เฉลียงไอเดีย : ‘ชัยวัฒน์ นันทิรุจ’ซีอีโอ‘เอกา โกลบอล’ ผู้นำแพคเกจจิ้งระดับโลก

เฉลียงไอเดีย : ‘ชัยวัฒน์ นันทิรุจ’ซีอีโอ‘เอกา โกลบอล’ ผู้นำแพคเกจจิ้งระดับโลก

เฉลียงไอเดีย : ‘ชัยวัฒน์ นันทิรุจ’ซีอีโอ‘เอกา โกลบอล’ ผู้นำแพคเกจจิ้งระดับโลก

แพคเกจจิ้งถือเป็นด่านแรกที่ดึงดูดผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่ง นอกเหนือจากสรรพคุณหรือข้อบ่งชี้คุณสมบัติของสินค้านั้น ดังนั้นอุตสาหกรรมการผลิตแพคเกจจิ้งหรือบรรจุภัณฑ์ จึงนับว่าเป็นอุตสาหกรรมสำคัญอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่จะเติบโต

คุณเคยสงสัยหรือไม่ว่าแพคเกจจิ้งสวยๆ ที่เห็นเมื่อซื้อสินค้าประเภทอาหารกึ่งสำเร็จรูปไม่ว่า จะเป็นซุป อาหารเด็ก อาหารสำเร็จรูป ผักผลไม้ สลัด น้ำผลไม้ เครื่องดื่มสมุนไพร ชา กาแฟ และอาหารสัตว์นั้นมาจากไหน ใครคือผู้ผลิต วันนี้ “มติชน” ขอนำท่านไปรู้จักกับผู้ผลิตแพคเกจจิ้งรายสำคัญ นั่นก็คือ ชัยวัฒน์ นันทิรุจ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท เอกา โกลบอล จำกัด นั่นเอง

ปัจจุบัน “เอกา โกลบอล” จัดได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ชนิด Longevity Packaging และบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบคงรูปรายใหญ่ที่สุดของโลก มีฐานลูกค้าทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีโรงงานในประเทศไทย 1 แห่ง จีน 2 แห่ง และมีสำนักงานขายอีก 1 แห่งในอินเดีย กำลังการผลิตรวม 2,500 ล้านชิ้นต่อปี

Advertisement

ก่อนที่จะเป็น “เอกา โกลบอล” ในปัจจุบัน “ชัยวัฒน์” เล่าให้ฟังว่า เป็นทายาทรุ่นที่ 2 ของกลุ่มแป้งมันร้อยเอ็ด กรุ๊ป ผู้ผลิตและจำหน่ายแป้งมันสำปะหลังชั้นนำของเมืองไทย จบปริญญาตรีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยหลังเรียนจบได้เข้าทำงานที่ฝ่ายธนบดีธนกิจ ธนาคารไทยทนุอยู่ 1 ปี ก่อนมาช่วยธุรกิจของครอบครัว โดยรับผิดชอบดูแลโรงงานสร้างเครื่องจักรผลิตแป้งมันสำปะหลัง ส่งขายให้แก่บริษัทต่างๆ ในอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง จากนั้น ได้ร่วมทุนกับนักลงทุนจากออสเตรเลียตั้ง บริษัท ไทยออสโตร โมลด์ จำกัด เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสติก แหละนี่คือจุดเริ่มต้นที่ “ชัยวัฒน์” ก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมผลิตบรรจุภัณฑ์จากพลาสติกอย่างจริงจัง

“ชัยวัฒน์” ตัดสินใจก้าวออกจาก “กงสี” เพื่อมาบุกเบิกธุรกิจบรรจุภัณฑ์ของตัวเองเมื่อปี 2546 ด้วยการจัดตั้ง บริษัท เอกาแพค จำกัด เพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์ชนิด Longevity Packaging โดยได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมถึงการวิจัยและพัฒนามาใช้ในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิต ทำให้ผลิตภัณฑ์มีมาตรฐานคุณภาพ ความสะอาดและความปลอดภัยขั้นสูง โดยบริษัทได้รับการรับรองมาตรฐานทั้งในระดับชาติและระดับสากล อาทิ ISO 9001 : 2015, FSSC 22000, GMP/HACCP

