ดริน พันธุมโกมล ครูเปียโนแจ๊ซ ผู้อยู่เบื้องหลัง TIJC 2016

อีกครั้งกับเทศกาลดนตรีแจ๊ซนานาชาติ (TIJC) สุดยิ่งใหญ่ที่จัดเต็มทั้งสาระและบันเทิง ซึ่งจัดขึ้นระหว่าง 29-31 มกราคม ณ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล ศาลายา ปีนี้เป็นครั้งที่ 8 พร้อมทัพนักดนตรีแจ๊ซทั้งไทยและเทศมากกว่า 60 วง

หัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญคืออาจารย์หนุ่มร่างสันทัด “ดริน พันธุมโกมล” บริหารธุรกิจมหาบัณฑิตจากนิวออลีน ที่ผันตัวมาเป็นครูดนตรี

ปัจจุบัน “ดริน พันธุมโกมล” หรือ “อ.โจ้” เป็นหัวหน้าสาขาวิชาดนตรีแจ๊ซ ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล สอนเปียโนเป็นเครื่องเอก กีตาร์เป็นเครื่องรอง

ถือเป็นนักดนตรีแจ๊ซฝีมือดีคนหนึ่งของไทย

Advertisement

ดริน เป็นบุตรชายคนเล็กของ “รศ.สดใส พันธุมโกมล” ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ละครเวทีและโทรทัศน์) พ.ศ.2554 ผู้ก่อตั้งภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ “รศ.นพ.ตรง พันธุมโกมล” อดีตหัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ออโธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ นักดนตรี ผู้เชี่ยวชาญ และอดีตประธานชมรมดนตรีสากลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือซียู แบนด์ (C.U.Band) ในปัจจุบัน

เกิดเมื่อ 17 สิงหาคม 2514 เป็นน้องชายคนเล็กของ ศุภยง และดาริส 3 คนพี่น้อง เติบโตในบ้านที่เต็มไปด้วยเครื่องดนตรีหลากหลายชนิด

“ที่บ้านมีเครื่องดนตรีตั้งอยู่เต็มเลย เดินไปเดินมา การเห็นเครื่องแบบนี้ตั้งแต่เด็กๆ ก็คิดว่าสักวันหนึ่งเราต้องเล่นให้เป็น”

Advertisement

หลังจากยิงคำถาม “เครื่องดนตรีชนิดแรกที่หยิบจับคือชิ้นใด”

อ.โจ้ ตอบทันทีพร้อมหัวเราะ “เปียโนครับ แต่ไม่ได้หยิบนะ จับเฉยๆ”

เมื่ออายุ 7 ขวบก็เริ่มเรียนเปียโนกับครู “ชรภิญญ์ พงศ์ธรพิพัฒน์”

“ผมมีครูที่ดีมากๆ สอนเรื่องเทคนิค ให้ความสนุกกับการเรียน เนื้อหาหลักๆ เป็นด้านคลาสสิก แต่หลังจากเรียนได้สักพักก็สนใจดนตรีแจ๊ซ ครูอาจจะเหนื่อยกับผมนิดหน่อย ท่านดึงความสนใจให้อยู่ในเรื่องเปียโน ดนตรีคลาสสิก และเทคนิคเปียโนได้ค่อนข้างมาก แต่หลังจากเรียนไปสักพัก ผมก็สนใจดนตรีป๊อป ดนตรีแจ๊ซ จึงหัดคู่ขนานกันไป” อ.โจ้ เล่า

เมื่อถึงวัยที่ต้องสอบเอ็นทรานซ์ ตอนนั้นประเทศไทยไม่มีการสอนดนตรีแจ๊ซในประเทศไทย มีเพียงดนตรีคลาสสิกซึ่งไม่สนใจนัก จึงไม่ได้เลือกเรียนด้านดนตรี

เขาจบปริญญาตรีจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ แล้วทำงานกับ “รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์” ก่อนลัดฟ้าไปศึกษาปริญญาโทด้านการเงินที่มหาวิทยาลัยแห่งนิวออร์ลีนส์ ลุยเซียนา สหรัฐอเมริกา เมืองต้นกำเนิดดนตรีแจ๊ซ ซึ่งดรินบอกว่ามีเพื่อนเป็นนักดนตรีมากกว่าเพื่อนในคณะเสียอีก

