ผู้ป่วยโควิด-19 หายเพิ่ม 2 ราย เหลือ 16 ราย เร่งวางแผนรับมือระบาดระยะ 3

ผู้ป่วยโควิด-19 หายเพิ่ม 2 ราย เหลือ 16 ราย สธ.เร่งวางแผนรับมือการระบาดระยะ 3

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แถลงข่าวความคืบหน้าของสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

Advertisement

 

 

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า สถานการณ์ของประเทศไทยมีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค 1,151 ราย โดยเมื่่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ มีรายงานเพิ่ม 99 ราย เหตุผลของการเพิ่มขึ้นมี 2 สาเหตุ คือ 1.การขยายวงเฝ้าระวังผู้เดินทางกลับมาจากประเทศที่มีการระบาด เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และเขตปกครองพิเศษของจีน ฮ่องกง มาเก๊า จีนไทเป 2.เริ่มเฝ้าระวังผู้ป่วยปอดบวมไม่ทราบสาเหตุใน 8 จังหวัด ที่เคยมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามาจำนวนมาก คือ กรุงเทพ เชียงใหม่ เชียงราย กระบี่ ภูเก็ต ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรปรากราและชลบุรี ซึ่งในปัจจุบันมีรายงานผู้ป่วยบวมจาก 8 พื้นที่นี้เข้ามาจึงได้ดำเนินวินิจฉัยเพื่อหาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 แต่ยังไม่พบ และในส่วนของผู้ป่วยยืนยันสะสม 35 ราย และในวันนี้แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านเพิ่ม 2 ราย รวมสะสม 19 ราย และเหลือที่ยังอยู่ในการรักษาที่โรงพยาบาล(รพ.) 16 ราย

Advertisement

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ผู้ที่จะเดินทางไปประเทศที่มีรายงานการระบาดกว้างขวางชัดเจน เช่น เกาหลีใต้ จีน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ประเทศไทยไม่ได้ห้ามการเดินทาง แต่ขอให้มีการพิจารณาเลื่อนการเดินทางไปที่ไม่จำเป็นออกไป แต่หากจำเป็นต้องไปจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของ สธ. และเตรียมอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ เลี่ยงการเดินทางไปสถานที่แออัด และพื้นที่มีความเสี่ยงสูง สวมหน้ากากอนามัย รับประทานอาหารร้อน ล้างมือบ่อยๆ ขณะนี้สถานการณ์ในประเทศไทยยังนิ่ง ความเสี่ยงของประเทศและคนไทยยังไม่เพิ่มสูงขึ้น แต่มีตัวอย่างของ 3 ประเทศในทวีปเอเชียที่มีการระบาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เขตปกครองพิเศษของจีนคือฮ่องกง ดังนั้นความเสี่ยงของประเทศไทยยังคงมีอยู่ เนื่องจากประเทศไทยยังเปิดกว้างรับผู้เดินทางจากต่างประเทศ มาตรการคัดกรองผู้เดินทางจากพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดยังคงเข้มข้น เช่น การประกาศบนเครื่องบิน การตรวจคัดกรองที่สนามบิน หากเข้าเมืองมาได้ก็จะมีคำแนะนำและเฝ้าระวังในกลุ่มผู้เดินทางต่อไป สธ.ได้กำชับ รพ.รัฐบาลทุกแห่ง ขอความร่วมมือ รพ.เอกชนและคลินิกต่างๆ ให้ช่วยสอดส่องดูแล หากพบผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีรายงานการแพร่ระบาดและมีอาการเข้าเกณฑ์การเฝ้าระวังสอบสวนโรค ให้ทำการตรวจอย่างละเอียดและส่งตัวอย่างเพื่อวินิจฉัยตามแนวทางการดำเนินงานต่อไป