“ผมตัดสินใจออกมาลุยธุรกิจนี้เพราะเล็งเห็นว่าธุรกิจที่กำลังทำมีโอกาสเติบโตในระยะยาว อีกทั้งยังสอดคล้องกับพฤติกรรมและวิถีชีวิตของผู้บริโภคยุคปัจจุบันที่ต้องการความสะดวกและความปลอดภัย ซึ่งบรรจุภัณฑ์ของบริษัทซึ่งเป็น Longevity Packaging ผลิตจากเม็ดพลาสติกใหม่ ที่มีคุณสมบัติพิเศษหลายประการ คือ มีน้ำหนักเบา สะอาด ปลอดภัย นิยมใช้สำหรับสินค้าประเภทอาหารพร้อมรับประทานและอาหารสัตว์ สามารถผลิตได้หลากหลายรูปทรง โดยแม่พิมพ์มาตรฐานสามารถผลิตออกมาได้มากถึง 80 แบบ”

Advertisement

ในช่วงเริ่มต้นของการทำธุรกิจเต็มไปด้วยความยากลำบาก และต้องประสบภาวะการขาดทุนนับ 100 ล้านบาท เพราะต้องใช้เวลาในการก่อสร้างโรงงานนาน และที่สำคัญคือต้องใช้เงินลงทุนมากถึง 300-400 ล้านบาท และต้องใช้เวลานานถึง 2 ปีกว่าจะมีออเดอร์หรือคำสั่งซื้อจากลูกค้า

“ผมจำได้ไม่ลืม และสิ่งนี้อาจจะเป็นจุดพลิกครั้งสำคัญที่ทำให้ เอกาแพค เติบโตได้ในวันนี้ก็คือ เมื่อผมทำธุรกิจขาดทุน เงินหมุนไม่ทันผมก็กลับไปยืมเงินคุณพ่ออีกตามเคย วันนั้นนั่งรอพ่อนาน 6 ชั่วโมง พ่อเห็นผมนั่งรอ ก็รอไป พ่อเห็น แต่พ่อก็ยังคงให้พนักงานเข้าพบและประชุมธุรกิจของพ่อต่อไป จำได้ว่าวันนั้นผมเป็นคนสุดท้ายที่ได้พบพ่อ เพราะพ่อรู้อยู่แล้วว่าการมาของผม คือการมายืมเงินนั่นเอง

“และการยืมเงินพ่อก็ไม่ใช่ครั้งแรก ผมยืมมาต่อเนื่องเพื่อนำไปใช้ในบริษัทผม ที่แม้ขาดทุนแต่พนักงานทุกคนยังได้รับเงินเดือนปกติเพราะผมมีสายป่านที่ยาวจากพ่อนั่นเอง ผมเองก็เข้าใจพ่อ เพราะธุรกิจที่ผมทำพ่อก็เข้ามาช่วยอะไรไม่ได้ เนื่องจากต้องบอกว่าเป็นธุรกิจใหม่ แต่ถ้าเป็นธุรกิจเดิมของครอบครัวผมก็มั่นใจว่าพ่อคงเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาให้ผมแล้ว”

“ชัยวัฒน์” บอกว่า จากการที่ต้องนั่งรอพบผู้เป็นพ่อนานถึง 6 ชั่วโมงนั้น นับว่าเป็นจุดพลิกให้กล้าตัดสินใจพูดกับพ่อว่า ให้ตัดหุ้นหรือทรัพย์สินที่ควรจะได้จากกงสีให้ตนเองเสียที เพราะเกรงใจพวกพี่ๆ ที่ต้องมารบกวนเงินกงสีตลอดเวลา ซึ่งสุดท้ายพ่อก็ยอมแบ่งหุ้นให้ และถือว่านั่นคือครั้งสุดท้ายที่ขอเงินจากพ่อ

หลังจากได้เงินก้อนดังกล่าว ก็นำมาใช้จ่ายหมุนเวียนภายในบริษัท และในที่สุดก็สามารถขับเคลื่อนธุรกิจได้ โดยสามารถทำให้ธุรกิจมีกำไรได้ภายในระยะเวลา 5 ปี โดยบรรจุภัณฑ์ที่บริษัทผลิตส่วนใหญ่จะผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก ทำให้มีโอกาสในการติดต่อกับลูกค้าต่างประเทศ และทำให้บริษัทเห็นโอกาสที่จะสร้างการเติบโต และก้าวออกไปเป็นบริษัทระดับโลก ซึ่งมองว่าวิธีการหนึ่งที่จะไปได้คือการ “ซื้อกิจการ” และระหว่างนั้นก็มองหาพันธมิตรทางธุรกิจไปด้วย จนในที่สุดโอกาสก็มาถึง นั่นก็คือสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนเกิดขึ้น