เมื่อกลับบ้านเกิด เขาโลดแล่นอยู่ในแวดวงการเงิน เป็นเจ้าหน้าที่วิเคราะห์หลักทรัพย์ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกพัฒน์ และศรีมิตร ก่อนย้ายไปองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน และสำนักงานคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า ขณะเดียวกันก็เป็นนักดนตรีที่โรงแรมโอเรียนเต็ล

“กลับมาทำงานสัก 7 ปี กระทั่งมีความเจริญเติบโตประมาณหนึ่ง เริ่มเซ็นเช็คได้แล้ว ทำให้รู้สึกว่าไม่สนุก ความทะเยอทะยานหมดไป มีเสียงชวนจากใครก็ตาม ณ ขณะนั้น ก็พร้อมจะไป”

ณ จุดประกายคอนเสิร์ต เขาได้เจอกับ “วิลเลียม-กฤษติ์ บูรณวิทยวุฒิ” อาจารย์สาขาวิชาดนตรีแจ๊ซ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล ศิลปินรับเชิญในงาน ท่านถามว่าสนใจไหม?

ด้วยความเบื่องานเก่า ดริน จึงตัดสินใจไม่ยาก เบนเข็มสู่ “ครูดนตรี” ในวัย 31 ปี

ปัจจุบัน นอกจากเป็นหัวหน้าสาขาดนตรีแจ๊ซแล้ว ยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญของเทศกาลดนตรีแจ๊ซนานาชาติ หรือ Thailand International Jazz Conference ปีที่ 8 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29-31 มกราคม ไฮไลต์สำคัญคือศิลปินแจ๊ซเปี่ยมคุณภาพทั้งไทยและต่างประเทศ มากกว่า 60 วง และได้สัมผัสสุนทรียภาพทางดนตรีได้อย่างเต็มอิ่ม ทั้งยังมีโปรแกรมส่งเสริมเยาวชนที่สนใจในศาสตร์ของดนตรีแจ๊ซให้เข้ามาเรียนรู้ผ่านการเวิร์กช็อปโดยศิลปินระดับโลก

หลังการสัมภาษณ์ อ.โจ้ ชวนไปดูบรรยากาศการจัดเวิร์กช็อปโดย โจนาธาน ไครส์เบิร์ก (Jonathan Kreisberg) มือกีตาร์แจ๊ซชาวอเมริกัน

fun01310159p1

ระหว่างนั้น โจนาธาน ยิงคำถาม อ.โจ้ มองไปรอบห้องก่อนตอบอย่างถูกต้อง เรียกเสียงปรบมือสนั่น ขณะที่คนตอบยืนเขินอยู่หลังห้อง

– เติบโตมาในครอบครัวคนดนตรี

คุณพ่อเป็นหมอ แต่เล่นดนตรีและชอบฟังดนตรีมากๆ ส่วนคุณแม่ทำงานด้านงานละครและเป็นนักร้องนักดนตรีด้วย สมัยเด็กไม่ค่อยมีปากมีเสียง จำได้ว่าวันหนึ่งคุณพ่อหรือแม่ถามว่าจะเรียนเปียโนหรือเปล่า พอเรียนแล้วก็ชอบมาเรื่อยๆ

ได้รับอิทธิพลจากคุณแม่หลายด้าน ทั้งด้านความคิด ด้านอาชีพ แม้สาขาวิชาที่คุณแม่เป็นคือศิลปะการแสดง ไม่ตรงกับดนตรีเสียทีเดียว แต่ดนตรีกับละครคือการแสดงเหมือนกัน ได้รับอิทธิพลด้านแนวทางอาชีพค่อนข้างเยอะ อยากขึ้นเวที อยากแสดง อีกอย่างท่านเป็นคนที่มีพรสวรรค์ทางดนตรีสูง มีความเป็นคนดนตรีในตัวค่อนข้างเยอะ เห็นภาพแบบนี้มาพอสมควร มีอิทธิพลต่อชีวิตเยอะ

