สธ.แนะนำ “ผ้าสาลู” ทำหน้ากากอนามัย ป้องกันเชื้อไวรัสที่อนุภาคเล็กกว่า 5 ไมครอนได้

สธ.แนะนำ “ผ้าสาลู” ทำหน้ากากอนามัย ป้องกันเชื้อไวรัสที่อนุภาคเล็กกว่า 5 ไมครอนได้

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่10 พร้อมด้วย นพ.ณรงค์ อภิกุลวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวความคืบหน้าของสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019

นพ.บัญชา กล่าวว่า ขณะนี้ขอยืนยันว่าหน้ากากอนามัยเป็นเครื่องมือในการป้องกันโรคที่ดีที่สุด และถึงแม้จะมีนักวิชาการโต้แย้งกันว่าหน้ากากอนามัยแบบผ้าอาจจะไม่เหมาะในการป้องกันโรค แต่ฐานะของกรมอนามัยที่รับผิดชอบประชาชนที่แข็งแรงในการปฏิบัติตนให้มีสุขอนามัยที่ดี จึงได้วิเคราะห์สถานการณ์และยืนยันว่าหน้ากากอนามัยแบบผ้า เป็นทางเลือกของผู้ที่ไม่ป่วย โดยเอกสารของกรมอนามัยได้ระบุว่า หากเป็นผ้าที่มีคุณสมบัติของใยผ้าที่เล็ก ยิ่งนำไปซักก็จะยิ่งเล็กเนื่องจากมีใยออกมาระหว่างการซักมีขนาดเพียง 1 ไมครอน โดยไวรัสโคโรนา 2019 มีการแพร่เชื้อผ่านละอองฝอยขนาด 5 ไมครอน ดังนั้นใยผ้าเหล่านี้สามารถป้องกันได้ เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าใยสังเคราะห์ ผ้าใยสาลู โดยเบื้องต้นแนะนำให้ใช้ผ้าสาลู มีราคาตกเฉลี่ย 25 บาท/เมตร และให้ซื้อกระจายไปทั่วประเทศ เพื่อไม่ให้มีการขึ้นราคา ทั้งนี้เพื่อช่วยให้สังคมไทยผ่านวิกฤตนี้ไปได้ ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่เข้าสู่ระยะที่ 3 แต่จะต้องเตรียมตัวให้พร้อม กรมอนามัยจึงต้องสร้างความรอบรู้ของคนไทยทุกคนเพื่อช่วยกันกู้วิกฤตนี้ จึงอยากรณรงค์ให้คนไทยมีพฤติกรรมสุขภาพที่สำคัญคือ 1.ประชาชนทั่วไปที่ไม่ป่วย ไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยในพื้นที่ปกติและไม่มีความเสี่ยง โดยเน้นการลดการสัมผัสพื้นผิวต่างๆ ตามที่สาธารณะและให้หมั่นล้างมือบ่อยๆ เพื่อฆ่าเชื้อโรค ขอความร่วมมือผู้ประกอบการตั้งจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือให้แก่ประชาชน แต่สามารถใช้น้ำสบู่ล้างมือได้เช่นเดียวกัน 2.การรณรงค์คนไทยแข่งกันทำความดีประดิษฐ์หน้ากากอนามัยแบบผ้า ให้ครอบคลุมทั่วประเทศไทย โดยให้ทำหน้ากากอนามัยแบบผ้าคนละ 3 ผืน ให้ได้จำนวน 201,000,000 ชิ้น เพื่อแก้ไขปัญหาหน้ากากอนามัยทางแพทย์ที่เกิดภาวะการขาดแคลนใน รพ.และปัญหาการกักตุนสินค้าเพื่อโก่งราคา เนื่องจากหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ผลิตมีมีอายุ 1 ปีการใช้งาน หากไม่รีบนำมาขายก็จะหมดอายุได้

