ศิลปะกรุงธนบุรีที่สูญหาย ฉากสุดท้ายพระเจ้าตาก ทริปนี้ ‘เราเริ่มเรื่องที่ตอนจบ’

ผู้ร่วมวอล์กกิ้ง ทัวร์ ถ่ายภาพร่วมกันที่วัดอินทารามวรวิหาร

15 ปี คือห้วงเวลาที่ถูกระบุในตำราเรียนประวัติศาสตร์ว่า “สมัยกรุงธนบุรี”

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช คือกษัตริย์พระองค์เดียวในยุคสมัย

ไม่เพียงเรื่องราวมากด้วยสีสันและปริศนาชวนให้คนรุ่นหลังร่วมคลี่คลาย

ศิลปกรรมคือหนึ่งในประเด็นน่าศึกษา สัมผัส เรียนรู้ ทำความเข้าใจ

Advertisement

เสาร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ วัดอินทารามวรวิหาร แขวงบางยี่เรือ ฝั่งธนบุรี กรุงเทพฯ อันแสนเงียบสงบ สำนักพิมพ์มติชน และ ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ จัด วอล์กกิ้ง ทัวร์ สบายๆ ในหัวข้อ “พระเจ้าตากและศิลปะกรุงธนบุรีที่หายไป”

วิทยากรจะเป็นผู้ใดไปไม่ได้ นอกจาก รศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เจ้าของผลงาน “ศิลปะกรุงธนบุรี”

Advertisement

ร่วมด้วย ปรามินทร์ เครือทอง ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์พระเจ้าตาก ผู้เขียนหนังสือ “พระเจ้าตากเบื้องต้น”, “ปริศนาพระเจ้าตากฯ” และ “ชำแหละแผนยึดกรุงธนบุรี” อันลือลั่น

บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก โดยมีผู้ลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อร่วมทัวร์ไทม์แมชชีนย้อนอดีตเป็นจำนวนมากและทยอยเดินทางมาลงทะเบียนบริเวณหน้าอุโบสถวัดอินทารามตั้งแต่เที่ยง ทั้งกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจประวัติศาสตร์ทุกเพศทุกวัย

ไม่เว้นแม้แต่ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ นายทหารนักเขียน เจ้าของผลงานมากมาย อาทิ สอยดาวมาร้อยบ่า และ 2475 เส้นทางคนแพ้ ได้ร่วมวอล์กกิ้งทัวร์ในครั้งนี้ด้วย โดยระหว่างรอเวลาเริ่มต้นตามกำหนดการ ผู้เข้าร่วมต่างจับกลุ่มพูดคุยถกเถียงในประเด็นประวัติศาสตร์ยุคพระเจ้าตากสินเป็นที่ครึกครื้น

กระทั่งบ่ายโมงตรง ปรามินทร์ เครือทอง ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ยุคพระเจ้าตาก เกริ่นว่า ในการทัวร์ครั้งนี้มีความพิเศษกว่าทุกครั้ง เพราะโดยปกติตนจะเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ผ่านพงศาวดาร และเอกสารประวัติศาสตร์ แต่ในครั้งนี้ หลักฐานเหล่านั้นจะถูกพิสูจน์อีกชั้นหนึ่งด้วยหลักฐานทางด้านศิลปกรรม ขัอมูลด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ ว่ามีความสอดคล้องกันหรือไม่ โดยพาเดินเท้าเยี่ยมชม 3 วัดที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ยุคกรุงธนบุรี ได้แก่ วัดอินทารามวรวิหาร, วัดจันทารามวรวิหาร หรือ วัดกลาง และวัดราชคฤห์วรวิหาร ซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างจากกันมากนัก

“เราเริ่มเรื่องที่ตอนจบ เพราะวัดอินทารามเกี่ยวข้องกับความตายของพระเจ้าตาก จุดที่เรายืนอยู่คือลานใกล้พระอุโบสถนี้ มีตำนานและเรื่องเล่าว่า หลักจากถูกประหารด้วยการตัดศีรษะ