ส่วนคุณพ่อก็มีอิทธิพลเยอะไปอีกแบบ ท่านเป็นหมอ เป็นนักดนตรีนักแต่งเพลง ทั้งสองท่านมาจากชมรมดนตรีของจุฬาฯ (ซียูแบนด์) ท่านสอนเรื่องที่อยู่นอกตำราดนตรีคลาสสิกเกือบทั้งหมด ทำให้ได้รู้จักแจ๊ซ ให้เล่น ให้เข้าใจ สอนทฤษฎีดนตรี ถือเป็นครูอีกคนของผม

– เริ่มเรียนเปียโนคลาสสิก แต่สนใจเปียโนแจ๊ซ

ตอน ป.4 คุณพ่อขับรถไปส่งที่โรงเรียน ท่านเปิดเทปของบิล เอแวนส์ (Bill Evans) นักเปียโนแจ๊ซที่ยิ่งใหญ่มากๆ เล่นดูเอ็ทกับเอ็ดดี้ โกเมซ (Eddie Gomez) มือเบส หลังจากนั้นก็ติดใจดนตรีแจ๊ซ แม้จะเล่นได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ก็ฟังดนตรีประเภทนี้ตั้งแต่นั้น รู้สึกว่าเท่มาก พยายามกดเปียโนมั่วๆ ให้เท่แบบนั้น ถือว่าค้นพบตัวเองเร็วมาก

การเริ่มด้วยเปียโนคลาสสิก ได้เรียนตามลำดับจากเพลงง่ายกระทั่งเพลงยาก เรื่องของนิ้ว การเคลื่อนไหวต่างๆ จะไม่เกร็ง แต่คนที่ฝึกเปียโนแจ๊ซเอง บางทีการใช้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกาย อาจผิดวิธีบ้าง ถ้าผมสนใจดนตรีคลาสสิกมากกว่านี้ ขยันมากกว่านี้ ทุกวันนี้คงเล่นได้ดีกว่านี้

ตอนเด็กๆ ไม่มีความคิดเลยว่าจะมาทำอาชีพด้านดนตรี แต่รู้ว่าชอบตลอดเวลา

ชีวิตถูกกำหนดจากการสอบเข้ามหาวิทยาลัยนับ 10 ปี ปริญญาตรีเรียนด้านบริหารธุรกิจ ปริญญาโทที่อเมริกาก็เป็นด้านบริหารธุรกิจ แต่ก็เลือกเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งนิวออลีนส์ เมืองต้นกำเนิดแจ๊ซ ที่นั่นมีภาควิชาดนตรีแจ๊ซที่มีเอลลิส มาเซลิส (Ellis Marsalis, Jr.) ที่ผมเป็น ‘ติ่ง’ ท่าน อย่างน้อยไปให้ได้เห็นตัวจริง เลือกที่ๆ ตัวเองจะมีความสุข

12660204_10153854925183468_835130629_n

อุ้มเจ้าดำ กับ เจ้าทอง สมาชิกใหม่

– จากนักการเงิน สู่ครูดนตรี

มาปุ๊บ เริ่มสอนเลย ช็อก เพราะว่าสอนไม่เป็น ด้วยความที่เราฝึกเอง ไม่ได้ผ่านระบบการศึกษาดนตรีแจ๊ซมาโดยตรง จึงไม่รู้ว่าต้องเริ่มต้นตรงไหน ลองผิดลองถูกเกือบ 5 ปีเพื่อหาว่าต้องทำอย่างไร หาระบบที่ลงตัว สอนแล้วเด็กได้ ช่วงแรกลำบาก ปรึกษาเรื่องการเรียนการสอนกับ อ.วิลเลี่ยม, อ.หลง นพดล ถิรธราดล, อ.บั๊ม ธีรพจน์ ผลิตากุล และขอเอาคำอธิบายรายวิชาของอาจารย์ท่านก่อนๆ มานั่งดู

สมัยนั้นเสียเงินกับตำราเยอะมาก ดูวิธีการว่าแต่ละเล่มเป็นยังไง รวมถึงเสิร์ชอินเตอร์เน็ตว่ามหาวิทยาลัยต่างประเทศมีลำดับการสอนอย่างไร ทำทุกอย่างที่สามารถทำได้

– ฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเทศกาลดนตรีแจ๊ซนานาชาติ (TIJC)