Advertisement

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

ด้าน นพ.สมฤกษ์ กล่าวว่า ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะเข้ามาพัฒนาเรื่องของมาตรฐานหน้ากากอนามัยแบบผ้าผ่านห้องปฏิบัติการเพื่อดูตรวจสอบประสิทธิภาพ เบื้องต้นของหน้ากากอนามัยทางการแพทย์จะตรวจสอบ 3 เกณฑ์หลักคือ 1.การคัดกรองอนุภาคขนาดใหญ่ โดยหน้ากากชนิดนี้คัดกรองได้ 3 ไมครอน 2.กรองอนุภาคขนาดเล็ก 0.1 ไมครอน เช่น เชื้อโรค เชื้อแบคทีเรีย 3.การกันน้ำ ดังนั้นทางกรมฯ จะช่วยศึกษาชนิดของผ้าว่ามีผ้าชนิดใดบ้างที่มีคุณสมบัติที่ตอบโจทย์และสอดคล้องกัน รวมไปถึงวิธีการเย็บให้มีลักษณะที่ครอบใบหน้าเพื่อป้องกันละอองที่จะเล็ดลอดเข้าทางด้านข้างของใบหน้า คาดว่า 1-2 สัปดาห์ จะทราบผลเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะทำหน้ากากอนามัยแบบผ้าอย่างไร ให้มีประสิทธิภาพและได้ผลในการป้องกันสูงสุด

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ในบางประเทศที่มีคำแนะนำว่าไม่ควรสวมใส่หน้ากากอนามัยหากไม่มีอาการป่วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมขององค์กรแต่ละประเทศที่ต่างกัน หากประเทศไทยมีการให้ใช้หน้ากากแบบผ้าก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด ไม่ใช่เรื่องที่ต้องไปอายใคร หากมีผู้ที่ใส่หน้ากากอนามัยป้องกันตัวเองก็ไม่ควรไปแบ่งแยกหรือรังเกียจกัน

Advertisement

เมื่อถามว่าในโรงพยาบาล(รพ.)บางแห่งที่มีการรายงานว่าขาดแคลนอุปกรณ์ จึงอยากให้ สธ.ชี้แจงข้อมูล นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สธ.เป็นแกนหลักในการดูแลงานสาธารณสุขของประเทศ ซึ่งในสถานการณ์ไม่ปกติเช่นนี้ ก็จะอาจจะมีการดำเนินงานที่ขรุขระ แต่ต้องขอน้อมรับไว้ทุกเรื่อง สธ.เองเป็นผู้ใช้ และอยู่ในช่วงของการเตรียมการ โดยในชุดข้อมูลจากทุกเขตสุขภาพในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ เช่น กรณีหน้ากากอนามัยใน 12 เขตสุขภาพสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ เขตที่มีต่ำสุดคือ 17,000 ชิ้น สูงสุด 1,500,000 ชิ้น รวมแล้วมีประมาณ 8,000,000 ชิ้น เป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการรพ. นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.) ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพ ต้องบริหารจัดการสำรองอุปกรณ์ในคลัง ในบางรพ.ที่มีเจ้าหน้าที่จำนวนน้อยแต่มีอุปกรณ์เยอะ ก็สามารถเกลี่ยไปยัง รพ.ที่มีความต้องใช้ได้ ทั้งนี้ข้อมูลการเพิ่มหน้ากากอนามัยทางการแพทย์จากกองบริหารสาธารณสุขโดยประสานร่วมกับองค์การเภสัชกรรม(อภ.) เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ – 3 มีนาคม เฉลี่ยต่อวันต่ำที่สุด 50,000 ชิ้ย สูงสุด 500,000 ชิ้น เมื่อวันที่ 3 มีนาคม เพิ่มเข้ามา 190,000 ชิ้น ซึ่งเป็นความพยายามหน่วยงานนอกกระทรวงฯ ที่ดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล อย่างไรก็ตามแต่ในบางสถานพยาบาลที่กล่าวว่าจะต้องปิดการบริการไปนั้นเพราะทรัพยากรไม่เพียงพอ ทาง สธ.ขอว่าอย่าเพิ่งปิดบริการ เนื่องจากทาง สธ.มีระบบการบริการจัดการอยู่ โดยจะต้องดำเนินการผ่านอำนาจตามแต่ละขั้นไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image