“เราเชื่อว่าในวิกฤตย่อมเกิดโอกาสขึ้นได้เสมอ และเมื่อสถานการณ์เทรดวอร์รุนแรงขึ้น บริษัทที่มีความยากลำบากในการทำธุรกิจก็จะตัดสินใจขายธุรกิจ ในที่สุดเราก็ได้รับโอกาสนั้น”

บริษัท พริ้นแพคเอเชีย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทสหรัฐอเมริกาที่มีโรงงานผลิตอยู่ที่จีนและเป็นบริษัทที่อยู่ในฟอร์จูน 500 ประสบภาวะยากลำบากในการทำธุรกิจจากสถานการณ์เทรดวอร์ที่รุนแรงขึ้น จึงตัดสินใจขายธุรกิจ และทาง “เอกาแพค” ก็ได้เทกโอเวอร์มาเป็นผลสำเร็จ!

“พอได้ พริ้นแพคเอเชียมารวมกับเราแล้ว จึงเปลี่ยนชื่อมาเป็น บริษัท เอกา โกลบอล จำกัด และจากการเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้ทำให้ได้โรงงานผลิตที่อินเดียเข้ามาด้วยซึ่งจะยิ่งสนับสนุนฐานลูกค้าและตลาดให้กว้างมากขึ้น และจะสนับสนุนการเติบโตของบริษัทที่คาดว่าในแต่ละปีจะเติบโตได้ประมาณ 30% ทุกปี”

“ชัยวัฒน์” บอกว่า วันนี้ เอกา โกบอล พร้อมจะก้าวไปสู่ตำแหน่งผู้นำตลาดโดยเฉพาะในตลาดอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทาน (Ready-To-Eat) เพราะบรรจุภัณฑ์ชนิดนี้สามารถรักษาคุณภาพอาหารได้ยาวนานถึง 2 ปี โดยไม่ต้องแช่เย็น สามารถวางไว้ในอุณหภูมิปกติ โดยมีโรงผลิตที่บางปะกง ส่วนลูกค้าก็เป็นลูกค้าที่ผลิตอาหารรายใหญ่ของประเทศที่ใช้บรรจุภัณฑ์ของบริษัทเพื่อใส่สินค้าเพื่อส่งออก

“บริษัทตั้งมั่นที่จะผลิตบรรจุภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงให้กับลูกค้า โดยเฉพาะลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ พร้อมกับตั้งเป้าหมายยอดขายระยะ 5 ปีไว้ที่ 4,000-5,000 ล้านบาท และต้องการที่จะเป็นผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์พลาสติกคงรูปสำหรับใช้บรรจุอาหารในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทั้งด้านยอดขายและกำลังการผลิต โดยปัจจุบันบริษัทมีกำลังผลิตรวม 2,500 ล้านชิ้นจากเดิมที่โรงงานของบริษัทในประเทศมีกำลังผลิตที่ 1,600 ล้านชิ้นต่อปี”

ส่วนแผนการนับจากนี้ไป “ชัยวัฒน์” บอกว่า จะหันมาเจาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ในประเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตขนมหวาน เพื่อให้กลุ่มเหล่านี้นำบรรจุภัณฑ์ของบริษัทมาใช้ให้มากขึ้น ช่วยยืดอายุอาหารให้ยาวนานขึ้น 3-6 เดือนโดยไม่ต้องใส่ตู้เย็น ให้เอสเอ็มอีเหล่านี้มีโอกาสเติบโตทางธุรกิจ ลดการสูญเสียจากเดิมที่อายุขนมหวานจะอยู่ได้ 3 วันเท่านั้น

“การรุกตลาดเอสเอ็มอี เกิดขึ้นเพราะเห็นโมเดลทางธุรกิจของอินเดีย มีการนำขนมหวานมาใส่บรรจุภัณฑ์และส่งออกไปขายทั่วโลก หากนำมาใช้ในประเทศไทยก็จะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับเอสเอ็มอีของไทยได้ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ เพราะไทยมีชื่อเสียงด้านขนามหวานด้วยเช่นกัน”

แหละนี่คือส่วนหนึ่งของการเติบโตของ เอกา โกลบอล จากบริษัทที่ขาดทุนในวันนั้น กลายเป็นผู้นำธุรกิจบรรจุภัณฑ์ Longevity Packaging รายใหญ่ที่สุดของโลกในวันนี้ ที่ไม่ได้มาจากโชคช่วย

ถ้าไม่เก่งจริงคงทำไม่ได้!

เพ็ญทิพย์ อักษรเนียม

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image