ก่อนหน้าการจัดครั้งแรกประมาณ 2 ปี ในปี 2550 อาจารย์สาขาวิชาดนตรีแจ๊ซมีโอกาสไปดูงานที่อเมริกา องค์กร International Association for Jazz Education (IAJE) เกี่ยวกับการศึกษาดนตรีแจ๊ซในอเมริกาจัดงานที่มีการเวิร์กช็อป การแสดง มีโปรแกรมมากมายดูกันไม่ไหว เป็นงานใหญ่มาก พวกเราจึงอยากจัดงานที่ให้ความสำคัญกับการทำเวิร์กช็อป การให้การศึกษา และการแสดงดนตรี

ความประทับใจคือ IAJE ให้ความสำคัญเรื่องการศึกษา มีการระบุคำอธิบายรายวิชาชัดเจน ว่าสอนเรื่องอะไรบ้าง มีการบริหารจัดการที่ดี ให้ข้อมูลชัดเจน เราจึงย่อส่วนมาไว้ที่ศาลายาครั้งแรกในปี 2552

ถึงวันนี้ TIJC จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 8 แล้ว มีโปรแกรมขยายขึ้นมา เพราะคนสนใจอยากเล่นดนตรีเยอะขึ้น จนสามารถจัดโปรแกรมคู่ขนาน ช่วงกลางวันมีการเวิร์กช็อป เวทีกลางแจ้งมีการแสดง ส่วนกลางคืนมีการแสดงที่เวทีใหญ่บริเวณพฤกษาดุริยางค์

ไฮไลต์ของปีนี้ คือโปรแกรม TPO with Jazz ที่เพิ่มเข้ามาช่วงวันเสาร์ที่ 30 มกราคม เป็นการแสดงของวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (TPO) ร่วมกับดนตรีแจ๊ซ มีศิลปินรับเชิญ Jens Lindemann นักทรัมเป็ตจากแคนาดา ที่มีชื่อเสียงมากๆ ด้านคลาสสิกและแจ๊ซ, Jakob Dinesen มือแซกโซโฟนจากเดนมาร์ก และ Cherryl J. Hayes นักร้องที่น้ำเสียงสุดยอดมาก

ถ้าเป็น 30 ปีที่แล้วคงไม่สามารถจัดได้ เพราะไม่มีใครสนใจดู แต่ตอนนี้แวดวงการศึกษาด้านแจ๊ซดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากระบบการศึกษาด้านดนตรีแจ๊ซมีจำนวนและคุณภาพมากขึ้น น้องนักศึกษามาตรฐานสูงขึ้น กระทั่งทำให้เราจัดเทศกาลดนตรีเช่นนี้ได้

12625737_10153854925178468_697514280_n

– แต่ละปีมีศิลปินแจ๊ซระดับโลกมาร่วมงานจำนวนมาก มีหลักการคัดเลือกศิลปินอย่างไร

1 ต้องเป็นคนเล่นเก่ง แสดงสนุก พวกเราติดตามวงการอยู่แล้ว จะรู้ว่าใครมีผลงานต่อเนื่อง ออกคอนเสิร์ตแล้วต้องสนุก

2 ต้องสอนเป็น มีโปรไฟล์การสอน เช่น โจนาธาน ไครส์เบิร์ก ซึ่งเจ๋งมาก 3 ต้องเป็นคนที่สร้างแรงบันดาลใจ เราเลือกนักดนตรีให้มีส่วนผสมทั้งจากยุโรป อเมริกา เอเชีย อายุมากบ้าง น้อยบ้าง เพื่อให้คนเห็นว่าอายุ 21 เล่นโคตรเก่ง หรือศิลปินจากอินโดนีเซียที่เก่งมาก เราควรทำให้ได้อย่างเขา

– การพัฒนาฝีมือของนักดนตรีแจ๊ซในเอเชีย

สำหรับเอเชีย ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกๆ ที่พัฒนาดนตรีแจ๊ซจนตอนนี้เข้าใกล้โลกตะวันตกทุกที

สมัยเด็กๆ ได้ยินชื่อโตชิโกะ อาคิโยชิ (Toshiko Akiyoshi) นักเปียโนแจ๊ซสาวชาวญี่ปุ่น, ซาดาโอะ วาตานาเบ้ (Sadao Watanabe) อยู่บ่อยๆ กระทั่งทุกวันนี้นักดนตรีญี่ปุ่นมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติจำนวนมาก ประเทศที่กำลังตามมาคือเกาหลีใต้ที่มีนักดนตรีแจ๊ซเก่งๆ หนึ่งในนั้นคือ คุงซิก ชอย (Kyungsik Choi) ที่มาเล่นในงานเรา

