากอนามัยกว่า 80 ล้านชิ้นต่อเดือน ซึ่งมีเพียงพอใช้อย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image