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญเรื่องความสับสนของวิธีการแพร่เชื้อของไวรัสโคโรนา 2019 โดยสื่อของประเทศจีนใช้คำว่า “แอโรซอล (aerosol)” ซึ่งไม่ใช่ศัพท์มาตรฐานในทางระบาดวิทยา เนื่องจากทางระบาดวิทยามีวิธีการแพร่เชื้อ 2 ทาง คือ 1.การแพร่ทางละอองฝอย หรือ ดรอปเล็ต (Droplet transmission) เกิดจากละอองฝอยของน้ำลาย น้ำมูกที่กระเด็นออกมาเมื่อมีการไอ จาม 2.การแพร่ทางอากาศ หรือ แอร์บอร์น (Airborne transmission) ยืนยันว่า เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นการแพร่แบบละอองฝอย ไม่ใช่ทางอากาศ และสามารถป้องกันได้ด้วยการสวมหน้ากากอนามัยและการล้างมือ

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า การประกาศว่าโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นโรคติดต่ออันตราย ซึ่งอาจจะเกิดข้อสงสัยว่าในสถานการณ์ที่ยังคงนิ่ง แต่ทำไมมีการประกาศและเมื่อประกาศแล้วจะมีผลอย่างไร จึงขออธิบายว่าประกาศเพื่อเป็นการควบคุมโรคในระยะนี้ให้มีประสิทธิภาพมากที่สูง เพื่อชะลอการแพร่ระบาดในประเทศออกไปให้นานที่สุด และถ้ามีการประกาศแล้วเจ้าพนักงานป้องกันควบคุมโรค หรือเจ้าพนักงานสาธารณสุข จะสามารถใช้อำนาจตามกฎหมาย ข้อบังคับตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เป็นเครื่องมือในการควบคุมโรคให้ได้ดีที่สุด ซึ่งมีความสำคัญมาก เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยทำได้สำเร็จเป็นอย่างดีในการยืดระยะปลอดโรคในประเทศได้นาน ซึ่งในการประเมินความเสี่ยงของโลก ประเทศไทยถูกประเมินว่าเสี่ยงสุด เนื่องจากมีนโยบายเปิดกว้างและเป็นศูนย์กลางการเดินทางของภูมิภาค แต่ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการแพร่ระบาดในประเทศ ในขณะที่หลายประเทศในภูมิภาคมีการแพร่ระบาดมากแล้ว

“ยิ่งเรายืดระยะเวลาช่วงนี้ไปได้นานเท่าไหร่ ก็หวังว่าหากมีการแพร่ระบาดแล้วเราจะมีความพร้อมในการรับมือในช่วงที่มีผู้ป่วยมากขึ้นด้วย การประกาศ โรคติดต่ออันตรายไม่ได้ทำให้ประชาชนต้องตื่นตระหนก ไม่ได้เปลี่ยนอะไร แค่เป็นการเพิ่มเครื่องมือ อุปกรณ์ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเท่านั้นเอง” นพ.ธนรักษ์ กล่าวและว่า การประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ ครั้งที่ 3 มีมาตรการด้านสาธารณสุขในการป้องกันโรคระยะที่ 3 คือการดูแลรักษาผู้ป่วยและการชะลอการแพร่ระบาด เพื่อไม่ให้มีผู้ป่วยในจำนวนมากในระยะเวลาสั้นๆ พยายามลดจำนวนผู้ป่วยต่อวันไม่ให้สูงมากจนเกินไป โดยตั้งความหวังว่าจะไม่สูงเกินกว่าที่ รพ.แต่ละแห่งจะสามารถรับมือได้ รวมถึงมีการเพิ่มมาตรการในการลดผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจ ความมั่นคงของประเทศ ซึ่งจะนำเสนอในที่ประชุมครั้งต่อไป เนื่องจากเป็นเรื่องที่ต้องบูรณาการหลายภาคส่วน ซึ่งตั้งแต่เริ่มมีการระบาดภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบที่ค่อนข้างรุนแรง คนไทยทุกคนสามารถช่วยลดผลกระทบด้วยการไม่ตื่นตระหนก เข้าใจปัญหาและวิเคราะห์ความเสี่ยง เรียนรู้การป้องกันโรคให้ดีที่สุด ประคับประคองสถานการณ์ด้านสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ ความมั่นคง เพื่อให้ผ่านพ้นระยะเวลาที่ยากลำบากไปได้ดีที่สุด

นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์

ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า ขออธิบายประเด็นกรณีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเผยว่า มีการตรวจผลทางห้องปฏิบัติการ(แลป)ในผู้ที่เข้าเกณฑ์การสอบสวนโรคน้อยลง เนื่องจากค่าตรวจแพง ขอยืนยันว่าไม่ใช่ความจริง โดยในช่วงแรกของเดือนมกราคม กรมควบคุมโรคได้ส่งตัวอย่างผู้เข้าเกณฑ์การสอบสวนโรคมาให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับศูนย์โรคติดต่ออุบัติใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อถอดรหัสพันธุกรรม ซึ่งขณะนั้นประเทศจีนยังไม่มีการเปิดเผยรหัสพันธุกรรมของโรค แต่เมื่อภายหลังที่ประเทศจีนประกาศรหัสพันธุ์กรรมของโรคออกมาแล้วก็ได้นำมาเทียบเคียงกันซึ่งผลออกมาตรงกัน แต่วิธีการถอดรหัสพันธุ์กรรมใช้เวลาและทรัพยากรมาก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงได้นำรหัสพันธุกรรมที่จำเพาะกับเชื้อที่ถอดรหัสพันธุกรรมไปพัฒนาน้ำยาตรวจระดับโมเลกุล เพื่อตรวจหาเชื้อได้เร็วขึ้น ไม่เกิน 3 ชั่วโมง และขยายผลไปยังศูนย์เครือข่ายห้องปฏิบัติการของกรมฯ ใน 14 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย นครสวรรค์ สมุทรสงคราม ชลบุรี อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ตรังและสงขลา

จากนั้นในเครือข่ายห้องปฏิบัติการได้ร่วมกับทางคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลรามาธิบดี และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลราชวิถี สถาบันบำราศนราดูร และ รพ.บำรุงราษฎร์ ตั้งเครือข่ายในการตรวจเพื่อสนับสนุนการตรวจซึ่งกันและกัน โดยกรมฯ จะสนับสนุนการดูแลมาตรฐาน เพื่อประเมินน้ำยาทดสอบของแต่ละแห่งว่ามีความถูกต้องและผลตรงกับกรมฯ หรือไม่ และจะมีการขยายไปยัง รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไปทั่วประเทศ อย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง

“เราไม่เคยบอกว่าให้ตรวจน้อย มีแต่ให้ตรวจเยอะขึ้น แต่ต้องเป็นไปตามเกณฑ์ของการสอบสวนโรคที่ทางกรมควบคุมโรคแจ้งมา เมื่อดำเนินมาประมาณเดือนกว่าเฉพาะที่กรมฯ ตรวจไปแล้ว 1,489 ตัวอย่าง โดยใช้วิธีเก็บน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ การส่องกล้องเข้าปอดจากผู้ป่วย แต่ทั่วไปจะเก็บจากสิ่งส่งตรวจหลังจมูก ในคอ เพื่อให้เจอเชื้อโดยตรง และอีกวิธีคือตรวจในเลือด หาภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัส ข้อดีเจาะเลือดทีเดียวและตรวจได้ ข้อเสียใช้เวลานานหลังจากติดเชื้อ”นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวว่า กรมฯ สามารถเพาะเชื้อในเซลล์เลี้ยงเชื้อได้แล้ว ซึ่งจะนำไปทำวัคซีน ยารักษา พัฒนาวิธีการตรวจอื่นๆ ที่ได้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย องค์การเภสัชกรรม(อภ.) สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาแต่นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี ในการพัฒนาศักยภาพของประเทศไทย

นพ.ปราโมทย์ กล่าวว่า ขณะนี้มีการนำสมุนไพรฟ้าทลายโจร มาทดลองว่าจะช่วยได้หรือไม่ ซึ่งฟ้าทลายโจรมีสรรพคุณ คือ 1.สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกัน 2.ต้านการอักเสบ 3.มีฤทธิ์ต้านไวรัสโดยเฉพาะในการติดเชื้อทางเดินหายใจ โดยเมื่อ 10 ปีก่อน ประเทศจีนเคยศึกษาเรื่องฟ้าทลายโจรในการรักษาโรคซาร์ส แต่ไวรัสโคโรนา 2019 มีรหัสพันธุกรรมที่ต่างจากโรคซาร์ส ขณะนี้จึงต้องมีการศึกษาว่าฟ้าทลายโจรจะช่วยยับยังไวรัสโคโรนา 2019 ได้หรือไม่ โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่าง กรมการแพทย์แผนไทยฯ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และอภ. และในวันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ จะมีการลงนามความร่วมมือกันในการศึกษาวิจัย คาดว่าจะทราบผลใน 1เดือน