กลุ่มเอเชียอาคเนย์ ประเทศที่มาแรงมากน่าจะเป็นอินโดนีเซีย มีเด็กอัจฉริยะคนหนึ่งชื่อโจอี้ อเล็กซานเดอร์ (Joey Alexander) อายุประมาณ 12 ทำผลงานบรรเจิดเหมือนผู้ใหญ่ ไทยเราก็มีนักดนตรีรุ่นหลังที่เก่งหลายคน คิดว่าภายใน 5-10 ปีข้างหน้า เอเชียจะมีนักดนตรีแจ๊ซเด่นๆ โลดแล่นฝั่งตะวันตกได้เยอะ

– โพเมโล ทาวน์”รวมคณาจารย์ดนตรีแจ๊ซของวิทยาลัย

ในสาขาเราจะมีดนตรีวงหนึ่งไว้แสดงตามที่ต่างๆ มี อ.วิลเลียม (แซกโซโฟน) อ.หลง(ดับเบิลเบส) ผม (เปียโน) อ.คม วงษ์สวัสดิ์ อ.ไข่ ศรุติ วิจิตรเวชการ (กลอง) วันดีคืนดีก็รู้สึกว่าทุกครั้งที่แสดง ต้องเรียกตัวเองว่าคณาจารย์จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล ซึ่งเป็นคำที่ยืดยาว เถียงกันอยู่พักหนึ่งว่าใช้ชื่ออะไรดี กระทั่งได้ชื่อ “Pomelo Town-เมืองส้มโอ” เพราะมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ใกล้กับนครชัยศรีซึ่งเป็นเมืองส้มโอ

แสดงหลายที่ ในไทยจะมีเทศกาลแจ๊ซ เช่น หัวหิน เชียงใหม่ พัทยา ต่างประเทศ เท่าที่นึกออกอย่างเอเชียก็สิงคโปร์ ยุโรปก็กรีซ เยอรมนี สกอตแลนด์ ส่วนเรื่องแฟนคลับไม่แน่ใจเหมือนกัน เราค่อนข้างออกแนววิชาการ ไม่ค่อยติดตามสถานการณ์

– ศิลปินคนโปรด

ผมเล่นเปียโน จึงชอบนักเปียโนเป็นส่วนใหญ่ ในบรรดาคนที่มีชีวิตอยู่ทุกวันนี้ คนหนึ่งที่มีอิทธิพลเรื่องการเล่นดนตรีคือเอลลิส มาเซลีส ที่ทำให้ไปเรียนนิวออลีนส์ อีกคนเบนนี่ กรีน (Benny Green) ที่เชิญมาร่วมคอนเสิร์ตเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว พอได้ดูก็ฟินไป

ส่วนคนที่ชอบมากจนทุกวันนี้คือปีเตอร์ มาร์ติน (Peter Martin) ที่ขึ้นเวที TIJC วันนี้ (31 ม.ค.) เป็นคนที่ผมชอบมากๆ เมื่อได้เขามาแสดง ก็กำลังจะฟินอีกเช่นกัน

– TIJC ปีที่แล้ว ได้แต่งเพลง”ชูขวัญถุง”ได้แรงบันดาลใจจากแมวที่เลี้ยงไว้

เป็นทาสแมว อยู่ในลัทธินี้มาจะ 20 ปีแล้ว (ยิ้ม) ตอนนี้มี 7 ตัว คือ ชูชก ขวาน ถุงเท้า ซ่า ดำ ทอง และเลิฟ

งาน TIJC 2015 ได้แต่งเพลง “ชูขวัญถุง” แรงบันดาลใจจากชูชก ขวาน ถุงเท้า เป็นแมวกัดกัน ปีนี้ TIJC 2016 แต่งเพลงเกี่ยวกับชีวิตของซ่า ดำ ทอง ชื่อเพลง “สามแม่ลูก” ซ่าเพิ่งมา เขาท้องมาแล้วคลอดที่บ้าน เหมือนได้แมวใหม่มา 3 ตัว เป็นเพลงแนวฟังสบาย สนุกๆ กุ๊กกิ๊ก น่ารัก เป็นสะวิง บีบ๊อบ สมัยใหม่นิดหน่อย มีโครงสร้าง ฮาร์โมนีซับซ้อน