“พงศาวดารบอกว่า มีการนำพระศพฝังบริเวณโบสถ์ซึ่งสร้างทับที่ปลงพระศพ แต่ยังมีข้อสงสัยหลายอย่าง สมัยธนบุรี ตรงนี้น่าจะเป็นที่โล่ง ในเอกสารบันทึกไว้ว่ามีการปลูกศาลา ถามว่าถ้าจริงจะประดักประเดิดไปไหม”

ปรามินทร์ยังเรียกน้ำย่อยให้กลืนน้ำลายด้วยประเด็นข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ยุคพระเจ้าตาก โดยเฉพาะการสิ้นพระชนม์ซึ่งยังถกเถียงไม่รู้จบสิ้น

“พงศาวดารรัตนโกสินทร์บอกว่าตัดหัวจนถึงแก่พิราลัย และให้ขุดศพขึ้นมาบังสุกุล จะเห็นได้ว่าการใช้ถ้อยคำเช่นนี้แสดงถึงการที่ไม่ได้มีความเป็นกษัตริย์ ในประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ การปฏิวัติถูกวางแผนเป็นลำดับ ผู้ชนะกำจัดผู้แพ้ออกไปจากเส้นทางการเมือง”

ย้อนกลับมาที่พระศพพระเจ้าตากอีกครั้ง

ปรามินทร์บอกว่า เป็นช่วงเวลาถึง 2 ปีหลังประหาร จึงจะทำการขุดศพขึ้นมาเผา ถามว่าทำไม? ก็ต้องบอกว่า ไม่มีหลักฐาน ครั้นเผาแล้วก็เลือนหายจากความทรงจำทางประวัติศาสตร์ กระทั่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เรื่องราวของพระเจ้าตากจึงหวนคืนมาอีกครั้ง โดยมีการบอกเล่าให้ฝรั่งฟังว่า พระเจ้าตากเป็นบ้า

“ตอนขุดศพเป็นงานใหญ่ เผากลางแจ้งแบบเรียบง่าย ไม่ได้พระราชทานพระเมรุ ถามว่าพอเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ มีคนที่ยังผูกใจพระเจ้าตากไหม มี เพราะส่วนหนึ่งก็รับราชการต่อมาจากยุคนั้นจนมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ แล้วพากันร้องไห้ในงานศพ เลยถูกรัชกาลที่ 1 สั่งโบย”

แค่เปิดม่าน ก็มันมากด้วยข้อมูลหลากสีสัน จากนั้นส่งไม้ต่อไปยัง รศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์โบราณคดี ที่สร้างความพิเศษในทริปประวัติศาสตร์ ด้วย “ประวัติศาสตร์ศิลปะ” ที่ชี้ชวนให้ผู้ร่วมเดินทางดื่มด่ำศิลปกรรมซึ่งไม่เพียงงดงาม ทว่ายังเก็บไว้ซึ่งร่องรอยหลักฐานทางวิชาการอย่างลึกซึ้ง แนบเนียน ซับซ้อน ชวน “ถอดรหัส” ไปด้วยกัน

รศ.ดร.ประภัสสร์เปิดประเด็นว่า ทำไมต้องมา “ดูวัด” นั่นเพราะสมัยโบราณ งานช่างถูกฝากไว้กับงานศาสนสถาน ซึ่งเป็นหนึ่งสถาบันสำคัญของชุมชน อย่างที่วัดอินทารามแห่งนี้ มีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ยุคพระเจ้าตากสินทั้งทางตรงและทางอ้อม อย่างไรก็ตาม ศิลปกรรมที่เราเห็นอยู่ เป็นงานช่างสมัยรัชกาลที่ 3 แต่วัดแห่งนี้มีร่องรอยหลักฐานถึงการมีอยู่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น เดิมเรียก “วัดบางยี่เรือใต้” โดยจุดที่เป็นเขตพุทธาวาสใหม่ซึ่งเป็นที่ตั้งของอุโบสถ วิหาร อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน อาจเกี่ยวข้องกับการถวายเพลิงพระศพพระเจ้าตาก แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานที่พิสูจน์ได้ เว้นแต่การที่พื้นที่ตรงนี้ในยุคพระเจ้าตากและก่อนหน้าไม่ได้ถูกใช้งานในแบบเดียวกับปัจจุบัน แต่จะเป็นอะไร ใช้ทำอะไร ไม่อาจทราบได้

