เปิดเล่มชวนอ่าน”จากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย : แผนการสู่อิสรภาพ”

ดีใจมากๆ ที่หนังสือเล่มดังแห่งยุคอย่าง “From Dictatorship to Democracy: A Conceptual Framework for Liberation” โดย “ยีน ชาร์ป” (Gene Sharp) ถูกแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ “จากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย: แผนการสู่อิสรภาพ” โดย “สนพ. สำนักนิสิตสามย่าน”

เอ่ยชื่อของยีน ชาร์ป หลายคนคงคุ้นหูอยู่ไม่น้อย เพราะแม้ว่าเขาจะลาจากโลกนี้ไปเมื่อสองปีก่อน แต่สิ่งที่นักวิชาการชาวอเมริกันผู้ศึกษาและเผยแพร่ความรู้เชิงยุทธศาสตร์ในการต่อต้านเผด็จการอย่างสันติทำไว้กว่าหลายสิบปีนั้น ทำให้หลายคนยกย่องเขาว่า สิ่งที่เขาศึกษาและถ่ายทอดนั้น ช่วยถมเติมเต็มระหว่างกระบวนการศึกษาทางทฤษฎีและวิถีปฏิบัติ จนแทบจะเรียกว่ายุทธวิธีหรือยุทธศาสตร์ได้เลยด้วยซ้ำ

จำกระบวนการเคลื่อนไหวอย่าง Arab Spring ในอียิปต์, Orange Revolution ในยูเครน, Occupy Wall Street ในสหรัฐอเมริกาได้ไหม นั่นคือบางส่วนการเคลื่อนไหวต่อต้านและเรียกร้องอย่างสันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรง ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานของยีน ชาร์ป

สนพ.สำนักนิสิตสามย่านไม่ได้แปลงานของยีน ชาร์ป เล่มแรก ก่อนหน้านี้เคยแปล คู่มือต้านรัฐประหาร จากหนังสือเรื่อง “Against The Coup” มาก่อนแล้ว สนพ.อธิบายว่านี่คือโปรเจ็กต์ “โครงการแปลงาน ยีน ชาร์ป เพื่อประชาธิปไตยไทย” เพราะยีน ชาร์ป เป็นนักยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดคนหนึ่ง หนังสือของเขาเป็นคู่มือชี้นำการต่อสู้ของประชาชนทั่วโลกให้โค่นล้มเผด็จการได้อย่างสันติวิธี

Advertisement

ในไทย งานของชาร์ปในช่วงสิบถึงยี่สิบปีมานี้ งานของเขาถูกพูดถึงน้อยลง และในช่วงรัฐประหารก็แทบไม่มีการพูดถึงเลย ซึ่งก็สะท้อนออกมาถึงยุทธศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนที่ล้มเหลวเช่นกัน สิ่งที่ สนพ.ทำ คือตั้งใจสื่อสารงานของชาร์ปในวงกว้าง เพื่อให้คนเตรียมตัว “ต่อต้านอำนาจรัฐประหาร” ที่อาจจะ “เกิดขึ้นอีกครั้ง” และเรียนรู้วิธีการรณรงค์ที่ทรงพลังต่อต้านอำนาจเผด็จการในชีวิตประจำวัน

“จากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย : แผนการสู่อิสรภาพ” เป็นหนังสือเล่มสำคัญในการปฏิวัติโค่นล้มเผด็จการทั่วโลกและมีการแปลมากกว่า 30 ภาษาทั่วโลก เวอร์ชั่นไทยแปลโดย “ธรรมชาติ กรีอักษร” และ “ภาคิน นิมมานนรวงศ์”

หนังสือเล่มนี้ที่เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ให้คำนิยามไว้ว่า “แนวคิดและวิธีการในหนังสือเล่มนี้ สร้างความฉิบหายต่อผู้นำเผด็จการมาแล้วทั่วโลก” นั้นนำไปสู่ความเข้าใจว่าระบอบอันกดขี่นั้นดำรงอยู่อย่างไร รวมถึงตีแผ่วิธีการต่อสู้สำหรับคนธรรมดาอย่างพวกเราด้วยสันติวิธี ซึ่งนอกจากจะแสดงให้เห็นว่า เมื่อการสนับสนุนของผู้คนในสังคมแก่รัฐสิ้นสุดลง ระบอบเผด็จการจะพังทลายลงได้อย่างไรแล้ว ยังให้กลยุทธ์และยุทธวิธีต่างๆ ที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ เมื่อประชาชนคนธรรมดาตัดสินใจร่วมมือกันโค่นล้มระบอบที่เป็นอยู่