นพ.ปราโมทย์ กล่าวว่า การทดลองที่ศูนย์วิจัยคลินิกของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในอาสาสมัครคนไทยสุขภาพดี 10 ราย รับประทานยาฟ้าทลายโจรในปริมาณที่เหมาะสม แล้วเจาะเลือดทุกวันระยะเวลา 5 วัน แล้วนำซีรั่ม(Serum) เลือดผู้ทดลองไปใส่ในเชื้อไวรัสโคโคโรนา 2019 เพื่อดูว่าไวรัสตายหรือยับยั้งการเติบโตได้หรือไม่ คาดว่าจะทราบผลใน 1 เดือน

เมื่อถามว่า มีปัจจัยใดบ้างของผู้ที่เป็น super spreader และจะป้องกันอย่างไร นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ผู้ที่จะเป็น super spreader สำหรับโรคติดต่ออุบัติใหม่ โดยทั่วไป คือ ผู้ที่ป่วยแต่ไม่อยู่บ้าน และเป็นผู้ที่สัมผัสกับผู้อื่นจำนวนมาก โดยมีอาการที่เหมือนกับคนทั่วไป หรืออาจจะมีอาการไอ จามที่มากกว่าคนทั่วไป แต่สิ่งที่จะต่างจากคนทั่วไป คือ ในชีวิตประจำวัน ลักษณะการทำงาน จะต้องสัมผัสกับผู้คนจำนวนมาก ไปในสถานที่แออัด ดังนั้น การไอ 1 ครั้งจะมีผู้สัมผัสใกล้ชิดหรือติดเชื้อจำนวนมากได้ โดยการแพร่เชื้อของแต่ละบุคคลปัจจัยขึ้นอยู่กับ 1.ปัจจัยตัวเชื้อ 2.ปัจจัยอาการ ไอจาม และ 3.ปัจจัยสำคัญคือชีวิตประจำวันของผู้ป่วยว่า หากมีอาการแล้วได้ไปสัมผัสกับผู้คนมากน้อยแค่ไหน

“ประเทศไทยสุดท้ายจะมีการแพร่ระบาดกว้างขวางหรือไม่ขึ้นอยู่กับทุกคน หากมีอาการป่วย ให้พักอยู่บ้าน อาการไม่รุนแรงให้รับประทานยาพาราเซตตามอน หากมีอาการหนักต้องพบแพทย์ ให้สวมหน้ากากไปหาแพทย์ สิ่งนี้จะช่วยประเทศได้เยอะมาก หากป่วยแล้วไม่ป้องกันตัวเองทั้งในบ้านและภายนอก ก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเมื่อเริ่มมีอาการป่วยต้องรู้ตัวและคิดเสมอว่าโรคที่เมื่อป่วยแล้วจะต้องอยู่ที่เรา ไม่แพร่เชื้อไปหาคนอื่น” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

เมื่อถามว่าผู้ป่วยรายที่มีอาการเฝ้าระวังที่สถาบันบำราศฯ ขณะนี้อาการเป็นอย่างไร นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ทั้ง 2 ราย คือ รายที่ 1 ใช้เครื่องช่วยพยุงการทำงานของปอดหรือเครื่องเอคโม่(ECMO) ในการดูแลรักษาอาการดีขึ้นตามลำดับแต่อยู่ในภาวะวิกฤต แต่มีอาการหลายอย่างที่ชี้ไปทางที่ดี รายที่ 2 ไม่ใช้เครื่องเอคโม เพราะว่าอาการและรักษาของผู้ป่วย ไม่สามารถใช้เครื่องได้ อาการยังทรงตัวอยู่ สธ.และทุกฝ่ายที่ให้การดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วย มีความพยายามอย่างเต็มที่ในการรักษาผู้ป่วยและมีการพิจารณาใช้ยาและเครื่องพยุงอาการตามความเหมาะสมของผู้ป่วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image