“วัดอินทารามเป็นวัดขนาดใหญ่ มีพระอุโบสถเป็นประธาน มีพระวิหารขนาบข้าง ด้านหลังมีวิหารน้อย สลับกับเจดีย์ทรงเครื่อง 3 องค์ แม้มีหลักฐานว่าตรงนี้เป็นวัดมาแล้วตั้งแต่อย่างน้อยสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น แต่พื้นที่ตรงนี้ถูกสถาปนาขึ้นใหม่สมัยรัชกาลที่ 3 ผู้มาปฏิสังขรณ์คือ พระยาศรีสหเทพ ผู้มีความเกี่ยวข้องกับขุนนางสมัยพระเจ้าตาก วัดนี้ พระเจ้าตากทรงให้ความสำคัญมากๆ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติพระราชกรณียกิจส่วนพระองค์ ถ้าใช้ภาษาง่ายๆ คือทั้งแม่ ทั้งลูกชาย ก็เผาที่วัดนี้ ช่วงหลังก็ทรงมานั่งวิปัสสนาที่นี่ ในพระราชพงศาวดารระบุด้วยซ้ำไปว่าพระองค์โปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดนี้”

รศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร และ ปรามินทร์ เครือทอง นำเดินเท้า “วอล์กกิ้ง ทัวร์ พระเจ้าตากและศิลปะกรุงธนบุรที่หายไป” 22 กุมภาพันธ์ 2563

เรียกได้ว่า หากนำข้อมูลจากวิทยากรทั้ง 2 ท่านมารวมกันแล้วจินตนาการย้อนไปในครั้งพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นไปได้หรือไม่ว่าพื้นที่ตรงนี้คือลานโล่งซึ่งสุดท้ายถูกใช้ในการถวายเพลิงพระศพ เพราะขณะนั้น ยังไม่มีโบสถ์ เจดีย์ วิหารซึ่งถูกสร้างขึ้นในภายครั้ง นั่นคือครั้งแผ่นดินพระนั่งเกล้าฯ

เป็นข้อสันนิษฐานเป็นการบ้านชวนให้ผู้ร่วมทริปนำกลับไปคิดต่อ

จากนั้น อาจารย์โบราณคดีชี้ชวนให้ชมศิลปกรรมอันงดงามในเขตพุทธาวาสใหม่ของวัดอินทารามซึ่งเป็นงานช่างในสมัยรัชกาลที่ 3 อย่างไม่ต้องสงสัย ด้วยโครงสร้าง “เรียบง่าย” อย่างเด่นชัด

เช่นเดียวกับ วัดจันทารามวรวิหาร หรือวัดกลาง ซึ่งงานโครงสร้างจั่วที่ก่อขึ้นถูกประดับด้วย “เครื่องถ้วย” อันเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์โดดเด่นของศิลปกรรมกลิ่นอายจีนแบบพระราชนิยม

เขยิบไป วัดราชคฤห์วรวิหาร ก็แปลกตาด้วย “เขามอ” มีมณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาท

เรื่องราวในช่วงเวลาต่างๆ ในพระชนม์ชีพของพระเจ้าตากถูกบอกเล่า ถกเถียง ชวนพูดคุยตลอดทริป

ไม่ใช่การบรรยายวิชาการอย่างชวนง่วง หากแต่เป็นเสมือนบทสนทนาแลกเปลี่ยนอย่างรื่นรมย์ พิสูจน์ด้วยรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และคำถามจากผู้ร่วมเดินทางในช่วงเวลากว่า 3 ชั่วโมงที่คุ้มค่าในทุกวินาที

ปรามินทร์ เครือทอง

 

ประภัสสร์ ชูวิเชียร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image