“ทรราชย์มีอำนาจบังคับข่มเหงได้ก็ต่อเมื่อเราปราศจากความเข้มแข็งในการต่อต้าน (…)

ประชาชนที่ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ ไม่จำเป็นต้องอ่อนแอตลอดกาล เช่นเดียวกับเผด็จการที่ไม่จำเป็นต้องมีอำนาจค้ำฟ้าเสมอไป” ยีน ชาร์ป เขียนไว้

หลายเรื่องราวเกิดขึ้นในการต่อสู้ คำว่าสันติวิธี กลายเป็นคำที่หลายคนเย้ยหยันมากกว่าศรัทธา และมองว่าการเปิดหน้าสู้เท่านั้นที่จะเป็นทางเดียวที่สามารถเอาชนะเผด็จการได้ ไม่ใช่เครื่องมืออย่างสันติวิธี

ความเชื่อนี้เป็นสิ่งที่อันตรายไม่น้อยทั้งกับตัวประชาชนผู้ลุกขึ้นมาสู้ และต่อขบวนการประชาธิปไตย ยีน ชาร์ป กล่าวไว้ว่า “การต่อต้านเผด็จการโดยใช้กำลังทหาร หาใช่การโจมตีส่วนที่อ่อนแอที่สุดของเผด็จการ แต่เป็นการโจมตีไปยังส่วนที่พวกเขาแข็งแกร่งที่สุด จึงส่งผลให้ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ”

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความ จะให้ประชาชนที่ลุกขึ้นมาสู้ยืนอยู่กลางถนนเฉยๆ และรอรับชะตากรรมอย่างไม่โต้ตอบใดๆ

เพราะหัวใจของสิ่งที่ยีน ชาร์ป ต้องการสื่อนั้น คือการเสนอแนวทางการต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรง ด้วยเครื่องมือทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และจิตวิทยา การเลือกสู้ด้วยเครื่องมือใดต้องผ่านการประเมินสถานการณ์และการวางยุทธศาสตร์อย่างเป็นระบบ และบรรยากาศที่เปิดกว้างให้ผู้ทีมองเห็นปัญหาเข้าร่วมให้มากขึ้น

เพราะไม่มีอะไรที่บั่นทอนอำนาจและความเชื่อมั่นของเผด็จการ ได้มากเท่ากับจำนวนของประชาชนที่ไม่เชื่อฟังและไม่ยอมอ่อนข้อให้

หนังสือเล่มเดียวคงไม่สามารถล้มความไม่ชอบธรรมได้ทันที แต่อย่างน้อยความเจ๋งของสิ่งที่ยีน ชาร์ปศึกษามาหลายสิบปี คือ การเริ่มต้นเรียนรู้และสร้างข้อได้เปรียบให้ได้มากที่สุดในสภาวการณ์ปัจจุบัน เพราะกรณีศึกษาที่ยกตัวอย่างไปตอนข้างต้น คือส่วนหนึ่งที่พิสูจน์ได้ดี ถึงความเป็นไปได้ในการต่อสู้เชิงสันติวิธี

เนื้อหาว่าน่าสนใจแล้ว เส้นทางการเดินทางของ “จากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย : แผนการสู่อิสรภาพ” ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน แรกเริ่มเกิดขึ้นที่พม่า เพราะยีน ชาร์ป ถูกขอให้เขียน เขาเขียนเป็นภาษาอังกฤษ และแปลกลับเป็นภาษาพม่า แต่พิมพ์ที่นั่นไม่ได้ ต้องมาพิมพ์ที่ไทยตอนปี 1993 และกลายเป็นเล่มต้องห้ามของพม่า สุดท้ายคนที่นำไปถ่ายทอดยังทั่วโลกคือชาวอินโดนีเซียที่ซื้อจากกรุงเทพฯไปแปล และถ่ายทอดเป็นภาษาต่างๆ ต่างทั่วโลก จนกลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญของ Arab Spring และการลุกฮือต่อต้านในอีกหลายเหตุการณ์

วันนี้ “From Dictatorship to Democracy: A Conceptual Framework for Liberation” ก็ได้กลับมาไทยอีกครั้ง ในเวอร์ชั่นภาษาไทย

ยีน ชาร์ป กล่าวทิ้งท้ายไว้ในบทนำว่า

“หวังว่างานวิเคราะห์ที่รวบรัดว่าด้วยวิธีการโค่นล้มเผด็จการชิ้นนี้ จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในทุกๆ ที่ ซึ่งยังอยู่ภายใต้การครอบงำ แต่ปรารถนาที่จะเป็นอิสระ”

โดย สิรนันท์ ห่อหุ้ม

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image