การแต่งเพลงทุกรูปแบบ จะมีมุมที่สามารถแต่งได้ทั้งแบบยากและง่าย แจ๊ซก็เช่นกัน วิธีที่ผมใช้ในปัจจุบัน คือ ไม่ทำอะไรเลย เล่นขึ้นมาสดๆ บางครั้งการที่เราเล่นอะไรขึ้นมาสดๆ ทำให้ได้อะไรที่เป็นโครงสร้างแปลกๆ จะหาเครื่องบันทึกเสียง โทรศัพท์ หรือเปียโนไฟฟ้ากดปุ่มบันทึกไว้ ถ้าออกมาดูดีก็เขียนโน้ตแล้วหลอกให้เพื่อนๆ ในวงเล่น

– ความยากของการเล่นเปียโนแจ๊ซ

ดนตรีมีหลายมุม แจ๊ซมีมุมที่เราต้องเล่นสด (Improvise) ซึ่งนักดนตรีแนวอื่นเช่นคลาสสิกอาจจะบอกว่าดีจัง สามารถทำอะไรได้สดๆ ขณะเดียวกัน ในฐานะที่ผมเป็นนักดนตรีแจ๊ซ เมื่อดูนักเปียโนคลาสสิกก็จะตื่นเต้นว่าเขาใช้เทคนิคขั้นสูงมาก คนอื่นอาจจะมองว่าเล่นตามโน้ตที่เขียนไว้ แต่สิ่งที่เขียนไว้นั้นโคตรยากเลย

ดนตรีแต่ละประเภทจะมีมุมความยากง่ายที่ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นดนตรีแจ๊สจะยากในมุมของการสร้างสรรค์ ในเชิงเทคนิคการเล่นก็ไม่ได้ง่าย แต่ไม่ยากเท่าดนตรีคลาสสิก เพียงแต่ว่ามีมุมที่ต้องสร้างดนตรีสดๆ ซึ่งวัตถุดิบที่เล่นกันทุกวันนี้ก็ซับซ้อนขึ้น

– คนฟังมีส่วนต่อการพัฒนางานมากน้อยแค่ไหน

อันดับ 1 เลย ถ้าไม่มีคนฟัง ดนตรีก็ไม่รู้จะเล่นให้ใครฟัง โชคดีที่งาน TIJC ซึ่งจัดมา 8 ได้พิสูจน์ว่าคนฟังมีจริง ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ไม่ว่าดนตรีจะแนวสนุกสนานหรือแนวลึก จะตั้งใจฟังทุกเพลง บางทีแอบหันไปดูบรรยากาศผู้ฟัง จะเห็นสายตาจับจ้องไปที่เวที

– มองว่าตัวเองเป็นนักเปียโนที่ดีหรือยัง

มองว่าเป็นนักดนตรีที่สามารถทำมาหากินได้ มีข้อดี ข้อเสีย ผมเองเป็นคนที่ค่อนข้างมองเห็นข้อเสียของตัวเองหลายอย่าง ไม่ได้ประเมินตัวเองว่าดีมากมาย

สิ่งที่ผมเป็นอย่างทุกวันนี้ มีผลจากอะไรที่เป็นมาตั้งแต่เด็กๆ ค่อนข้างเยอะ เพราะไม่ผ่านการศึกษาดนตรีในระบบ ข้อมูลทางดนตรีจึงเข้ามาไม่เป็นระบบเท่าไหร่ ต้องใช้เวลาเก็บเล็กผสมน้อยมาเรื่อยๆ ถ้าไม่มีพฤติกรรมวัยเด็กลักษณะแบบนั้น วันนี้คงทำอาชีพอื่นไปแล้ว

เราเสพดนตรีได้ด้วยการเล่น การฟัง การคิด การนึก ไม่จำเป็นต้องอยู่กับเครื่องดนตรีตลอดเวลา อย่างเวลาขับรถก็ฟังเพลง หรือถ้าช่วงที่ไม่มีเพลงฟังก็นึกถึงเสียงนู่นนี่ นึกถึงเพลงต่างๆ แค่นี้ก็มีความสุขได้แล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image