นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำเพื่อดูแลประชาชนป้องกันการขาดแคลนน้ำในภูมิภาคช่วงฤดูแล้งทั่วประเทศตามข้อห่วงใยของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีเกษตรและสหกรณ์ โดยในส่วนภาคตะวันออกและพื้นที่โครงการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ที่มีความกังวล จากความต้องการน้ำใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดคือชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ประมาณ 540 ล้านบาศก์เมตร(ลบ.ม.) โดยเฉพาะจังหวัดระยอง และชลบุรี ซึ่งเป็นศูนย์รวมอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และสวนผลไม้ จะใช้น้ำประมาณ 430 ลบ.ม. แต่ปีนี้น้ำในอ่างเก็บน้ำในทั้ง 2 จังหวัด มีประมาณ 390 ล้านลบ.ม. เนื่องจากปริมาณฝนตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ย จึงต้องจัดหาปริมาณน้ำส่วนที่ขาดและสำรองเพื่อกรณีฝนทิ้งช่วงถึงเดือนกรกฎาคม กรมจึงได้บริหารน้ำผ่านโครงข่ายน้ำภาคตะวันออก ซึ่งยืนยันว่าจะมีน้ำอุปโภค- บริโภคเพียงพออย่างแน่นอน
“น้ำในภาคตะวันออกไม่ได้เหลือใช้ 80 กว่าวันอย่างที่มีการนำตัวเลขมาคำนวณกัน กรมคงไม่ปล่อยให้เป็นอย่างนั้น ทั้งหมดมีการบริหารจัดการ เช่น จะผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองประแกด จ.จันทบุรี ระหว่างวันที่ 1-25 มีนาคมนี้ มาเติมอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง ซึ่งเป็นอ่างหลักที่ใช้ในพื้นที่อีอีซี และได้มีการทำข้อตกลงระหว่างกรมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำลุ่มน้ำคลองวังโตนดแล้ว เนื่องจากเป็นการผันน้ำข้ามลุ่มตามกฎหมายใหม่ เป้าหมาย 10 ล้าน ลบ.ม. โดยอ่างคลองประแกดมีปริมาณน้ำ น้ำ 40 ล้านลบ.ม. แต่มีความต้องการใช้ในพื้นที่ประมาณ 15 ล้านลบ.ม. จึงไม่กระทบต่อพื้นที่ อย่างไรก็ตาม หากมีผลกระทบจะหยุดผันน้ำทันที และผันจากอ่างคลองหลวงรัชชโลธร 10 ล้านลบ.ม. มาเติมอ่างเก็บน้ำบางพระ ” นายทองเปลวกล่าว
นายทองเปลว กล่าวว่า นอกจากนี้จะขอความร่วมมือให้ภาคอุตสาหกรรม และการประปาทุกสาขา ลดการใช้น้ำลงกว่า 10% ในส่วนของบริษัท อีสวอเตอร์ ซึ่งเป็นเอกชนที่ผลิตน้ำป้อนภาคอุตสาหกรรมให้ปรับปรุงระบบจ่ายน้ำ และจัดหาแหล่งน้ำดิบสำรองประมาณ 20 ล้านลบ.ม. ปัจจุบันทุกภาคส่วนยังบริหารน้ำได้ตามแผน สำหรับน้ำในระบบประปา ได้มีการวางแผนขอจัดสรรน้ำในฤดูแล้ง 6 เดือน ไว้ 900 ล้านลบ.ม. สำหรับการประปานครหลวงและการประปาส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะประปาภูมิภาคทั้งหมด 234 สาขา 62% จะใช้น้ำจากกรมชลประทาน จึงต้องมีการบริหารจัดการอย่างเข้มงวด และได้ให้สำนักชลประทานทุกโครงการหารือกับการประปาส่วนภูมิภาคอย่างใกล้ชิดเพื่อให้มีน้ำดิบเพียงพอ และสำรองน้ำไว้ด้วย
นายทองเปลวกล่าวถึง การจัดสรรน้ำตามแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง 2562/63 ว่า มีแผนการจัดสรรน้ำทั่วประเทศ 17,699 ล้านลบ.ม. (1 พ.ย.62-30 เม.ย.63) จัดสรรแล้ว 10,996 ล้านลบ.ม. หรือ 62% ในลุ่มเจ้าพระยาแผนจัดสรร 4,500 ล้านลบ.ม. ปัจจุบันจัดสรรแล้ว 3,043 ล้านลบ.ม. หรือ 68% โดยปัจจุบันการบริหารจัดการยังเป็นไปตามแผน และกรมยังได้สำรองน้ำกรณีฝนทิ้งช่วงไว้ถึงเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อเป็นหลักประกันว่าคนไทยจะไม่ขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภคอย่างแน่นอน
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ยามาฮ่า เดินหน้าต่อเนื่องในโครงการยามาฮ่าร่วมใจ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม
- กมธ.กฎหมาย-มั่งคง ซักเดือด 2 จำเลย คดีตากใบ อยู่ตปท. รุมบี้ตร. ประสานอินเตอร์โพล ส่งตัวกลับ
- “สเปิร์มไม่เคลื่อนที่” สาเหตุหลักของภาวะมีบุตรยากในชาย
- น้ำท่วม กระทบท่องเที่ยวแม่แตง เสียหายนับ 100 ล. เร่งทำแผนขอเยียวยา รบ. พร้อมจับมือททท.ฟื้นฟู